‘นกฮูก’ สร้างรายได้

DSC_0357

“กระเป๋านกฮูกของที่นี่สร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน” ผู้นำทางบอกกับเราเช่นนั้น “ที่สำคัญ กระเป๋านกฮูกนี้แทบจะเป็นสัญลักษณ์ของตำบลแม่แรงไปแล้ว”

เราเดินทางมาที่บ้านของ จรรยา กันทาทรัพย์ หรือ ป้าเครือ ตัวบ้านที่ซุกอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ มีชิ้นงานมากมายรอส่งออก สามีป้าเครือนั่งติดลูกตาให้กับกระเป๋า ขณะที่ป้าเครือจัดแจงน้ำดื่มไว้ให้เราพร้อมสรรพ

จุดเริ่มต้นของกระเป๋าเหล่านี้คือเศษผ้าชิ้นเล็กชิ้นน้อยหลายสี หรือถ้าจะเรียกว่า ขยะก็ไม่ผิด

“ตอนนั้นปี 2554 บ้านป่าบุกมีร้านตัดเสื้อผ้าเยอะ อย่างตัวป้าเองตัดผ้าเหมือนกัน เลยมีเศษผ้าเหลือทิ้งเต็มไปหมด บางคนไม่รู้จะจัดการอย่างไร ก็เผา ควันโขมงเลย มาช่วงหลังพ่อหลวงกับทางเทศบาลจัดประชาคม เพื่อหาวิธีลดขยะเศษผ้า จึงเป็นที่มาให้คิดหาวิธีนำเศษผ้ามาใช้ประโยชน์” ป้าเครือเริ่มต้นเล่าที่มา

เริ่มแรกทำเป็นผ้าเช็ดเท้า นำมาต่อเป็นกางเกงเล แต่ผลตอบรับไม่ดี

“ของไม่ทน ขายก็ไม่ดี ก็เลยเปลี่ยนมาเป็นหมวก แต่ก็ยังขายไม่ได้เหมือนเดิม จนวันหนึ่งลูกชายเปิคอมพิวเตอร์แล้วเห็นกระเป๋ารูปสัตว์หลายๆ อย่าง ทำไมเราไม่ทำ ก็เริ่มเอามาต่อกันจนกลายเป็นกระเป๋า ตอนแรกทำช้าง กระต่าย แต่ว่าต้องใช้ผ้าผืนใหญ่ ซึ่งเราไม่มี เลยคิดนกฮูก เพราะใช้ผ้าชิ้นเล็กๆ ได้ และปรากฏว่าขายดีที่สุดด้วย” ป้าเครือเล่าด้วยรอยยิ้ม

ปัจจุบันป้าเครือเลิกอาชีพตัดผ้า หันมาซื้อเศษผ้าจากชาวบ้าน กิโลกรัมละ 5-10 บาท ชิ้นส่วนต่างๆ ที่มาเย็บกันเป็นกระเป๋า ป้าเครือใช้การกระจายงานไปที่กลุ่มต่างๆ เช่น คิ้วของนกฮูก อาศัยจ้างเด็กนักเรียนมาช่วยทำใน
วันหยุดหรือช่วงปิดเทอม ส่วนตากับขาของนกฮูกก็ให้ผู้เฒ่าผู้แก่ไปทำ เสร็จนำมาส่ง คิดค่าจ้างให้

“ต้นทุนของกระเป๋านี้มีแค่เศษผ้า ฟองน้ำ แล้วก็ยางแผ่นสำหรับทำตา แผ่นหนึ่งทำได้ 2,000-3,000 ดวง โดยหลักการทำงานของเราคือ เน้นการกระจายรายได้ให้ชุมชน ทีมงานทุกคนจึงเป็นคนแม่แรงหมดเลย และขั้นตอนการทำก็ไม่ได้ยากอะไร ทำเดี๋ยวเดียวก็เสร็จแล้ว” ป้าเครือว่า

ส่วนราคาขายของกระเป๋าขึ้นอยู่กับขนาดของกระเป๋า หากเป็นตัวใหญ่ ขายปลีก 150 บาท ขายส่ง 100 บาท ส่วนตัวกลาง ขายปลีก 70 บาท ขายส่ง 60 บาท ส่วนตัวเล็ก ขายปลีก 35 บาท ขายส่ง 30 บาท นอกจากนี้
ยังมีกระเป๋าย่าม พวงกุญแจ หมอน เป็นสินค้าทางเลือกอีกด้วย

“เชื่อไหม ป้าเครือไปเที่ยวกรุงเทพฯ ก็ไปเจอนกฮูกของเรานี่แหละ ก็เลยถามเขาว่าตัวเท่าไร เขาบอกว่า 299 บาท เอาไปฝากลูกหลานซิ” เจ้าของผลงานกล่าวอย่างอารมณ์ดี

ผลงานจากการสร้างสรรค์ของป้าเครือนั้น นอกจากจะสร้างงานสร้างอาชีพสร้างรายได้แก่คนป่าบุกแล้ว ยังได้รับการการันตีด้วยรางวัลระดับจังหวัด คือรางวัลอันดับ 2 ของโครงการสิ่งประดิษฐ์ของใช้ภายในบ้านจากวัสดุเหลือใช้ ระดับประชาชนทั่วไป ประจำปี 2558 โดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดลำพูน นับว่าเป็นภูมิปัญญาที่ทำได้ง่ายๆ แต่ส่งผลแก่ชุมชนอย่างมหาศาลจริงๆ…