กองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลตำบลแม่แรง

DSC_0423

ท้องถิ่นวันนี้เปลี่ยนไปแล้ว ด้วยศักยภาพความสามารถมิได้เป็นรองใครที่ไหน ที่สำคัญใครเล่าจะเข้าใจบริบทของชุมชนดีกว่าคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนนั้น ดังนั้นกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับตำบลจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งในการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพ เกี่ยวพันไปถึงการรักษา ป้องกัน ฟื้นฟู และเสริมสร้างสุขภาพ

เทศบาลตำบลแม่แรงเข้าร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อปลายปี 2551 หลังจากที่ทาง สปสช. ได้เข้ามาทำกิจกรรมนำร่องในหลายพื้นที่ของจังหวัดลำพูน ตั้งแต่ปี 2549

อารีวรรณ บุญอุดม ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลแม่แรง เล่าว่า ทางตำบลแม่แรงเข้าร่วมกับ สปสช. เพราะมั่นใจว่า ประชาชนจะได้รับประโยชน์โดยตรง

“แต่ก่อนงบประมาณด้านสาธารณสุขทุกอย่าง จะถูกส่งผ่านมาทางสาธารณสุขจังหวัด แล้วค่อยมาถึงโรงพยาบาลประจำอำเภอ ซึ่งงบประมาณนี้ กว่าจะมาถึงชาวบ้านก็ใช้เวลานาน ตอนหลังเมื่อกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นโดยตรง ก็ทำให้การจัดการง่ายขึ้น มีประสิทธิภาพขึ้น และครอบคลุมมากขึ้น” ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมว่า

สปสช. สมทบงบประมาณต่อหัวประชากร หัวละ 45 บาท ซึ่งเทศบาลจะต้องสมทบไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 แต่ทางเทศบาลตำบลแม่แรงสมทบถึงร้อยละ 80

ในส่วนของรูปแบบการบริหารจัดการนั้น ทาง สปสช. มีโครงสร้างของคณะกรรมการกองทุนฯ กำหนดไว้ มีนายกเทศมนตรีเป็นประธานโดยตำแหน่ง มีปลัดเทศบาลเป็นเลขานุการโดยตำแหน่งเช่นกัน มีที่ปรึกษากองทุนฯ ประกอบด้วยสาธารณสุขอำเภอ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลป่าซาง ส่วนตัวกรรมการ เลือกจากผู้นำชุมชน 5 คน ตัวแทนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) 2 คน สมาชิกสภาเทศบาล 2 คน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 2 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน ของที่ตำบลแม่แรงคือกำนัน และผู้ใหญ่บ้านอีก 1 หมู่บ้าน

จุดเด่นของกองทุนฯ ที่นี่ คือการทำแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุข ซึ่งเป็นแนวทางที่ นพ.อมร นนทสุต อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งการสาธารณสุขมูลฐาน เคยนำเสนอไว้เมื่อปี 2551 โดยวิเคราะห์จากประสบการณ์ด้านสาธารณสุขตลอด 5 ทศวรรษ ซึ่งสิ่งที่ท่านเล็งเห็น คือระบบสาธารณสุขมูลฐานถือเป็นคำตอบของแนวคิดเรื่องความเสมอภาค และการมีคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา ฉะนั้นการวางยุทธศาสตร์สาธารณสุขมูลฐานยุคหลังๆ จึงต้องอาศัยการวิเคราะห์และสังเคราะห์องค์ประกอบต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จ ดังนี้
1) ความเข้าใจ คือเข้าใจว่ากลุ่มเป้าหมายคือใคร และปัญหาอยู่ที่ใด 2) การเข้าถึง โดยมี อสม. เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง และ 3) การพัฒนา โดยอาศัย อสม. ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เน้นไปที่การสร้างสุขภาพและป้องกันโรค รวมถึงการพัฒนาทักษะของชุมชนและบุคคล ในเรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพ

ที่นี่รับแนวทางดังกล่าวมาปรับใช้ มีการสร้างแผนปฏิบัติการของกองทุนฯ โดยอิงระเบียบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แบ่งออกเป็น 5 ภารกิจ ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่เด็กในครรภ์จนถึง
ผู้สูงอายุ ดังนี้ 1) สนับสนุนหน่วยบริการภายในพื้นที่ คือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 2 แห่ง โดยจัดสรรงบประมาณให้ร้อยละ 30 ของเงินกองทุนฯ 2) สนับสนุนกิจกรรมของภาคประชาชน ร้อยละ 40 3) สนับสนุนการดำเนินงานในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ร้อยละ 15 4) บริหารจัดการกองทุน ร้อยละ 15 และ 5) รับมือการบริหารจัดการภัยพิบัติต่างๆ โดยข้อ 5 นี้ อาศัยเงินงบประมาณที่เหลือในแต่ละปี

อย่างไรก็ดี เนื่องจากแผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์นั้นใช้ระยะเวลาการดำเนินงานแผนละ 4 ปี ซึ่งอาจจะไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ทางด้านสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลแม่แรง จึงพยายามสร้างแผนดำเนินงานของกองทุนปีต่อปีขึ้นมารองรับอีกแผนหนึ่ง

ส่วนวิธีการขอใช้งบประมาณจากกองทุนฯ จะมีการนัดประชุมเพื่อจัดทำแผน โดยเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนร่วมนำเสนอโครงการเข้ามา โดยมีคณะอนุกรรมการอีก 3 คณะ คืออนุกรรมการฝ่ายเลขานุการ อนุกรรมการฝ่ายการเงินและบัญชี และอนุกรรมการฝ่ายกลั่นกรองแผนงานโครงการและประเมินผล ทำหน้าที่คัดเลือกโครงการที่เหมาะสม เพื่อดำเนินการอนุมัติงบประมาณต่อไป

“คนที่ยื่นส่วนใหญ่ก็จะเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อสม. แล้วก็ชุมชนทั้ง 43 ชุมชน ซึ่งโครงการที่เด่นๆ ก็มีโครงการชุมชนสุขภาพดี คือแรกๆ เวลาที่เราเปิดให้ชุมชนส่งโครงการ ไม่มีใครกล้าส่ง แต่ว่าแต่ละชุมชนก็จะมีคณะกรรมการของตัวเอง เราเลยไปสนับสนุนให้เขาทำโครงการนี้ขึ้นมา โดยมีโจทย์ว่าต้องทำให้คนในชุมชนมีสุขภาพดี ภายใต้ 5 มิติ คือมิติความปลอดภัย มิติของความสะอาดและสิ่งแวดล้อมดี มิติด้านคุณภาพชีวิต มิติเรื่องวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี และมิติเรื่องธรรมาภิบาลและความโปร่งใส ต้องทำให้ครบ หรืออย่างปีล่าสุดก็มีโครงการต่อยอดด้านสิ่งแวดล้อม เพราะปัจจุบันเรามีบ้านป่าบุกเป็นหมู่บ้านต้นแบบของชุมชนปลอดขยะ เราก็เลยอยากทำให้ทั้งตำบลปลอดขยะอย่างยั่งยืน จึงชวนทุกชุมชนมาทำโครงการนี้ร่วมกัน แต่ละชุมชนจะได้รับงบประมาณตามขนาดของชุมชน โดยเอาหลังคาเรือนเป็นตัวตั้ง” ผอ.อารีวรรณสาธยาย

ปัจจุบันกองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลตำบลแม่แรงมีเงินหมุนเวียนอยู่ในกองทุนปีละ 580,000 บาท โดยปีหนึ่งจะอนุมัติราวๆ 60 โครงการ เน้นการกระจายไปยังกลุ่มคนที่หลากหลาย ภายใต้หลักการทำงานที่เน้นคุณภาพและมาตรฐานเป็นสำคัญ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกว่าทำไมที่นี่จึงได้รับการประเมินจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้เป็นกองทุนระดับ A+ และได้เป็นศูนย์เรียนรู้ของกองทุนหลักประกันสุขภาพ…