7 สังคม มหาวิชชาลัยปริก เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

7 สังคม มหาวิชชาลัยปริก เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
.
เทศบาลตำบลปริกมีแนวคิดเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน การพัฒนาทุกอย่างต้องตอบสนองต่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน และการพัฒนานั้นต้องมาจากประชาชนเอง เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งของประชาชนและสังคม เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
.
1. สังคมคนดี เรียนรู้เรื่องศาสนาจากนโยบายการพัฒนาการศึกษา ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษา ให้เด็ก เยาวชน และประชาชนได้มีโอกาสเรียนฟรี ทุกคนสามารถส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนเทศบาลได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับศาสนศึกษา ให้ประชาชนดำเนินชีวิตตามหลักศาสนาที่ตนเองมีความเชื่อและนับถือ ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรวิถีพุทธ หรือหลักสูตรอิสลามศึกษา
.
2. สังคมสันติสุข คนในสังคมมีความเอื้ออาทรต่อกัน ร่วมแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในชุมชน ดูแลซึ่งกันและกัน เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง หากมีความขัดแย้งเกิดขึ้นบ้างในชุมชนหรือครัวเรือน จะมีองค์กรที่ประกอบด้วยผู้นำชุมชน ผู้นำทางศาสนา ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น หน่วยงานของรัฐ ช่วยกันในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทผ่านศูนย์ยุติธรรมชุมชนเทศบาลตำบลปริก ทำให้สังคมอยู่ด้วยกันแบบสันติสุข
.
3. สังคมสวัสดิการ นำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนา ควบคู่กับการจัดสวัสดิการชุมชน เร่งส่งเสริมให้ความรู้ด้านการเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิต และยกระดับรายได้ของประชาชน เร่งส่งเสริมให้ประชาชนมีการรวมตัวเป็นกลุ่มอาชีพ มีแหล่งเงินทุน และกองทุนต่าง ๆ มุ่งสู่การพึ่งพาตนเองในที่สุด
.
4. สังคมรักษ์โลก ใช้หลักคิดการจัดการทรัพยากร สร้างจิตสำนึกสาธารณะในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะการจัดการขยะแบบมีส่วนร่วม ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง มีการจัดการขยะฐานศูนย์ และหนุนเสริมให้มีครัวเรือนจัดการขยะด้วยตนเองเพิ่มขึ้น ต่อยอดการพัฒนาเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานแก๊สชีวภาพ และค้นหาพลังงานทางเลือกในระดับชุมชน
.
5. สังคมเอื้ออาทร มีการจัดการสุขภาวะชุมชนแบบองค์รวมให้ประชาชนตื่นตัวต่อการจัดการสุขภาวะ คนในชุมชนมีการช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกัน อยู่ร่วมกันแบบเครือญาติ มีหน่วยงานทำหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน มีระบบฐานข้อมูลด้านสุขภาพสำหรับนำไปใช้คิดกิจกรรมการดูแลสุขภาพชุมชนให้สอดคล้องกับสภาพความจริง และมีการปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน
.
6. สังคมปรับตัว ภูมิประเทศของเทศบาลตำบลปริกส่วนใหญ่เป็นที่ราบ มีลำคลองไหลผ่าน ในฤดูฝนจะมีน้ำไหลหลากและท่วมขังเป็นประจำทุกปี เทศบาลจึงต้องเตรียมพร้อมรับมือด้วยการส่งเสริมให้คนในชุมชนเรียนรู้วิธีจัดการภัยพิบัติ จัดทำแผนป้องกัน ทำข้อมูลพื้นที่เสี่ยง ฝึกอบรมอาสาสมัครป้องกันภัย จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย สร้างภูมิคุ้มกันปรับตัวเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เพื่อความปลอดภัยของคนในชุมชน
.
7. สังคมไม่เดือดร้อน พัฒนาระบบสวัสดิการชุมชน ให้ประชาชนหันมาทำเกษตรแบบผสมผสาน ใช้ปุ๋ยอินทรีย์และน้ำหมักชีวภาพ แทนการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมี และยาฆ่าแมลง เน้นลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ทำเองใช้เอง แบ่งปันเพื่อนบ้าน เหลือแล้วจึงจำหน่าย ทำสวนร่วมกับการประกอบอาชีพเสริม รวมกลุ่มผลิตของกินของใช้ ตามความถนัด และทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน
.
#เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่
#ชุมชนเข้มแข็ง
#สสส