ปุ๋ย & โฟม ตำราแปรขยะ ฉบับอาจารย์นพ

DSC_0330

ฤดูกาลผันผ่าน ธรรมชาติก็เช่นกัน ต้นไม้ผลัดใบตามวัฏจักร ช่วงฤดูนี้ เศษใบไม้ร่วงหล่น หลายคนกวาดสุมกองรวมกัน แล้วจุดไฟเผา จากกองหนึ่งไปจนถึงสิบกอง เกิดเป็นควันพิษที่แม้แต่เจ้าตัวเองมิได้ตระหนักถึงผลร้าย

นพรัตน์ อุพงค์ ข้าราชการครูบำนาญ จึงพยายามสรรหาวิธีการกำจัดเศษใบไม้ จนเป็นที่มาของการทำปุ๋ยหมัก

“ผมเริ่มมาก่อนที่บ้านป่าบุกจะทำการจัดการขยะอย่างเป็นล่ำเป็นสัน” ลุงนพรัตน์เริ่มเล่าถึงที่มาของการทำปุ๋ยในปี 2544

อาจารย์นพรัตน์เริ่มต้นนำกองใบไม้จากสวน จากบ้าน และบ้านใกล้เรือนเคียง จำนวน 500 กิโลกรัม มาทำปุ๋ยสำหรับใส่ต้นลำไยในสวนของตัวเอง

“สวนลำไยของผมเป็นที่รับฝากรถจักรยานยนต์ เนื่องจากสวนของผมอยู่ตรงทางเข้าตลาดนัด พอรถมาจอดมากๆ เลยทำให้ดินแน่น เวลามีน้ำก็เอ่อขัง ไม่ซึมลง จะพรวนดินก็ลำบาก ปุ๋ยเคมีผมก็ไม่ใช้ ต้องใช้ปุ๋ยหมักเท่านั้น เพื่อให้มีไส้เดือนขึ้นมา เชื่อไหมพอปีแรกที่ทำ หน้าฝนนี้ลงสวนไม่ได้เลย เพราะไส้เดือนขึ้นมาเยอะมาก ดินร่วนซุยหมดเลย” อาจารย์นพรัตน์เล่า

สำหรับสูตรในการทำปุ๋ยนั้น เริ่มจากการนำมูลวัวมาลง จากนั้นก็นำใบไม้มากองไว้ประมาณ 30 เซนติเมตร ทำแบบนี้สลับกันไปเรื่อยๆ ให้มากชั้นที่สุดเท่าจะทำได้ รดใบไม้ด้วยน้ำหมักจุลินทรีย์ พอผ่านไปสักระยะก็ค่อยพลิกกองปุ๋ย เพื่อให้จุลินทรีย์ที่หมักเอาไว้เริ่มทำงาน

“วิธีสังเกตที่ผมใช้ คือเอาไม้เสียบไว้ที่กองปุ๋ย ถ้าดึงออกมาแล้วไม้ร้อน ก็เริ่มพลิกได้เลย การพลิกกองปุ๋ยนี้ ผมใช้จอบมาสับ คลุกเคล้าให้แต่ละส่วนผสมกัน แล้วแต่ความขยัน ถ้าพลิกทุก 10 วัน เพียงหนึ่งเดือนครึ่งก็จบ ใช้ได้ แต่ถ้าไม่พลิกต้องใช้เวลานานหน่อย พอทำเสร็จ ก็ให้น้ำ ราดบนกอง ไม่ต้องพรวน แค่นี้ก็เรียบร้อย” เจ้าของสวนลำไยนักคิดอธิบาย

ต่อมาในปี 2554 อาจารย์นพรัตน์เกิดไอเดียสร้างสรรค์ ริเริ่มทำคันหินเบาจากเศษโฟม

“ทุกบ้านมีขยะประเภทนี้ ติดมากับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ซื้อมา ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านจะเก็บไว้ รอเทศบาลมารับไปจัดการ หรือนำไปขายต่อให้กับบริษัทเอกชนที่รับซื้อโฟม” อาจารย์นพรัตน์ว่า

จนวันหนึ่งอาจารย์นพรัตน์เกิดความคิดสร้างสรรค์ ด้วยการนำโฟมมาย่อยเป็นชิ้นเล็กๆ โดยใช้ไม้ตอกตะปูเป็นเครื่องมือขัด จากนั้นนำไปผสมกับปูนซีเมนต์และทราย ในอัตราส่วน โฟม 1 ส่วน ปูน 1 ส่วน และทราย 4 ส่วน แต่ถ้าอยากเพิ่มความแข็งแรงให้เพิ่มปูนอีก 1 ส่วน ใส่น้ำ คลุกเข้าด้วยกัน หยอดลงพิมพ์ เพียงเท่านี้ก็ได้คันหินเบาที่มีคุณภาพ

ไอเดียนี้ได้รับการการันตีด้วยรางวัลอันดับที่ 3 ของโครงการสิ่งประดิษฐ์ภายในบ้านจากวัสดุเหลือใช้ ระดับประชาชนทั่วไป ประจำปี 2558 โดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดลำพูน ซึ่งอาจารย์นพรัตน์ใช้ชื่อนวัตกรรมนี้ว่า ‘โฟมจ๋าหายไปไหน?’

“ผมเคยไปศึกษาดูงานหลายแห่ง เช่น เมืองแกลง และโรงงานโตโยต้าที่บ้านโพธิ์ พอดูเสร็จ ผมก็กระตือรือร้นอยากกลับมาทำที่บ้าน คือเขาไม่ได้สอนวิธีจัดการให้ผมนะ แต่เขาชี้ให้เห็นว่า การจัดการสภาพแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญของชุมชน” อาจารย์นพรัตน์ย้อนความถึงแรงบันดาลใจ

นอกจากคันหินเบาแล้ว อาจารย์นพรัตน์ยังนำเศษโฟมเหล่านี้ ละลายในน้ำมันเบนซิน ผลที่ได้คือสารที่เหนียวคล้ายกาว สามารถนำไปอุดรอยรั่วของหลังคาสังกะสี ซึ่งมีอายุการใช้งานประมาณ 10 ปี

กิจกรรมมากมายขนาดนี้ ภายในบริเวณบ้านของอาจารย์นพรัตน์จึงมีข้าวของเครื่องใช้มากมาย สำหรับประดิษฐ์นั่นทำนี่มิได้อยู่ว่าง ตามประสาของนักคิดนักสร้างสรรค์ แต่กระนั้นอาจารย์ยังไม่ลืมที่จะแบ่งที่ว่าง
ไว้สร้างอาหารตาและอาหารเพื่อสุขภาพกับเขาด้วยเหมือนกัน…