สองระบบแบบเข้ม เวียงสุวรรณวิทยาคม

DSC_0539

แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นโรงเรียนมัธยมประจำอำเภอ แต่ครั้งหนึ่งความนิยมในโรงเรียนเวียงสุวรรณวิทยาคมลดลง จนเป็นรองโรงเรียนเอกชนในพื้นที่ ปัจจัยสำคัญเลยเพราะโรงเรียนแห่งนี้ไม่ได้เน้นสอนเรื่องศาสนาอิสลามเท่าใดนัก จึงเป็นเหตุผลให้โรงเรียนแห่งนี้ต้องปฏิรูปเป็นการใหญ่

นิรัตน์ นราฤทธิพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเวียงสุวรรณวิทยาคม เล่าว่าในปี 2546 โรงเรียนเข้าสู่การเป็นโรงเรียน 2 ระบบ ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมอย่างหนึ่งที่ทางสำนักงานคณะกรรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ต้องการเรียนเรื่องศาสนาควบคู่ไปกับวิชาสามัญ ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา

“โรงเรียนของรัฐใน 3 จังหวัดภาคใต้ มีจำนวนผู้เรียนลดลงเกือบทุกโรงเรียน ยกเว้นโรงเรียนประจำจังหวัด อย่างที่นี่เหลือเด็ก 300 คน จากเดิม 800 คน ภายใน 2-3 ปี เพราะโรงเรียนเอกชนเริ่มได้รับความนิยม โดยเฉพาะเมื่อเขาพัฒนาหลักสูตรของสามัญให้ดี ซึ่งตอบรับกับความต้องการของผู้ปกครองที่เชื่อว่าเมื่อลูกมีศาสนาอยู่ในใจ จะส่งผลต่อวิชาเรียนสายสามัญ เพราะวิชาศาสนาเป็นการหล่อหลอมวิธีคิด มีศาสนาก็สามารถเรียนวิชาอะไรก็ได้ สพฐ.จึงต้องปรับตัว จึงถามมายังโรงเรียนสายสามัญว่า โรงเรียนไหนพร้อมจะเปิดสอนหลักสูตรอิสลามแบบเข้ม ซึ่งที่นี่เริ่มนำร่องเป็นที่แรกในพื้นที่” ผู้อำนวยการโรงเรียนเวียงสุวรรณวิทยาคมเล่า

โดยหลักสูตรของศาสนาที่มาเพิ่มเติมนั้น ประกอบไปด้วย 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ กับ 1 กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน และยังมีการวัดผลประเมินผล และการประเมินระดับชาติที่เรียกว่า I-Net

การเรียนแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ อิสลามศึกษาตอนต้น (อิบตีดาอียะฮฺ) เทียบได้กับชั้น ป.1-6 อิสลามศึกษาตอนกลาง (มูตะวัซซีเฏาะฮฺ) เทียบได้กับ ม.1-3 และอิสลามศึกษาตอนปลาย (ซานาวียะห์) เทียบได้กับ ม.4-6 ซึ่งบางคนเคยผ่านระดับต้นมาแล้วในชั้นประถมศึกษา บางคนยังไม่เคย เพราะฉะนั้นโรงเรียนต้องจัดสอบวัดความรู้สำหรับเด็กที่ยังไม่มีใบประกาศนียบัตรจากโรงเรียนตาดีกา เพราะฉะนั้นเด็กคนหนึ่งอาจจะเรียนสายสามัญคนละชั้นกับสายศาสนา เช่น สายสามัญอยู่ ม.1 แต่ต้องเรียนศาสนาระดับ ป.1

ทาง สพฐ.ส่งครูมาให้ทั้งหมด 13 คน แต่ทางผู้อำนวยการได้พิจารณาเห็นว่าไม่เพียงพอ เลยทำการเปิดรับข้าราชการที่จบสายสังคมศึกษามาสอนศาสนา 3 คน และจ้างเหมาเป็นลูกจ้างประจำอีก 5 คน รวมทั้งสิ้นมี 21 คน โดยมีชั่วโมงเรียนหลักสูตรอิสลาม 10 ชั่วโมงต่อ สัปดาห์ คาบละ 45 นาที ที่โรงเรียนเวียงสุวรรณฯ จึงออกแบบการสอนเป็นช่วงเช้าเรียนสายสามัญอย่างเดียว 5 คาบ ตั้งแต่ 8.00-12.30 น. เพื่อให้สอดคล้องกับเวลาละหมาด ส่วนช่วงบ่ายเรียนศาสนาอย่างเดียว 3 คาบ ตั้งแต่ 13.30-16.00 นาฬิกา ยกเว้นวันศุกร์ที่ไม่มีเรียนศาสนา โดยมีห้องเรียนสามัญ 25 ห้อง และห้องเรียนศาสนา 20 ห้อง

“หลังจากเปลี่ยนระบบ เด็กเข้ามาเรียนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี ปีละ 100 คน อย่างปี 2558 เรามีเด็ก 910 คนแล้ว” ผอ.นิรัตน์บอกอย่างภูมิใจ

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับโรงเรียน โดยเป็นกิจกรรมทายาทตาดีกา ด้วยการนำนักเรียนที่เรียนตอนกลางไปสอนเด็กที่ศูนย์ตาดีกา แล้วยังมีโครงการคุตบะห์สัญจร เราส่งเด็กไปฝึกอ่านคุตบะห์ ทุกบ่ายวันศุกร์ที่มัสยิด นอกจากนี้ เด็กชั้น ม.6 ที่กำลังจบออกไป จะได้รับการอบรมเตรียมความพร้อมก่อนแต่งงาน เพราะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ใครจะแต่งงานต้องมีใบประกาศจากกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ซึ่งถ้าปล่อยไปถึงระดับมหาวิทยาลัย โอกาสที่จะได้ใบนี้จะยากขึ้น

อย่างไรก็ดี ถ้าเทียบมาตรฐานกับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา ผู้อำนวยการยอมรับตามตรงว่ายังไม่เท่า เพราะเวลาเรียนน้อยกว่า แต่สามารถเทียบเคียงได้ สามารถไปเรียนต่อด้านศาสนาที่ต่างประเทศได้ เพราะโรงเรียนมีวุฒิบัตรให้ ขณะเดียวกันในส่วนการศึกษาสายสามัญผู้อำนวยการเชื่อว่าโรงเรียนเวียงสุวรรณฯ มีความพร้อมกว่าโรงเรียนเอกชนมาก ยืนยันได้จากการที่เด็กทุกคนที่เรียนจบ ม.6 สามารถเข้ามหาวิทยาลัยได้ รวมไปถึงได้รับรางวัลด้านวิชาการระดับประเทศอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญยังได้รับรองมาตรฐานจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน)

นอกจากเรื่องการศึกษา 2 ระบบแล้ว ที่นี่ยังมีจุดเด่นที่สำคัญ คือศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ส่วน คือภาคทฤษฎี มีการแทรกเนื้อหาเรื่อง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข บูรณาการลงไปในทุกสาระการเรียนรู้ ส่วนภาคปฏิบัติที่นี่จะมีชุมชนการเกษตร ซึ่งเปิดโอกาสให้เด็กได้ฝึกกิจกรรมอย่างการเลี้ยงเป็ด เลี้ยงปลา เลี้ยงแพะ เพาะเห็ด ทำปุ๋ย ปลูกผัก ฯลฯ

“เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงนี้ จะเข้ากับรูปแบบการสอนของเรา โดยระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จะมีห้องเรียนอาชีพ ทุกคนต้องเรียนหมด พอชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เรามีแผนการเรียนพิเศษชื่อ ‘พลศึกษา-การงาน’ ซึ่งจะมุ่งไปที่เด็กที่ไม่ค่อยสนใจเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา กลุ่มนี้ถ้าได้เล่นได้ทำงานเขาชอบ แต่ถ้าให้เรียนเขาไม่ชอบ เหมือนเด็กห้องท้ายๆ คือเป็นอีกสายหนึ่ง พอถึงคาบอาชีพก็จะสอนหมดตั้งแต่ช่างยันเกษตร แล้วก็พ่วงเศรษฐกิจพอเพียงไปด้วย” ผู้อำนวยการกล่าวทิ้งท้าย…