“ป่าภูพานน้อย” ต้นแบบของการผูกป่าไว้ … กับใจชุมชน

“ป่าภูพานน้อย” ต้นแบบของการผูกป่าไว้ … กับใจชุมชน
.
“ป่าภูพานน้อย” คือแหล่งการเรียนรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ต้นน้ำ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลพิมาน อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม สถานที่แห่งนี้เกิดขึ้นจากนโยบายการป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า และสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์ป่า โดยใช้กลยุทธ์ “เชื่อมคนเข้ากับผืนป่า”
.
และนี่ก็คือเรื่องราวการเดินทางของชาวพิมาน สู่การอนุรักษ์ ดูแลผืนป่าในตามวิถีชุมชน
.
#เครือข่ายลดโลกร้อน
#อัตถจริยา
#เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่
#ชุมชนเข้มแข็ง
#สสส

ตำบลพิมาน มีพื้นที่รวม 28,526 ไร่ โดยเป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีประชากรรวม 6,249 คน ผู้คนส่วนมากจะประกอบอาชีพทำการเกษตร และเลี้ยงสัตว์เป็นหลัก
.
โดยในปี 2555 อบต.พิมาน ได้เข้าร่วมกับศูนย์จัดการเครือข่ายตำบลสุขภาวะ สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สสส.สำนัก 3) เพื่อพัฒนาแหล่งเรียนรู้ป่าชุมชนทั้ง 3 แห่ง ซึ่งประกอบด้วย ป่าภูพานน้อย, ป่าดอนนายาง และป่าบ้านปากบัง ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของตำบล ในการดูแลรักษาป่าชุมชน โดยคนในชุมชน

‘สุราช จำปา’ หัวหน้าสำนักปลัด อบต.พิมาน อ.นาแก จ.นครพนม ที่ตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติและป่าไม้มาตลอด อยากเริ่มกลไกการดูแลรักษาป่าแบบใหม่ ที่เปิดโอกาสให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ป่าไม้
.
อบต. จึงเปลี่ยนแปลงระบบในชุมชน และเสริมเติมกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้คนในชุมชนได้ขยับเข้าใกล้และผูกพันกับผืนป่ามากขึ้น โดยกิจกรรมหลัก ๆ ที่เพิ่มขึ้นมา ก็จะมี ‘การท่องเที่ยวโดยชุมชน’ ที่จะทำให้คนในชุมชนมีรายได้จากป่า และทำให้คนในชุมชนสนใจที่จะอนุรักษ์ความอุดมสมบูรณ์ของป่ามากขึ้น
.
‘การเดินป่าศึกษาธรรมชาติ’ ที่จะทำให้คนในพื้นที่ได้รู้จักป่าของตนมากขึ้น ได้รู้ว่าผืนป่าแห่งนี้มีพรรณไม้อะไร มีพันธุ์สัตว์อะไร มีระบบนิเวศเป็นอย่างไร และชุมชนจะสามารถดูแลป่าแห่งนี้ด้วยวิธีไหนได้บ้าง
.
แต่หากอยากปลูกฝังสำนึกรักป่าให้ชุมชน ก็ต้องปลูกฝังกันตั้งแต่เด็ก ทาง อบต. จึงมีการจัดค่ายลูกเสือ ฝึกอบรมเด็ก เยาวชน และคนในชุมชนให้มาร่วมกันปลูกป่า ทำฝายชะลอน้ำ พร้อมเปิดโอกาสให้เยาวชนต่างตำบลได้มาร่วมเรียนรู้ ฝึกทำฝายไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้เด็ก ๆ ได้รู้ถึงวิธีอนุรักษ์ธรรมชาติที่พวกเขาสามารถทำเองได้

เมื่อคนในชุมชนรู้จักป่ามากขึ้น ชาวชุมชนก็จะรู้ว่าป่า คือ แหล่งสมุนไพรและแหล่งอาหารชั้นยอด ไม่ว่าจะเป็น ผักหวาน ไข่มดแดง หรือเห็ด ต่างก็เป็นสินค้าเศรษฐกิจที่ทำรายได้ให้ชุมชนได้ หากชุมชนดูแลป่า รักษาความอุดมสมบูรณ์เอาไว้ได้ ก็ย่อมส่งผลให้แหล่งอาหารและสมุนไพรแห่งนี้ยังเติบโต สร้างรายได้ให้ชุมชนต่อไปได้อีกยาวนาน
.
นอกจากรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว กิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ยังทำให้ชาวชุมชนมีใจรักป่ามากขึ้น และพร้อมต่อการดูแลป่ามากขึ้น ดังจะเห็นว่า “ป่าภูพานน้อย” แห่งนี้ สามารถป้องกันเหตุไฟไหม้ป่าได้นานถึง 5 ปี จากที่เคยมีอยู่บ่อยครั้ง
.
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ อบต. ได้จัดให้มีการอบรมอาสาสมัครป้องกันไฟป่าให้คนในพื้นที่อยู่ทุกปี ทั้งยังมีกิจกรรมเสริมอย่างการทำแนวกันไฟ หรืออาสาสมัครดับไฟป่า ด้วยหวังจะให้ช่วยกันดูแลผืนป่าของทุกคน

เป้าหมายสูงสุดของโครงการนี้ คือ การทำให้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าอย่างเกื้อกูลกัน เมื่อชุมชนได้ประโยชน์จากป่าแล้ว ก็ต้องหันกลับมาดูแลรักษาป่าด้วย เพื่อให้ความสัมพันธ์ของป่าและชุมชนมีความยั่งยืน แม้จะมีเหตุให้ป่าไม้เสียหาย แต่ชาวชุมชนก็ต้องรู้วิธีฟื้นฟูป่าให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ได้นั่นเอง