ปัญจักสีลัต

11-01resized

ศิลปะการต่อสู้ซึ่งอยู่คู่กับดินแดน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มานานนับศตวรรษ ถือเป็นศิลปะที่ยังคงอยู่คู่กาลเวลา แม้จะถูกสั่นคลอนไปบ้างก็ตาม ตามจำนวนของผู้แสดงที่เริ่มลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ

จากสารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ เล่มที่ 16 ระบุว่าคำว่า สีลัต หรือที่ไทยมุสลิมบางส่วนเรียก บือดีกา เป็นศิลปะการต่อสู้ด้วยมือเปล่า เน้นให้เห็นลีลาการเคลื่อนไหวอย่างสง่างาม โดยเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อราว 400 ปีก่อน ที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย และมีการดัดแปลงแก้ไขท่าทางลีลาให้เข้ากับยุคสมัย บ้างก็ว่าคำนี้มีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤต เพราะดินแดนมลายูในอดีตถูกผนวกให้เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่งเดินตามวัฒนธรรมของอินเดีย โดยรากศัพท์คำว่า สีลัต ที่ว่านั้น คือการต่อสู้ด้วยน้ำใจนักกีฬา ผู้เรียนวิชานี้ต้องมีศิลปะมีวินัยที่จะนำกลยุทธ์ไปใช้ป้องกันตัว ไม่ใช่ทำร้ายผู้อื่นให้เดือดร้อน

ฮาเบ มะแซ มือเล่นปัญจักสีลัตรุ่นใหญ่ และ ฟิกรี ยีราหา ปัญจักสีลัตรุ่นใหม่ เล่าว่าในปัจจุบันนี้ตำบลนี้มีคนสืบสานวัฒนธรรมนี้อยู่ราวๆ 12 คน แบ่งเป็นรุ่นใหญ่ 4 คน รุ่นใหม่ อีก 8 คน ส่วนที่เหลืออยู่ในตำบลลูโบะบายะ ซึ่งอยู่ติดกับพื้นที่ตะปอเยาะ เพราะฉะนั้น เวลาที่มีงานใหญ่ ต้องการคนแสดงเพิ่ม ทั้ง 2 ตำบลนี้ก็จะมารวมตัวกัน

ฮาเบรำลึกถึงความหลังว่าเขาเริ่มเล่นปัญจักสีลัตมาตั้งแต่อายุ 13 ขวบ โดยครูชื่อ ดาโต๊ะมามุ ซึ่งเป็นคนตะปอเยาะ เป็นผู้สอน

“ครูไม่ได้เปิดเป็นโรงเรียน อาศัยใครชอบก็มาเรียนรู้ได้ เริ่มแรกมีคนมาเรียนพร้อมกัน 20 คน เรียนเพื่อป้องกันตัว ใช้เวลาเรียนอยู่ 6 เดือนเต็มถึงจะเล่นได้เชี่ยวชาญ วิชาที่เรียนจะคล้ายๆ มวยไทย เป็นวิชา 1-2-4 โดยคนที่อยากมาเรียนต้องขอฝากตัวเป็นศิษย์ก่อน มีค่าครูจำนวน 12 บาท ก็เอาไปให้พร้อมเครื่องหมากพลู พอเรียนเก่งแล้ว ฝึกสำเร็จแล้วก็ให้เอาไก่ย่าง 1 ตัว ข้าวเหนียว 4 สี แดง ขาว เหลือง เขียว พร้อมหมากพลูอีกชุด เงิน 12 บาท ให้ครู ครูก็จะทำพิธีถ่ายพลังให้ แล้วก็อ่านดูอาให้ฟัง” ฮาเบซึ่งเวลานี้เป็นครูกล่าวต่อ

ส่วนขั้นตอนการฝึกก็จะมีตั้งแต่วิธีก้าวเดินหน้า ถอยหลัง ท่ารำ การปล่อยหมัด ตีเข่า ใช้ศอก ครบถ้วน ส่วนใหญ่จะเรียนทุกคืน หยุดวันเดียวคือวันศุกร์ และการแสดงแต่ละครั้งจะมีการไหว้ครู มีดนตรีประกอบเป็นดนตรีมลายู ใช้เครื่องดนตรี 4 อย่าง คือ ฆ้อง กลองเล็ก กลองใหญ่ และปี่ชวา

ขณะที่พื้นที่ในการแสดง ก็จะเป็นงานบุญต่างๆ ของศาสนา เช่น งานแต่งงาน งานเข้าสุหนัต รวมไปถึงงานรื่นเริงต่างๆ โดยค่าจ้างขึ้นอยู่กับระยะการเดินทาง เช่น หากไปแสดงที่จังหวัดยะลา ประมาณ 100 กิโลเมตร ราคา 7,000 บาท ต่อ 8 คู่ โดยคนแสดงก็จะได้ค่าจ้างประมาณ 300 บาท ส่วนช่วงเดือนรอมฎอน ทีมปัญจักสีลัตจะหยุดพัก ไม่มีการฝึกซ้อมหรือแสดง เพราะเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้แรงมาก…