ฌาปนกิจสงเคราะห์ เพราะเราต้องช่วยกัน

DSC_0445

เกิดแก่เจ็บตายถือเป็นธรรมชาติที่มนุษย์ไม่สามารถหลีกพ้นได้ แต่การแสดงน้ำใจระหว่างคนในชุมชนก็ถือเป็นความดีงามที่พวกเขามอบให้กันและกัน โดยเฉพาะช่วงเวลาที่มีใครจากไปชั่วนิรันดร์ ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน ดังเช่นคนที่บ้านมะนาว หมู่ที่ 3, 12 และบ้านเลิศสวรรค์ หมู่ที่ 11 ที่มีกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ของชุมชนตั้งแต่ปี 2532 และยังถือเป็นต้นแบบสำคัญให้หมู่บ้านอื่นๆ ได้เดินตามอีกด้วย

ชวลิต ไชยจิตร ประธานกลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์ เล่าให้ฟังว่า แต่เดิมกลุ่มนี้อยู่ร่วมกับกลุ่มฌาปนกิจสงเคราะห์ที่อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ มาภายหลังกลุ่มที่เขาวงล่มลง ทำให้คนในหมู่บ้านรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มฌาปนกิจของบ้านมะนาวขึ้นเอง โดยในสมัยนั้นบ้านมะนาวยังเป็นหมู่ที่ 3 หมู่บ้านเดียว ก่อนมาถูกแยกออกเป็น 11 และ 12 ในปี 2544 และ 2545 ตามลำดับ

“ตอนนั้นมีข้อตกลงว่า ให้แต่ครัวเรือนจ่ายเงินคราวละ 10 บาท เมื่อมีงานศพครั้งหนึ่ง” ชวลิตว่า

ต่อมาเกิดข้อขัดแย้งกันขึ้น การเก็บเงิน 10 บาทต่อครัวเรือนจะเป็นการเอาเปรียบกันเกินไปหรือเปล่า เพราะไม่ว่าครอบครัวเล็ก ครอบครัวใหญ่ก็จ่ายเงินเท่ากัน ที่ประชุมจึงมีมติขึ้นมา และเปลี่ยนวิธีคิดจากการจ่ายเงินระบบครัวเรือนเป็นระบบครอบครัวแทน

“เช่นครอบครัวหนึ่งมีลูก 2 คน หากลูก 2 คนไม่ได้แต่งงาน ก็จ่ายแค่ 10 บาทต่อครั้ง ยังนับเป็นครอบครัวเดียว แต่ถ้าสมมติลูกคนหนึ่ง แต่งงานไป แม้จะอยู่ในบ้านหลังเดียวกันก็ต้องจ่ายเพิ่มอีก 10 บาท เพราะนับเป็นอีกครอบครัว สรุปคือบ้านนี้ต้องจ่าย 20 บาท” ชวลิตอธิบาย

ทว่าหากลูกคนที่ 2 เกิดแต่งงานไปอีกคน จะไม่ถือว่าเป็นการแยกครอบครัว เพราะตามกฎของหมู่บ้านจะต้องมีลูกคนใดคนหนึ่งที่คอยเลี้ยงพ่อแม่อยู่ ซึ่งโดยมากจะเป็นลูกคนสุดท้อง นี่เป็นหลักคิดคำนวณของกลุ่ม

ทั้งนี้ปัจจุบัน เพื่อรองรับกับสภาพความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ กองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ได้มีมติเก็บเงินเพิ่มเป็น 20 บาท โดยปัจจุบันมีสมาชิกทั้งสิ้น 350 ครอบครัว แบ่งเป็นหมู่ที่ 3 จำนวน 92 ครอบครัว หมู่ที่ 11 จำนวน 55 ครอบครัว และหมู่ที่ 12 จำนวน 123 ครอบครัว

“เป็นสมาชิกกันทุกครอบครัว” ชวลิตว่า

นอกจากกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์แบบจ่ายศพละ 20 บาทแล้ว ในปี 2550 ทางกลุ่มเล็งเห็นว่า ปัจจุบันค่าจัดงานศพแพงขึ้น ไหนจะค่าอาหาร ดอกไม้ พวงหรีด ทำศพ และอะไรอีกมากมาย เงินราว 7,000 บาทคงไม่เพียงพอ จึงตั้งกลุ่มขึ้นมาอีกกลุ่ม มีวิธีการทำงานเหมือนกัน แต่เพิ่มวงเงินเป็น 100 บาท ซึ่งกลุ่มนี้อนุญาตให้ชาวบ้านที่มีความสนใจเข้าร่วมได้ ไม่ได้เป็นลักษณะกึ่งบังคับเหมือนสาย 20 บาท

อารีย์ สำโรงแสง ในฐานะเหรัญญิกกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์สาย 100 บาท อธิบายว่า ปัจจุบันกลุ่มนี้มีราว 230 ครอบครัว โดยวิธีการเก็บเงินของทั้ง 2 กองทุนฯ นี้จะแตกต่างกัน หากเป็นกอง 20 บาท จะเก็บช่วงหน้าศพตอนเช้า พอตกบ่ายเริ่มพิธีเผาก็จะนำเงินมามอบให้ครอบครัวของผู้เสียชีวิต แต่ถ้าเป็นกลุ่ม 100 บาทจะใช้วิธีเก็บล่วงหน้า คือเก็บตั้งแต่เข้าเป็นสมาชิก คณะกรรมการจะนำเงินไปฝากธนาคาร แล้วถอนเงินออกออกมามอบเมื่อทราบข่าวการเสียชีวิต และจะเก็บเงินครั้งใหม่ในวันเผาศพนั้นๆ

ทั้งนี้การทำหน้าที่ของกรรมการ โดยเฉพาะชุด 100 บาทนี้ ได้มีการจัดสรรส่วนแบ่งค่าแรงให้ร้อยละ 3 แต่ส่วนมากกรรมการจะไม่รับหรือรับไม่เต็มบ้าง เนื่องจากถือว่าเป็นการทำบุญ และถือเป็นงานเสียสละ นับเป็นกลไกสำคัญในการช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างคนในชุมชน

ส่วนที่มาของกรรมการทั้ง 2 ชุดนี้ หากเป็นสาย 20 บาท จะมีทั้งหมด 5 คน ตั้งขึ้นจากผู้ช่วยหมู่บ้านละ 1 คน (จากหมู่ที่ 3, 11, 12) ส่วนอีก 2 คนเป็นตัวแทนที่ชาวบ้านไว้วางใจเลือกเข้ามา ขณะที่สาย 100 บาท มี 5 คนเหมือนกัน แต่ไม่ได้มีระบบตัวแทนหมู่บ้าน เพราะใช้วิธีเลือกจากสมาชิกโดยตรงแทน เพื่อความโปร่งใสในการดูแลผลประโยชน์ของคนในชุมชน