ใกล้สังคมสูงวัยปี๒๕๖๐ มีผู้สูงอายุ ๑๑ ล้านคน

เครือข่ายร่วมสร้างชุมชมท้องถิ่นน่าอยู่กับการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน สำรวจพบข้อมูลผู้สูงอายุในชุมชนอายุ ผู้สูงอายุ ๖๐-๖๙ ปี มากที่สุด ร้อยละ ๕๕ ขณะที่กรมกิจการผู้สูงอายุพบ ปี๒๕๖๐ มีผู้สูงอายุ ๑๑ ล้านคน

นางสาวดวงพร  เฮงบุณยพันธ์  ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส.  กล่าวถึง  รายงานการขับเคลื่อน “เครือข่ายร่วมสร้างชุมชมท้องถิ่นน่าอยู่กับการสร้างเสริมสุขภาวะชุมชน” ว่า จากข้อมูลในการทำงาน สร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ของเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ๒,๗๐๕ แห่ง มีประชากรในเครือข่าย ๘.๕ ล้านคน  หรือคิดเป็นจำนวนครัวเรือนจำนวน ๒.๗ ล้านครัวเรือน ผลการสำรวจสถานะชุมชน จากการทำงานของกลไกเครือข่ายในพื้นที พบว่า มีผู้สูงอายุ ๖๐-๖๙ ปี มากที่สุด ร้อยละ ๕๕ ซึ่งในกลุ่มนี้ หากมีการเตรียมพร้อมที่ดีก็สามารถเปลี่ยนภาระเป็นพลังได้

โดยเฉพาะผู้สูงอายุติดสังคมที่มีถึงร้อยละ ๘๔ ถือเป็นทุน ศักยภาพ โอกาส ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ เพราะเป็นกลุ่มที่มีสุขภาพแข็งแรง และยิ่งติดสังคมก็จะช่วยให้อายุยืน มีความสุข นอกจากนี้พบว่า มีผู้สูงอายุที่อยู่กับครอบครัว ร้อยละ ๔๗  ผู้สูงอายุที่อาศัยเพียงคนเดียวร้อยละ ๒๒.๗๒ ผู้สูงอายุที่อยู่กับกับเด็กร้อยละ ๑๗.๓๑  ผู้สูงอายุที่อยู่ด้วยกันลำพัง ร้อยละ ๑๒.๙๕ ซึ่งในปีนี้ สสส.และเครือข่ายฯจะพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุให้เห็นผลเป็นรูปธรรม

นางธนาภรณ์  พรมสุวรรณ  อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวง พม. กล่าว ว่า ปี2560 มีผู้สูงอายุสูงถึง11ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยติดเตียง1.5% และเป็นผู้ที่ช่วยเหลือตัวเองได้เล็กน้อยประมาณ2ล้านกว่าคน ขณะที่ผู้สูงอายุ 8 ล้านคนเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ทั้งนี้จากการสำรวจทั่วประเทศ พบว่า ขณะนี้มีผู้สูงอายุเกิน100ปี จำนวน 300 คน และคาดการณ์ว่าในปี2574จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ คือจะมีผู้สูงอายุมากถึง 28% ของจำนวนประชากร สำหรับสิ่งที่จะทำให้ผู้สูงอายุมีความสุขได้คือ การไม่มีโรค มีกิจกรรมทำ ซึ่งทางกรมได้สนองนโยบายภาครัฐด้วยการส่งเสริมการจ้างงานและกองทุนเงินออมแห่งชาติให้กับผู้สูงอายุด้วย

“ผู้สูงอายุจะมีความสุขได้ จะต้องมี่สุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ด้วยการเริ่มรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดหวาน มัน เค็ม ส่วนเรื่องการออมนั้นควรเริ่มตั้งแต่วัยทำงาน และกระทรวงแรงงานกำลังผลักดันแก้ไข กฎหมายการจ้างงานผู้สูงอายุให้เป็นการจ้างงานแบบรายชั่วโมง เพื่อให้เหมาะสมกับวัยของผู้สูงอายุ” นางธนาภรณ์ กล่าว