สุขภาพดีวิถีไทย

DSC_0438

จริงๆ แล้ว ขบวนการรักสุขภาพไม่ได้มีเพียงชาวบ้านหนองเงือกเท่านั้น แต่มีอยู่ทุกหนแห่งในตำบลแม่แรง

จากบ้านหนองเงือก เราเดินทางไปที่ชุมชนกอม่วง บ้านป่าเบาะ หมู่ที่ 8 เพื่อไปดูให้เห็นกับตาว่า ที่นี่เขาไม่ได้ออกกำลังกายกันเล่นๆ

บุญหลง ปันดอนตอง ประธานชุมชนกอม่วง และ เทศ รัตนพงศ์ ประธานกลุ่ม อสม. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแม่แรง ร่วมกันฉายภาพที่ไปที่มาว่า เมื่อปี 2553 ทางเทศบาลตำบลแม่แรงได้เรียกประชุมแกนนำหมู่บ้านต่างๆ ว่าจะทำโครงการสุขภาพดีวิถีไทย

เทศ ในฐานะประธานกลุ่ม อสม. จึงนำประเด็นนี้ไปคุยต่อกันที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแม่แรง เพื่อร่วมด้วยช่วยกันหาแนวทางการปฏิบัติ เพราะนอกจากจะสอดคล้องกับภารกิจขององค์กรแล้ว ยังตอบโจทย์ของชุมชน ที่ผู้คนประสบปัญหาสุขภาพนานัปการ ทั้งโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง

“บางคนอายุเพียงยี่สิบต้นๆ ก็เป็นความดัน เบาหวานแล้ว เราจึงเห็นพ้องต้องกัน ทำกิจกรรมเชิงรุก รณรงค์ให้ออกกำลังกาย” ประธานกลุ่ม อสม. รพ.สต.แม่แรง ว่า

จากการหารือ ตกผลึกเป็นแนวนโยบาย 2 เรื่อง เรื่องแรกคืออาหาร เรื่องที่สองคือการออกกำลังกาย

ว่ากันที่อาหาร ทางวัดกอม่วง (วัดประจำหมู่บ้านป่าเบาะ) มีโครงการขยะกินได้อยู่แล้ว ทางแกนนำจึงขับเคลื่อนร่วมกับกิจกรรมเดิม ส่วนเรื่องการออกกำลังกาย ทางกลุ่ม อสม. ทั้ง 25 คน พิจารณาตรงกันแล้วว่า การทำตัวเป็นแบบอย่างน่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด

“เราวิเคราะห์ปัญหาว่า ทำไมคนถึงไม่ยอมออกกำลังกาย ส่วนใหญ่ไม่มีเวลา มัวแต่ทำงาน แล้วก็มีข้อมูลจาก รพ.สต.แม่แรง ว่ามีผู้ป่วยเบาหวาน ความดันอยู่มาก เราอยากดึงคนที่ยังไม่ป่วย และป่วย เข้ามาออกกำลังกาย ทาง รพ.สต. เลยทำป้ายเล็กๆ ให้แผ่นหนึ่ง เรียกว่า ชมรมสวยใสไร้พุง แล้วจ้างคนที่สอนเต้นแอโรบิกมาสอนที่หน้าวัดกอม่วงนี่แหละ วันหนึ่ง 200-300 บาท แต่ว่าเรามีงบประมาณค่อนข้างน้อย เนื่องจากเป็นงบของ อสม. สุดท้ายจ้างได้แค่ 4-5 วัน หลังจากนั้นก็ใช้คนของเราที่พอเต้นได้มาสอนแทน เพราะตอนที่เราจ้างเขา เรามีถ่ายวิดีโอเก็บไว้ด้วย ส่วนพวกเครื่องเสียงผมมีให้ยืมใช้” บุญหลง ประธานชุมชนกอม่วงเล่า

นอกจากนี้เพื่อประชาสัมพันธ์ จึงประกาศเสียงตามสาย โดยนำข้อมูลที่ได้จาก รพ.สต.แม่แรง มาอธิบายให้ทุกคนเห็นภาพชัดเจน ทว่าด้วยความที่สิ่งเหล่านี้ยังเป็นนามธรรมอยู่ ชาวบ้านจึงยังไม่ให้ความสำคัญเท่าไรนัก จนเวลาผ่านไปประมาณ 1-2 ปี คนที่มาออกกำลังกายต่อเนื่องมีสุขภาพดีขึ้น แข็งแรงขึ้น น้ำหนักลดลง ชาวบ้านหลายคนก็เริ่มหันมาสนใจ และเข้ามาร่วมกิจกรรมเพิ่มขึ้น

“ตอนแรกเราจัดกิจกรรมประมาณห้าโมงเย็น แต่ว่าคนยังไม่เลิกงานกัน เลยเลื่อนเป็นหกโมงเย็น แต่เวลานี้ส่วนใหญ่เพิ่งถึงบ้าน ทำอาหาร สุดท้ายเลยเปลี่ยนเป็นหนึ่งทุ่มตรง นอกจากเวลา กิจกรรมก็ปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา จากยุคแรกแอโรบิก ปัจจุบันเป็นการเต้นรำวงย้อนยุค วันหนึ่งคนมาร่วมประมาณ 10-20 คน และยังมีกิจกรรมอื่นๆ เช่น ปั่นจักรยาน ที่จะปั่นกันตอนตีสี่ตีห้า แต่ที่นิยมทุกเพศทุกวัย คือเปตอง เพราะในตำบลแม่แรงมีสนามเปตองทุกชุมชน โดยมีเทศบาลเป็นผู้สนับสนุนในการซื้อลูกเปตองปีละชุด และทุกวันที่ 12 สิงหาคม ที่นี่ก็จะมีการแข่งขัน เป็นทีมครอบครัว ทีมชนะได้ถ้วยรางวัลจากทางวัด แล้วตอนเที่ยงก็มีการเลี้ยงก๋วยเตี๋ยว ถือเป็นกลยุทธ์ในการดึงคนเข้ามาร่วม” ประธานกลุ่ม อสม. รพ.สต.แม่แรง กล่าว

นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งกิจกรรมที่เสริมเข้ามา คือการบัญชีครัวเรือน ซึ่งบุญหลงเล่าว่า จุดเริ่มต้นมาจากการที่แต่ละครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายสูง และส่วนมากไม่รู้สาเหตุ จึงทำบัญชีครัวเรือนเพื่อให้เห็นว่า อะไรคือส่วนเกินหรือไม่จำเป็น ซึ่งผลลัพธ์ที่ปรากฏมีตั้งแต่ ค่าบุหรี่ ค่าสุรา ค่าหวย หรือแม้แต่ค่าโทรศัพท์ ซึ่งทีม อสม.ก็พยายามรณรงค์ให้ลดค่าใช้จ่ายเหล่านี้ หรือเลิกได้ก็ยิ่งดี เพื่อให้มีเงินเก็บไว้บ้าง

“แรกๆ ไม่เข้าใจ แต่วันนี้เริ่มเห็นประโยชน์ของการทำบัญชี และพร้อมที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งต้องขอบคุณท่านพระครูประภัศร์สาธุการ เจ้าอาวาสวัดกอม่วง ที่คอยเทศน์คอยสอน เปลี่ยนใจชาวบ้าน เพราะท่านรู้ปัญหาเหล่านี้หมด” บุญหลงว่า

จากโครงการสุขภาพดีวิถีไทยของชุมชนกอม่วง ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด คือสุขภาพของชาวบ้าน ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงมีสุขภาพที่ดีขึ้น ส่วนคนที่ไม่เป็นก็มีภูมิต้านทาน อัตราผู้ดื่มสุรา สูบบุหรี่น้อยลง โดยเฉพาะบุหรี่นั้นเหลือไม่ถึง 10 คน จากเดิมที่มีมากถึง 40-50 คน ที่สำคัญ เมื่อปี 2556 ที่นี่ยังรับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ระดับรองชนะเลิศ จากโครงการสุขภาพดีวิถีไทย ในฐานะพื้นที่ดีเด่นซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของพี่น้องประชาชนได้

“เหล้า บุหรี่ หลายคนบอกเลิกยาก แต่ผมไม่เชื่อหรอก บางคนทั้งสูบทั้งดื่มมาเกือบตลอดชีวิตยังเลิกได้ ของแบบนี้มันอยู่ที่ใจ” ประธานชุมชนบุญหลงทิ้งท้าย…