“5อ.” ไม่ต้องรอความช่วยเหลือ …ชุมชนเข้มแข็งได้ ด้วยสองมือของผู้สูงวัย

“5อ.” ไม่ต้องรอความช่วยเหลือ …ชุมชนเข้มแข็งได้ ด้วยสองมือของผู้สูงวัย
.
อีกเพียงไม่กี่ปี ประเทศไทยของเราก็จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ การพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนท้องถิ่น จึงเป็นสิ่งที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะผู้สูงวัยเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์สั่งสมมาอย่างยาวนาน ทั้งยังเป็นกำลังสำคัญของชุมชนที่ไม่อาจขาดไปได้
.
การพัฒนาศักยภาพของชุมชนให้สามารถดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม เศรษฐกิจ สุขภาพ หรือคุณภาพชีวิต จึงถูกนำมากำหนดเป็นกลยุทธ์ “5อ. 5ก.” แนวทางสำคัญที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้สูงอายุในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไปพร้อม ๆ กับสุขภาพที่ยืนยาว
.
โดยในวันนี้ทางเพจสุขภาวะชุมชน จะขอนำเอาหลักวิธีของ “5อ.” มาบอกเล่าให้รู้จักกัน!
.
#สูงวัยสร้างเมือง
#เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่
#ชุมชนเข้มแข็ง
#สสส

1. อาชีพของผู้สูงอายุ
.
สร้างโรงเรียนฝึกอาชีพของผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้ประกอบอาชีพตามความถนัดหรือความเชี่ยวชาญของตน สามารถผลิตของใช้เองเพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้ สนับสนุนให้เกิดการคัดแยกขยะ นำไปรีไซเคิล แล้วนำไปผลิตเป็นสิ่งของ เครื่องใช้ หรือนำขยะมาเป็นทุนตั้งกองบุญเพื่อผู้สูงอายุต่อไป
.
ส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวในชุมชน เพื่อให้กลุ่มผู้สูงวัยได้รวมกลุ่มกันสร้างงาน สร้างรายได้ จนสามารถพึ่งพาตนเองได้ภายใต้การสนับสนุนของชุมชน

2. อาหารสำหรับผู้สูงอายุ
.
ผู้สูงอายุจะต้องสามารถปลูกพืชผักสวนครัวและสมุนไพร เพื่อปรุงอาหารสุขภาพกินในครอบครัวได้ มีสมุนไพรรักษาโรคใช้ จะแบ่งปันหรือขายก็สามารถทำได้ ส่งเสริมให้มีการแปรรูปและถนอมอาหารเพื่อสุขภาพ ดึงเยาวชนรุ่นใหม่มาเรียนรู้การทำอาหารสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม
.
ฝึกอบรมการใช้สมุนไพรรักษาโรค สร้างวัฒนธรรมแบ่งปันในชุมชน สนับสนุนการปลูกพืช ผัก ผลไม้ ในพื้นที่สาธารณะของชุมชน แล้วนำผลผลิตที่ได้ไปแจกจ่ายให้กับผู้ที่ยากไร้

3. ออกกำลังกายอย่างผู้สูงอายุ
.
ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุออกกำลังกายทุกวันทั้งในบ้าน และรวมกลุ่มกันในชุมชน ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการออกกำลังกาย มีการผลิตอุปกรณ์ออกกำลังกายสำหรับตนเอง สำหรับเพื่อนบ้าน และสำหรับจัดจำหน่าย สร้างบุคคลต้นแบบในด้านการออกกำลังกาย พร้อมส่งเสริมให้มีการออกกำลังกายในทุกกิจกรรมและเทศกาลของชุมชน
.
จัดสร้างลานกีฬา และอุปกรณ์ออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ จัดสร้างหลักสูตรพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ ให้ออกกำลังกายอย่างถูกต้อง เหมาะสมกับภาวะสุขภาพของตนในโรงเรียนผู้สูงอายุ

4. ออมเงินเพื่อผู้สูงอายุ
.
กระตุ้นให้ผู้สูงอายุออมเงินร่วมกับกลุ่มหรือกองทุนในชุมชน เพื่อจะได้รับสวัสดิการจากกลุ่มและกองทุนอย่างพอเพียง จัดระบบให้ผู้สูงอายุที่มีจิตอาสาได้มีโอกาสในการ “ออมความดี” เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับชุมชนและมีผลตอบแทนจากการทำความดี ส่งเสริมให้ผู้สูงวัยทำบัญชีครัวเรือน และร่วมสมทบกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุคนอื่นได้

5. อาสาสมัครสร้างเมือง
.
ชักชวนให้ผู้สูงอายุทำงานอาสาในกลุ่มของตนเอง เช่น การร่วมกันซ่อมแซมบ้านและปรับสิ่งแวดล้อมให้เพื่อนหรือผู้ยากไร้ในชุมชน ทำความสะอาดพื้นที่สาธารณะและศาสนสถาน รณรงค์จัดการขยะชุมชน ลงพื้นที่เยี่ยมเยือนเพื่อนผู้สูงอายุในชุมชน
.
ฝึกทักษะการดูแลตนเองและผู้อื่นให้แก่ผู้สูงอายุ จนสามารถถ่ายทอดประสบการณ์ต่อให้คนในชุมชนได้ สนับสนุนให้ผู้เตรียมเข้าสู่วัยสูงอายุเป็นอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ เพื่อให้เข้าใจสภาพและปัญหาของผู้สูงอายุ จัดตั้งเครือข่ายการดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุที่เจ็บป่วย ทุกข์ยาก ไร้ที่อยู่ ถูกกระทำรุนแรง และสนับสนุนให้มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับผู้ดูแลในครัวเรือนที่มีผู้ป่วย หรือผู้สูงอายุติดเตียง ในด้านการจัดการความเครียด และการขอแรงสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง