สถาบันการเงินชุมชน บ้านหนองเงือก

DSC_0034

จากแนวคิด “วิถีครูบา งานหน้าหมู่” คือคิดร่วมกัน ทำร่วมกัน  ของพระนักปฏิบัติแห่งล้านนา ‘ครูบาศรีวิชัย’ ได้กลายมาเป็นแนวทางสำคัญของสถาบันการเงินชุมชนแห่งบ้านหนองเงือก แหล่งเงินทุนสำคัญของชาวบ้านหมู่ที่ 5 เทศบาลตำบลแม่แรง ในการสร้างสรรค์อาชีพและรายได้มาอย่างต่อเนื่องนับ 10 ปี

ณรงค์ สุริยะรังษี ประธานสถาบันการเงินชุมชน ย้อนความให้ฟังว่า สถาบันการเงินชุมชนแห่งนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากนโยบายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองของรัฐบาลในปี 2544  ที่ต้องการให้ประชาชนอยู่ดีกินดี จึงให้เงินอุดหนุนหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท โดยหมู่บ้านหนองเงือกได้รับงบประมาณในวันที่ 21 กันยายน 2544 และก่อตั้งเป็นกองทุนหมู่บ้านอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2544 เริ่มแรกมีสมาชิก 254 คน โดยมีข้อกำหนดว่า สมาชิกจะต้องซื้อหุ้นกองทุนอย่างน้อย 10 หุ้น หุ้นละ 10 บาท

การบริหารจัดการนั้นมีการคัดเลือกคณะกรรมการมากำกับดูแล โดยคัดเลือกตามระเบียบของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง

“เริ่มแรกกองทุนฯ อนุญาตให้สมาชิกกู้ได้คนละไม่เกิน 20,000 บาท แต่ช่วงหลังปรับเพดานขึ้นเป็น 30,000 บาท เปิดให้กู้ปีละ 1 ครั้ง โดยสมาชิกต้องยื่นกู้ในเดือนมกราคม และส่งคืนในเดือนธันวาคม มีสมาชิกค้ำประกัน 2 คน อัตราดอกเบี้ยคิดร้อยละ 6 บาทต่อปี ในเดือนมิถุนายนต้องจ่ายดอกเบี้ยครึ่งหนึ่งก่อน ส่วนที่เหลือจ่ายตอนสิ้นปี ทั้งนี้สมาชิกที่มีสิทธิกู้ จะต้องชำระเงินกู้เดิมให้เรียบร้อยเสียก่อน ที่สำคัญผู้กู้ต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่าจะนำเงินกู้ไปใช้ทำอะไร ถ้าเป็นด้านอาชีพ กองทุนฯ สนับสนุนอยู่แล้ว แต่ถ้านำไปซื้อของ เช่น รถเครื่อง ก็ต้องพิจารณากันอีกที” อาจารย์ณรงค์กล่าว

ต่อมาในปี 2548 เริ่มมีการทำบัญชีที่สองเพิ่มเติมขึ้นมา คือบัญชีเงินออม เพื่อฝึกให้สมาชิกมีนิสัยรักการออม และเป็นหลักประกันความมั่นคงของกองทุนฯ โดยสมาชิกกองทุนหมู่บ้านทุกคนต้องฝากออม ขั้นต่ำ 30 บาทต่อเดือน

เมื่อมีการออมเกิดขึ้น ทางกองทุนหมู่บ้าน บ้านหนองเงือกจึงเปิดทำการทุกวันที่ 5 ของเดือน โดยมีบริการ ฝาก-ถอน และปล่อยกู้ยืม

“สำหรับเงินฝากนั้น คณะกรรมการคิดอัตราดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3 ต่อปี ส่วนการกู้เงินจากบัญชีเงินออมนี้ มี 2 ประเภท คือกู้แบบปกติ 10 เดือน โดยสมาชิกต้องออมต่อเนื่อง 6 เดือนขึ้นไป กู้ครั้งแรกไม่เกิน 5,000 บาท ส่วนครั้งต่อๆ ไป ไม่เกิน 20,000 บาท โดยผู้ที่ประสงค์จะกู้แต่ละครั้ง จะต้องชำระเงินกู้และดอกเบี้ยให้ครบเสียก่อน ส่วนอีกประเภทคือ กู้ฉุกเฉิน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 เดือน คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อเดือนทั้ง 2 ประเภท” อาจารย์ณรงค์ว่า

หลังตั้งกองทุนหมู่บ้านมาระยะหนึ่ง ปรากฏว่าผลการดำเนินการดี ทางกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเข้ามาเป็นผู้ประเมินจึงแนะนำให้ยกระดับกองทุนหมู่บ้านขึ้นเป็นสถาบันการเงินชุมชน ตามนโยบายของรัฐบาล เมื่อเดือนมกราคม 2552 พร้อมกับส่งตัวแทนของกองทุนไปเข้าอบรมที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นเวลา 3 วัน จากนั้นก็กลับมาเปิดสถาบันการเงินชุมชนอย่างเป็นทางการ

สุภาพร อุดตึง ปฏิคมสถาบันการเงินชุมชนบ้านหนองเงือก เสริมว่า หลังจากยกระดับแล้ว สถาบันการเงินชุมชนบ้านหนองเงือกเปิดทำการทุกวันที่ 20 ของเดือน ขณะที่กองทุนหมู่บ้านก็ยังคงเปิดฝากออมและปล่อยกู้ทุกวันที่ 5 โดยสมาชิกของสถาบันการเงินชุมชน แบ่งเป็น 2 ประเภท คือสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งจะเป็นสมาชิกของสถาบันโดยอัตโนมัติ กับสมาชิกที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน แต่ทำการฝากเงินกับสถาบันฯ

“สมาชิกหลายคนมาจากหมู่บ้านอื่นๆ ที่ไม่มีสถาบันการเงินในหมู่บ้านตัวเอง แล้วเขามีเงินไม่มาก จะไปฝากธนาคารข้างนอกก็คงไม่ไหว เพราะมีค่าเดินทาง ไปแล้วไม่คุ้ม เดินมาฝากที่สถาบันการเงินชุมชนบ้านหนองเงือกง่ายกว่า และที่สำคัญคือไม่จำเป็นต้องฝากทุกเดือนเหมือนกับเงินออมของกองทุนหมู่บ้าน เพียงแค่ขอเปิดบัญชีครั้งแรก 50 บาท และครั้งต่อไปจะฝากเท่าใดก็ได้ โดยเราให้ดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี ที่ผ่านมามีคนมาฝากเยอะ อย่างชาวบ้านที่เก็บลำไยมา พอขายได้ เขาก็มาฝาก 50,000-60,000 บาท” สุภาพรเล่า

ปัจจุบันกองทุนหมู่บ้านและสถาบันการเงินชุมชนบ้านหนองเงือก บริหารงานโดยคณะกรรมการชุดเดียวกัน จำนวน 15 คน โดยกองทุนหมู่บ้าน ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล 2,500,000 บาท มีเงินหุ้นจากสมาชิก 194,580 บาท และมีเงินออมตามข้อมูล ณ สิ้นปี 2557 จำนวน 3,180,825.41 บาท โดยจัดสรรผลตอบแทน คือนำสมทบกองทุน ร้อยละ 5 ประกันความเสี่ยง ร้อยละ 5 ค่าใช้จ่ายสำนักงาน ร้อยละ 5 ค่าดำเนินงานกรรมการ ร้อยละ 30 เงินสาธารณประโยชน์ ร้อยละ 20 ค่าตอบแทนสวัสดิการสมาชิกผู้ถือหุ้น ร้อยละ 20 และค่าใช้จ่ายตามที่คณะกรรมการเห็นชอบ ร้อยละ 20

ส่วนสถาบันการเงินชุมชน ปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ 587 คน มีเงินหมุนเวียนอยู่ 2,482,469.95 บาท โดยคณะกรรมการได้นำเงินจำนวนหนึ่งไปลงทุนความเสี่ยงต่ำ ด้วยการซื้อหุ้นของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูลำพูน ซึ่งให้อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 3.50 ต่อปี

“เราไม่เคยมีหนี้เสียเลยตั้งแต่ก่อตั้งกองทุนหมู่บ้านขึ้นมา ซึ่งที่เป็นแบบนี้ เพราะเรายึดหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งกรรมการและผู้ใช้บริการ ซึ่งต่างรับรู้ถึงหน้าที่และความรับผิดชอบของตัวเอง และตระหนักว่าความเข้มแข็งขององค์กรในพื้นที่ต้องมาจากทุกคน ดังเช่นปณิธานที่ครูบาศรีวิชัยได้พร่ำสอนมาตลอดชีวิตของท่าน” อาจารย์ณรงค์ทิ้งท้ายด้วยกุญแจแห่งความสำเร็จขององค์กรการเงินชุมชนแห่งนี้…