สสส. เสริมศักยภาพ 29 อปท. กลาง ใต้ เตรียมแผนรับมือและเฝ้าระวังโรคติดต่อโดยชุมชน แนะให้ท้องถิ่นใช้หลัก “6 ต.” เตรียมให้พร้อม-ตรวจให้พบ-เตือนให้สำเร็จ-ตีให้เร็ว-ตามให้หมด-ตกผลึกการเรียนรู้ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สน.3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดฝึกอบรมนักพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคติดต่อชุมชนท้องถิ่น (ครั้งที่ 1) ณ ห้องเดอะพอร์ทอล บอลรูม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพคเมืองทองธานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถชุมชนท้องถิ่นในการเฝ้าระวังโรคติดต่อ พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจและทบทวนแนวทางการบริหารเครือข่าย ตลอดจนจัดทำแผนปฏิบัติการโครงการ และลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กำหนดเป้าหมายในการทำงานร่วมกันของเครือข่ายการควบคุมโรคติดต่อโดยชุมชนท้องถิ่น โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พื้นที่ภาคกลางและภาคใต้ เข้าร่วมอบรมทั้งหมด 29 แห่ง
ภายในงาน นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กรรมการบริหารแผนคณะที่ 3 แผนสุขภาวะชุมชน สสส. ได้บรรยายถึงภารกิจท้องถิ่นกับการควบคุมป้องกันภัยพิบัติและโรคติดต่อในชุมชน ว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นองค์กรที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุดและมีบทบาทสำคัญในการจัดทำบริการสาธารณะที่ดีแก่ประชาชน ซึ่งเห็นตัวอย่างได้จากการรับมือการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ที่ท้องถิ่นสามารถปฏิบัติการรับมือและป้องกันได้อย่างทันท่วงที
นพ.พิศิษฐ์ กล่าวต่อไปว่า การรับมือภัยพิบัติโดยใช้ชุมชนเป็นฐานต้องเริ่มต้นที่การป้องกัน ดูแลช่วยเหลือกันเองภายในชุมชน คนในชุมชนต้องร่วมคิด วิเคราะห์ความเสี่ยงภัยในชุมชน พร้อมทั้งทำแผนที่เสี่ยงภัย จากนั้นร่วมกันกำหนดขั้นตอนการดำเนินงาน ตั้งแต่การเฝ้าระวัง การแบ่งหน้าที่บุคลากรในชุมชน และการทำแผนปฏิบัติการ เพื่อร่วมกันดูแล เฝ้าระวัง ป้องกัน หลีกเลี่ยง และลดความรุนแรงของภัย หรือเมื่อเกิดโรคระบาดหรือภัยพิบัติต่างๆ สามารถนำ หลัก 6 ต. มาประยุกต์ใช้ ซึ่งประกอบไปด้วย เตรียมให้พร้อม ตรวจให้พบ เตือนให้สำเร็จ ตีให้เร็ว ตามให้หมด และตกผลึกการเรียนรู้
นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ
“การจัดการภัยพิบัตินั้น เมื่อเรามีการวิเคราะห์ข้อมูล มีแผนท้องถิ่น มีทรัพยากร มีงบประมาณ มีแผนการทำงาน การนำหลัก 6ต.มาประยุกต์ใช้จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น ต.แรก คือ
ต้องเตรียมคนให้พร้อมทุกเรื่อง ทั้งคนเงิน สิ่งของ เหมือนไปรบ ต้องดูรอบด้าน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญ ไม่ต่างจากการที่ทุกคนมารวมตัวกันวันนี้ คือ ต.ที่ 6 คือการตกผลึก ทบทวน ปรับปรุง เพราะการตกผลึกเรียนรู้ นำไปสู่การทำแผนใหม่ที่ดีและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” กรรมการบริหารแผนคณะที่ 3 แผนสุขภาวะชุมชน สสส. กล่าว
ด้าน นายธนา ยันตรโกวิท อดีตรองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และประธานกรรมการกำกับทิศทางของแผนสุขภาวะชุมชน พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวถึง กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการควบคุมโรคติดต่อ และบทบาทชุมชนท้องถิ่นว่า มีกฎหมายที่กำหนดบทบาทและอำนาจหน้าที่ ให้ท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการควบคุมโรคติดต่อ อาทิ ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 กำหนดไว้ใน มาตรา 55 ว่า รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง เสริมสร้างให้ประชาชนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค และตาม มาตรา 250 กำหนดให้ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)มีหน้าที่ และอำนาจดูแลและจัดทำบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นตามหลักการ พัฒนาอย่างยั่งยืน
นายธนา ยันตรโกวิท
อย่างไรก็ตามการอบรมนักพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคติดต่อชุมชนท้องถิ่น (ครั้งที่ 1) จะจัดเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 4วัน ซึ่งผู้เข้าร่วมอบรมจะได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และทบทวนข้อมูลพื้นที่นำเสนอแผนปฏิบัติการ และ Timeline การควบคุมโรคติดต่อโดยชุมชนท้องถิ่น โดยมี นายสมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่, น.ส.ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโสกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก3), รศ.ดร.ขนิษฐา นันทบุตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน(ศวช.)คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ผศ.ดร.พีรพงษ์ บุญสวัสดิ์กุลชัย รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน(ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้ให้ข้อเสนอแนะ
#ชุมชนท้องถิ่นรู้รับปรับตัว
#เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่
#ชุมชนเข้มแข็ง
#สสส