ผ้าฝ้ายทอมือ บ้านหนองเงือก

08-03resized

เมื่อผ้าฝ้ายดอนหลวงติดตลาดแล้ว บ้านหนองเงือกก็ไม่น้อยหน้า มีกิจกรรม ‘งานสืบสานตำนาน ฝ้ายงามหนองเงือก’ จัดที่บ้านหนองเงือก หมู่ที่ 5 ต่อจากงานที่ดอนหลวง ครั้งหนึ่งประมาณ 3-4 วัน สร้างรายได้แก่ประชาชนในพื้นที่กว่า 10 ล้านบาท และเป็นกิจกรรมซึ่งได้รับการระบุไว้ในปฏิทินท่องเที่ยวลำพูนเช่นกัน

ย้อนกลับไปสมัยที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 ชาวบ้านหนองเงือกหลายสิบชีวิตกลายเป็นผู้ว่างงานโดยฉับพลัน ด้วยแต่ละคนรับจ้างทอผ้าส่งร้านต่างๆ ในอำเภอป่าซาง เมื่อสินค้าขายไม่ได้ ยอดการผลิตก็ลดลงจนไม่มียอดสั่งมาอีก

“สมัยนั้น เรามีกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ในหมู่บ้าน ออมเดือนละ 50 บาทขึ้นไป ส่วนสมาชิกก็มีประมาณ 200 กว่าคน ล้วนเป็นช่างทอผ้ากันหมด ช่วงที่เกิดวิกฤต เรายังคงทำการออมอยู่ แต่ว่าไม่มีรายได้ ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ตัดสินใจรวมตัวกัน เพื่อหารายได้เสริม เกิดเป็นกลุ่มผ้าฝ้ายทอมือ” ชื่นชม สุขร่องช้าง ประธานกลุ่มเล่าถึงที่มา

กลุ่มผ้าฝ้ายทอมือ บ้านหนองเงือก กำเนิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2542 มีผู้ร่วมอุดมการณ์จำนวน 25 คน ทุกคนร่วมลงหุ้น หุ้นละ 100 บาท แต่ไม่เกิน 1,000 บาท เงินตรงนี้แปรสภาพเป็นวัตถุดิบ ทั้งฝ้าย ด้าย ฯลฯ ช่วยกันทอ ช่วยกันขาย โดยอาศัยบ้านของประธานกลุ่ม ซึ่งอยู่ริมถนน มีคนต่างถิ่นสัญจรผ่านไปผ่านมาเสมอ

“แรกๆ เราทำตุง ผ้าปูโต๊ะ ผ้าม่าน แล้วก็มีผ้าผืนเป็นม้วน เน้นการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลายๆ อย่าง ต่างกับสมัยที่เราทำส่งร้าน เพราะตอนนั้นเขาให้ทำเป็นผ้าผืนเล็กๆ อย่างผ้ารองจาน แต่เราไม่ทำต่อ เพราะดูแล้วไม่น่าขายได้” ประธานกลุ่มเกริ่นให้ฟัง

ทุกคนในกลุ่มที่ลงมือทำงานจะได้รับค่าแรง ทอผ้า 1 ม้วน ได้ 100 เมตร กลุ่มจ่ายเมตรละ 25 บาท แต่ถ้าแปรรูปเป็นชิ้นงาน สมาชิกจะช่วยกำหนด เช่นผ้า 1 เมตร จะทำเป็นกล่องทิชชูได้กี่ชิ้น จากนั้นค่อยคำนวณราคาที่เหมาะสมต่อไป โดยกลุ่มจ่ายเงินทันทีที่นำสินค้ามาส่ง

“เฉลี่ยแล้วต่อเดือน จะมีรายได้ประมาณ 4,000 บาทต่อคน” ประธานว่า

แม้จะขายได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ความพยายามของชาวบ้านก็เป็นที่ประจักษ์ เมื่อสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสนับสนุนงบประมาณต่อยอดให้ รวมถึงส่งเสริมให้ไปออกร้านตามงานต่างๆ เช่น งานแสดงสินค้าที่เมืองทองธานี ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญที่สมาชิกได้ไปเปิดหูเปิดตา ไปพบเห็นชิ้นงานที่น่าสนใจ และนำกลับมาเป็นต้นแบบในการผลิตสินค้าของกลุ่ม โดยใช้วัตถุดิบเป็นผ้า ซึ่งเป็นงานถนัดของกลุ่ม จนวันนี้ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มมีทั้งเสื้อ ผ้าถุง ตุ๊กตา กล่องทิชชู หมอนอิง เบาะรองนั่ง พรมเช็ดเท้า รองเท้า ฯลฯ

กลุ่มผ้าฝ้ายทอมือ บ้านหนองเงือก จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน ตั้งแต่ปี 2548 และได้ส่งสินค้าอย่างผ้าปูโต๊ะและผ้าเช็ดมือเข้ารับการประเมินผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP ได้ประดับดาว 2 ดาว

ปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิกทั้งหมด 21 คน ลดน้อยลงไป เพราะส่วนหนึ่งย้ายที่อยู่ อีกส่วนชราภาพมากจนทำไม่ไหว ผลกำไรที่ได้ในแต่ละปีจะแบ่งเป็น 4 ส่วนเท่าๆ กัน ประกอบด้วยเงินกองกลาง 1 ส่วน เงินจัดซื้อจัดจ้าง 1 ส่วน เงินให้กรรมการ 1 ส่วน และเงินปันส่วนให้สมาชิกตามหุ้น 1 ส่วน ส่วนสวัสดิการไม่ได้ระบุไว้ชัดเจน แต่หากสมาชิกเจ็บป่วย ทางกลุ่มจะออกไปเยี่ยมไข้ กรณีเสียชีวิตก็ไปช่วยรับสังฆทานและมีเงินช่วยเหลือตามอัตภาพ

“ด้วยความที่เราทำงานแบบซื้อมาขายไป เลยไม่ค่อยมีเงินเก็บเท่าใด มีเป็นทุนหมุนเวียนประมาณ 300,000 บาท ส่วนใหญ่หมุนเวียนในฝ้าย ซึ่งเราไปซื้อจากร้านที่เชียงใหม่”

แม้อาชีพทอผ้าของชาวบ้านหนองเงือกจะยังเป็นเพียงอาชีพเสริมจากการทำนา และทำสวนลำไย แต่ที่ผ่านมาสมาชิกพยายามต่อยอดผลิตภัณฑ์ของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ โดยเข้าอบรมเรื่องการพัฒนาฝีมือ การตลาด และบรรจุภัณฑ์กับหน่วยงานต่างๆ เช่น พัฒนาชุมชนจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด พาณิชย์จังหวัด และสหกรณ์จังหวัด เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของชาวบ้านหนองเงือกสามารถหยัดยืนอยู่คู่กาลเวลา…