ชมรมปั่น 3 ส.

DSC_0663

สุขภาพ สิ่งแวดล้อม สร้างความสุข คือ 3 ปณิธานที่ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพ อำเภอรือเสาะมุ่งมั่นตั้งใจจะทำให้ได้

อาลียะ เจ๊ะนา ผู้ก่อตั้งชมรมนี้เล่าให้ฟังว่า ความจริงการปั่นจักรยานเป็นวิถีชีวิตของผู้คนที่นี่มานานมากแล้ว โดยในเขตเทศบาลเองเคยมีชมรมปั่นจักรยานเล็กๆ ชื่อ ‘ตำมะหงัน’ ซึ่งเป็นชื่อดั้งเดิมของอำเภอรือเสาะ ตั้งมาตั้งแต่ปี 2552 มีสมาชิกเริ่มแรก 11 คน รวมตัวกันทุกวัน ตั้งแต่ 5-6 โมงเย็นก่อนเข้ามัสยิด ปั่นกันอยู่ในเขตเทศบาล ระยะทาง 10 กิโลเมตร พอปั่นนานๆ เข้าก็เกิดการชักชวนปากต่อปาก สมาชิกจึงเริ่มเพิ่ม จนไม่ได้มีเฉพาะในเขตเทศบาลอย่างเดียว แต่ได้ขยายถึงระดับอำเภอ เกิดเป็นชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพ อำเภอรือเสาะ

“ก่อนที่จะมีการรวมตัวระดับอำเภอ หลายพื้นที่เชิญเราไปพูดเรื่องการปั่นจักรยานมีข้อดีอะไร ซึ่งเราพูดไปตามประสบการณ์ เราปั่นแล้วชีวิตเปลี่ยนหลายเรื่อง สุขภาพเริ่มดีขึ้น มี เพื่อนฝูงเพิ่ม มีกลุ่มที่มีพลังทางสังคม” อาลียะว่า

กระทั่งเวลานี้มีผู้ร่วมอุดมการณ์ประมาณ 400 ชีวิต โดยทุกเช้าวันศุกร์ เวลา 6.00 น. สมาชิกชมรมจะไปรวมตัวที่สวนกาญจนาภิเษก เพื่อร่วมพูดคุย ดื่มกาแฟ ปรึกษาหารือ รวมถึงกำหนดเส้นทางที่จะปั่นในวันนั้นและวันต่อไป โดยสมาชิกแต่ละคนสามารถเสนอเส้นทางได้

“โต๊ะอิหม่ามก็มาปั่นด้วย ที่สำคัญเรามีนายกเทศมนตรีตำบลรือเสาะมาสนับสนุน ทั้งเรื่องสถานที่ เรื่องเส้นทาง โดยเขาจะไปคุยกับทางตำรวจเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้” ผู้ก่อตั้งชมรม เสริม

มะตอสา สะมะยีตา ประธานชมรมคนปัจจุบัน และ อัมนุง เซะ เลขานุการชมรม เสริมว่า ช่วงวันสำคัญอย่างวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทางจังหวัดนราธิวาสจะจัดงานปั่นจักรยานเฉลิมพระเกียรติเป็นประจำทุกปี ซึ่งทางชมรมฯ ก็ไปร่วมงานอยู่เสมอ หรือช่วงวันเด็กจะมีสาธิตการปั่นให้แก่เด็กได้ชมว่า การปั่นที่ถูกวิธีเป็นอย่างไร

แต่ที่ถือว่าเป็นกิจกรรมที่โดดเด่นที่สุด เกิดขึ้นเมื่อ 2554 โดยตอนนั้นทางชมรมร่วมกับโครงการ Hand in Hand โครงการอุตสาหกรรมเพื่อการสร้างงานที่ยั่งยืนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นำร่องพื้นที่อำเภอรือเสาะ จัดกิจกรรมพิชิตยอดเขายือลาแป ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีผู้ร่วมปั่นมากถึง 1,600 คน จาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

“ตอนนั้นทางโครงการเขาอยากส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน และส่งเสริมการประหยัดพลังงาน เลยเข้ามาพูดคุยกับชมรมให้ร่วมจัดกิจรรมด้วยกันสักครั้ง ซึ่งช่วงนั้น เส้นทางยือลาแปเป็นถนนเพิ่งสร้างเสร็จ และเราเห็นพ้องกันว่าน่าจะขอถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพฯ ซึ่งพระองค์ทรงให้ความกรุณามา โดยตอนนั้นเราปั่นรวมระยะทาง 80 กิโลเมตร ปั่นไปทางยี่งอแล้วตรงไปออกตะโละหะลอ ซึ่งน่าตื่นเต้น เพราะเส้นทางชันมาก หลายคนยังต้องเข็นเอา” มะตอลากล่าว

ในปี 2557 ยังมีการปั่นการกุศลตาดีกาสัมพันธ์ เพื่อช่วยหาเงินบำรุงมัสยิดอัลฮีดายะห์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของชมรมจักรยานฯ โดยนักปั่นเข้าร่วมฟรี แต่ในงานจะมีการจำหน่ายเสื้อ รวมถึงการรับบริจาค ซึ่งเงินที่ได้ก็นำมาบูรณะห้องน้ำของมัสยิด ที่ล่าสุดเพิ่งได้รับรางวัลสุดยอดส้วมระดับจังหวัด ประเภทศาสนสถานมา

“ปั่นแล้วได้สุขภาพ ได้ส้วมด้วย” ใครคนหนึ่งพูดติดตลก…