เศรษฐกิจพอเพียง สไตล์ลุงสาหะ

DSC_0961

จากบุคคลที่ไม่เคยสนใจเรื่องทำเกษตรมาก่อนเลยในชีวิต แต่วันนี้ บุรุษอาวุโสวัย 75 ปี อย่าง สหาก ซอหะซัน หรือที่รู้จักกันในนามลุงสาหะ เขยรือเสาะจากจังหวัดฉะเชิงเทรา กลับกลายเป็นผู้นำทางการเกษตรคนสำคัญ แห่งหมู่ที่ 1 ตำบลรือเสาะออก ซึ่งมีรางวัลการันตีมากมาย

“สมัยนั้นผมเป็นนายช่างรัฐวิสาหกิจ เกษียณออกมาแล้วมีบริษัทขอรับตัวไปเป็นนายช่างอยู่ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ได้เจอเนื้อคู่ที่นั่น เขาทำงานบ้านที่นั่นแล้วก็ค้าขายด้วย แต่ด้วยความที่ฝ่ายหญิงเป็นมุสลิมอาศัยในเขตศักดิ์สิทธิ์ ไทยพุทธจะเข้าไปภายในไม่ได้ ตอนนั้นลุงรับผักมาขายเป็นรายได้เสริม ได้เจอกันบ่อยๆ ก็แต่งงานกัน ลุงก็ยังรับผักไปส่งเหมือนเดิม จนกระทั่งแฟนป่วยเป็นเบาหวาน เป็นแผลที่เท้า ต้องวิ่งรับส่งโรงพยาบาลบ่อยๆ วันหนึ่งหมอบอกให้ซื้อน้ำส้มสายชูเพื่อล้างแผลแทน แล้วโรคก็กำเริบ เลยโทรถามน้องสาวของแฟนว่าจะทำอย่างไรดี เขาก็ว่าให้พากลับบ้าน” ลุงสาหะย้อนรำลึกถึงเหตุการณ์สมัยสิบกว่าปีที่แล้ว

กลับมาบ้าน ลุงสาหะไปเจอต้นมะนาว เลยซื้อมาปลูกทิ้งไว้ 2 ต้น แต่ด้วยภารกิจที่คั่งค้างอยู่ จึงต้องกลับไปทำงานที่ซาอุดิอาระเบียอีกรอบ ทำได้ประมาณ 4-5 เดือน ก็เดินทางกลับมาเยี่ยมภรรยาที่เมืองไทย ระหว่างพักเปลี่ยนเครื่องบินที่ดูไบ ลุงสาหะไปเจอกับวิศวกรคนไทยที่กำลังรอขึ้นเครื่องลำเดียวกัน พูดคุยถูกคอ ซึ่งตอนนั้นวิศวกรสั่งน้ำส้มมาให้ลองกิน 4 แก้ว 4 แบบ แบ่งกันดื่ม เมื่อวิศวกรคนนั้นถามถึงรสชาติของน้ำส้มแต่ละแก้วว่าเป็นอย่างไร ลุงสาหะตอบว่าดี เขาก็บอกว่าจริงๆ นี่ไม่ใช่น้ำส้ม แต่เป็นน้ำมะนาว จากนั้นเขายังเล่าต่อไปอีกว่า เวลานี้เลิกทำงานเป็นวิศวกรแล้ว เพราะเพิ่งซื้อที่มา 5 ไร่เพื่อทำแปลงเกษตร จะปลูกมะนาวทั้งหมด จังหวะที่ลุงสาหะได้ยินคำตอบ ก็เกิดความรู้สึกประทับใจในความคิดของชายคนนั้น บวกกับนึกถึงต้นมะนาวที่เคยปลูกไว้ เลยตัดสินใจว่าจะไม่กลับไปทำงานที่ซาอุดิอาระเบียอีกแล้ว

พอกลับมาถึงบ้าน ช่วงปี 2551 จึงเริ่มทดลองทำเกษตร ปลูกทั้งถั่วฝักยาว มะนาว ค่อยๆ เก็บเล็กผสมน้อย ศึกษาจากหนังสือการเกษตร ผสมกับประสบการณ์จริงไปเรื่อยๆ โชคดีที่มีคนรอบข้างดี ไม่ว่าจะเป็น สุดิง อาแว อาสาสมัครเกษตรระดับตำบล หรือ มะลาเย็น เพ็งมีดิง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ตำบลรือเสาะออก คอยให้คำแนะนำอยู่ตลอด

“ลุงเริ่มปลูกมะนาวลงไปในร่องถั่วตามที่ได้คำแนะนำมา ปรากฏว่าดีเกินคาด ทั้งมะนาว ถั่วฝักยาว ก็เลยเริ่มปลูกพืชอีกมากมาย ยอมรับตามตรงเลยว่า เมื่อก่อนฟังไม่รู้เรื่อง คำว่าเศรษฐกิจพอเพียงที่พระมหากษัตริย์ตรัสไว้ ไม่เคยสนใจเลย ทำไปเรื่อย กระทั่งวันนี้เราไม่ต้องเดินทางไปหาสตางค์เลย แต่สตางค์เดินทางมาหาเราเอง เล็กๆ น้อยๆ แต่เป็นความสุขใจ” ลุงสาหะว่าเช่นนั้น

สำหรับเคล็ดลับในการปลูก ลุงสาหะบอกว่าไม่มีอะไรพิเศษ ปลูกไปตามธรรมดามีปัญหาอะไร ก็ค่อยสังเกตเอา ถามเขาบ้าง ซึ่งหากจะสรุปเป็นทฤษฎีชัดเจนคงไม่ได้ อธิบายง่ายๆ คือใช้หลักความเหมาะสมมากกว่า อย่างเช่น มะนาวกิ่งหนึ่งมีผลขึ้นมา 7-8 ลูก ก็ต้องตัดออกไปบ้าง เลือกลูกดีๆ เอาไว้เพื่อให้โตได้เต็มที่

หากเทียบกับชีวิตในต่างประเทศ ลุงสาหะบอกว่า อยู่บ้านมีความสุขกว่ามาก เพราะไม่ต้องเร่งรีบ อยู่ที่นั่นถึงเงินเดือนจะดีแต่ค่าครองชีพก็สูงเช่นกัน ไหนจะค่าเช่าบ้าน ค่าต่อทะเบียนรถ ค่าอาหารก็แทบจะเดือนชนเดือนแล้ว แต่การอยู่ที่นี่พออยู่พอกิน ผลผลิตนำไปขายที่โรงพยาบาลรือเสาะได้ ไปส่งให้พ่อค้าแม่ค้าขายในตลาดก็ได้ แล้วพวกกิ่งก้านสาขาของต้นไม้ยังสามารถนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิง เป็นน้ำส้มควันไม้ สร้างรายได้เสริมขึ้นมา

“สมัยก่อนตีสองตื่นมาเก็บแตงกวา 50-60 กิโลกรัม พอตอนเย็นแม่บ้านเก็บถั่วฝักยาวอีก 30 กิโลกรัม แต่งานพวกนี้ทำไม่ไหวแล้ว เพราะเราอายุมาก ไหนจะส่งตลาด กลับมายังต้องรดน้ำ ก็เลยคิดว่าจะเกษียณ รอรับบำนาญจากมะนาวเป็นหลัก ส่วนพืชผักก็เปิดให้คนเข้ามาเก็บเอง เลือกเอง จะได้ถูกใจ เสร็จแล้วก็จ่ายเงิน โดยเราจะคิดราคาให้ถูกหน่อย จากเดิมเคยส่งอยู่กิโลกรัมละ 70 บาทก็เหลือ 65 บาทพอ” ลุงสาหะพูดทั้งใบหน้าที่เปื้อนยิ้ม

จากความตั้งใจของของลุงสาหะ ทำให้วันนี้สวนของลุงสาหะกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ ขนาดผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสยังต้องแวะเวียนมาเยี่ยมชม ขณะเดียวกันที่นี่ยังเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านบลูกา ได้รับรางวัลที่ 1 งานวันลองกอง ประจำปี 2555 รวมไปถึงเกียรติประวัติส่วนตัวของลุงสาหะ ที่ได้รับยกย่องให้เป็นคนดีศรีนรา ปี 2552 อีกด้วย