สหกรณ์การเกษตรรวมมิตร จำกัด

DSC_0672

เกษตรกรมักถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่เป็นประจำ หลายๆ ที่จึงใช้วิธีรวมตัวกัน เพื่อช่วยเหลือกันและกัน ดังเช่นเกษตรกรที่เทศบาลตำบลรือเสาะ ซึ่งรวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์การเกษตรรวมมิตร จำกัด มาตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2545

แพรว ชูพุด ประธานสหกรณ์ รัตนากร ขำเนียว ผู้ตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ และ น้ำฝน ผ่องใส เจ้าหน้าที่การเงิน ร่วมกันเล่าถึงที่มาของสหกรณ์แห่งนี้ว่า ช่วงแรกกลุ่มเกษตรกรสวนยางจำนวน 40 กว่าคน มารวมตัวกันที่วัดราษฎร์สโมสร เพื่อจัดตั้งเป็นกลุ่มออมทรัพย์ หน้าที่หลักๆ คือรับฝากเงินจากสมาชิก โดยไม่ได้กำหนดขั้นต่ำ จนมาภายหลังทางจังหวัดนราธิวาสแนะนำให้พัฒนากลุ่มขึ้นมาเป็นสหกรณ์การเกษตร

ครานี้ คนที่มาสมัครสมาชิกต้องฝากทุนเรือนหุ้นก่อน หุ้นละ 10 บาท ไม่ต่ำกว่า 10 หุ้น บวกกับค่าธรรมเนียมอีก 100 บาท สำหรับเป็นทุนหมุนเวียน โดยทุนเรือนหุ้นนี้ไม่สามารถถอนได้ เว้นแต่ลาออกหรือเสียชีวิต

บริการของสหกรณ์แห่งนี้มีตั้งแต่การฝาก-ถอน คิดดอกเบี้ยเงินฝากปีละ 1.50 บาท มีธุรกิจสินเชื่อ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ประเภท คือเงินกู้ระยะปานกลาง วงเงินไม่เกิน 200,000 บาท กู้ได้ไม่เกิน 3 ปี ผู้กู้ต้องใช้โฉนดที่ดินค้ำประกัน ต่อมาคือเงินกู้ระยะสั้น วงเงินไม่เกิน 30,000 บาท กู้ได้ไม่เกิน 1 ปี ใช้สมาชิกค้ำประกัน 2 คน และสุดท้าย เงินกู้ฉุกเฉิน 5,000 บาท กู้ได้ไม่เกิน 5 เดือน มีสมาชิกค้ำประกัน 1 คน เงินกู้ทั้งหมดนี้ คิดดอกเบี้ยร้อยละ 8 ต่อปี ถ้าผิดนัดเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ต่อปี โดยผู้กู้ต้องเป็นสมาชิกไม่ต่ำกว่า 6 เดือนถึงกู้ได้ และสามารถยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการได้ทุกช่วงเวลา

“ปัจจุบันระบบสินเชื่อเรามีปัญหาอยู่ เพราะว่าราคายางไม่ดี ชาวบ้านเลยไม่มีเงินมาคืน เราต้องปรับโครงสร้างหนี้ คือกู้ใหม่แล้วผ่อนจ่ายหนี้เก่าเป็นเดือนๆ ไป” น้ำฝนอธิบายวิธีแก้ปัญหาของสหกรณ์ให้ฟัง

นอกจากนี้สหกรณ์ยังได้นำกำไรมาร้านสหกรณ์การเกษตร สินค้าที่นำมาขายส่วนใหญ่เป็นสินค้าทางการเกษตร เช่น ยากำจัดศัตรูพืช ปุ๋ย สารเคมีการเกษตร วัสดุการเกษตร รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ข้าวสาร อาหารแห้ง โดยเปิดโอกาสให้ทั้งคนที่เป็นและไม่เป็นสมาชิกเข้ามาจับจ่ายได้เหมือนกัน ร้านเปิดวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00-16.30 น.

สหกรณ์การเกษตรรวมมิตร จำกัด มีสมาชิกอยู่ทั้งหมด 275 คน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือสมาชิกสามัญ หรือสมาชิกที่อาศัยอยู่ในตำบลรือเสาะและตำบลรือเสาะออก ซึ่งสมาชิกกลุ่มนี้มีสิทธิได้รับบริการทุกอย่างจากสหกรณ์ กับสมาชิกสมทบ ซึ่งอาศัยอยู่นอก 2 พื้นที่นี้ ซึ่งไม่มีสิทธิฝากถอนหรือกู้เงิน แต่สามารถซื้อของและสะสมยอดเพื่อรับเงิน ปันผล

ส่วนรูปแบบของการบริหารงาน สหกรณ์มีคณะกรรมการทั้งหมด 7 คน เลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่ของสมาชิก ดำรงตำแหน่งวาระละ 2 ปี คนหนึ่งเป็นได้ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน โดยต้องหยุดพักอย่างต่ำ 1 ปี

ปัจจุบันสหกรณ์มีเงินหมุนเวียนอยู่ประมาณ 7 ล้านบาท โดยในแต่ละปีจะมีการปิดบัญชีงบดุลทุกวันที่ 30 กันยายน พร้อมกับจัดสรรผลประโยชน์จากกำไรสุทธิ แบ่งเป็นเงินปันผลตามหุ้น ร้อยละ 31 เงินเฉลี่ยคืนตามส่วนธุรกิจ ร้อยละ 16 เงินสำรองของสหกรณ์ ร้อยละ 16 เงินพัฒนาสหกรณ์ ร้อยละ 10 โบนัสกรรมการและพนักงาน ร้อยละ 10 ทุนสำหรับการอบรมศึกษา ร้อยละ 5 เงินค่าบำรุงสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ร้อยละ 5 ทุนสวัสดิการและการสงเคราะห์แก่สมาชิก ร้อยละ 2 ทุนสวัสดิการและการสงเคราะห์แก่เจ้าหน้าที่และลูกจ้าง ร้อยละ 2 ทุนรักษาเงินอัตราปันผล ร้อยละ 2 และทุนสาธารณประโยชน์ ร้อยละ 1

ล่าสุดทางกลุ่มได้สร้างศูนย์รวบรวมยางพารา โดยได้งบประมาณที่รัฐให้ยืม โดยสั่งจ่ายผ่านทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 1 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 5 แต่ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วยออกให้ร้อยละ 4 ภายใต้ระยะเวลากู้ 1 ปี

“ตอนนั้นทางสหกรณ์จังหวัดนราธิวาส เรียกเข้าไปประชุมว่าต้องการเงินตัวนี้ไหม ซึ่งเราก็ต้องการ เพราะเห็นว่าเป็นหนทางในการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ ขณะเดียวกันก็เป็นการพัฒนาต่อยอดการทำงานของสหกรณ์เราด้วย เพราะก่อนหน้านี้ ในปี 2553 เราก็เคยทำโครงการลักษณะเหมือนกัน เป็นการรวมลองกอง ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับที่ดี แต่ต้องยอมรับว่าครั้งนี้อาจจะยากกว่า เพราะเกษตรกรหลายคนไม่ขายให้เรา เนื่องจากเป็นหนี้พ่อค้าอยู่ แต่เราก็พยายามให้ราคายุติธรรม โดยมีการเช็คราคากับสหกรณ์เมืองนราธิวาสตลอด เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่เหมาะสม” รัตนากรอธิบาย