เยาวชน… ต้นอ่อนทานตะวัน

DSC_0668

ที่โรงเรียนวัดราษฎร์สโมสร (ไพโรจน์วิทยา) หมู่ที่ 2 ตำบลรือเสาะ บ่มเพาะเยาวชนด้วยการให้พวกเขาเพาะต้นอ่อนทานตะวัน ผลผลิตที่เข้าสู่สายพานอาหารหลากหลายเมนู ทั้งไข่เจียวต้นอ่อนทานตะวัน แกงจืด ผัดน้ำมันหอย ชุบแป้งทอด หรือจะรับประทานสดๆ ก็อร่อยเหมือนกัน จนกลายเป็นสินค้าขายดี ที่ผู้ปกครองช่วยกันอุดหนุน

นวลละออ อุยยามวงศ์ ครูกลุ่มสาระการงานพื้นฐานอาชีพ เล่าว่า กิจกรรมนี้เกิดขึ้นในปี 2557 จากแนวคิดของ การัณย์ ศรัทธาทิพย์กุล ผู้อำนวยการโรงเรียน ที่อยากเห็นกิจกรรมที่น้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาใช้ให้เห็นผล จึงริเริ่มทำ โดยมีทานตะวันที่โดดเด่นขึ้นมา

“ต้นอ่อนทานตะวันปลูกง่าย กินง่าย เด็กๆ ชอบ โดยเมล็ดพันธุ์สั่งมาจากเพื่อนที่กรุงเทพฯ ทางครูเปิดโอกาสให้เด็กทุกชั้นมาดูวิธีการทำ แต่ที่ให้ทำจริงมีตั้งแต่ ป.4-6 ซึ่งอยู่ในชมรมเศรษฐกิจพอเพียง ครั้งหนึ่งมีเด็กเข้าร่วม 15 คน ทางครูจะถามก่อนว่ามีใครอยากทำ ปรากฏว่ายกมือกันเต็ม เราเลยเลือก ป.6 ก่อนเป็นหลัก เพราะเดี๋ยวก็จบแล้ว” ครูนวลละออว่า

ด.ช.ดีซัน มะดารี นักเรียนชั้น ป.6 และ ด.ญ.สุชานันท์ สุริยงค์ นักเรียนชั้น ป.5 ช่วยกันเล่าถึงข้อดีของดอกทานตะวันว่ามีคุณค่าทางอาหารหลายอย่าง มีโปรตีนสูงกว่าถั่วเหลือง มีวิตามิน A และ E ช่วยบำรุงสายตา วิตามิน B1, B6 และโอเมกา 3-6-9 ช่วยบำรุงเซลล์สมอง ป้องกันสมองเสื่อม ทั้งยังมีธาตุเหล็กสูง รักษาภาวะโรคโลหิตจาง ที่สำคัญยังช่วยชะลอวัยได้อีกด้วย

ส่วนวิธีเพาะต้นอ่อนทานตะวันนั้น ต้องใช้วัสดุอุปกรณ์ดังนี้ เมล็ดทานตะวัน 1 กิโลกรัม ดินปลูกขุยมะพร้าว 1 กระสอบ ขนาด 5 กิโลกรัม ตะกร้าพลาสติกทรงสี่เหลี่ยม ขนาด 4 นิ้ว X 5 นิ้ว ถุงพลาสติกสีดำทึบแสง และบัวรดน้ำ

“ลำดับแรกให้นำเมล็ดทานตะวันมาแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 1 คืน หรือราว 8-12 ชั่วโมง จากนั้นนำดินขุยมะพร้าวใส่ตะกร้า หนาประมาณ 1-2 เซนติเมตร นำเมล็ดทานตะวันที่แช่น้ำแล้วมาโรยบนดินขุยมะพร้าว พยายามอย่าให้เมล็ดซ้อนกัน ทำตะกร้าใหม่ให้เหมือน แล้วซ้อนตะกร้าเป็นชั้นๆ ใช้บัวรดน้ำให้ชุ่ม แล้วใช้ถุงดำคลุมไม่ให้โดนแดดเป็นเวลา 24 ชั่วโมง เมื่อครบให้เปิดถุงดำออก นำตะกร้าต้นอ่อนที่เริ่มงอกไปวางในห้องที่ไม่มีแสง แต่ต้องมีการระบายอากาศที่ดี โดยวางซ้อนแบบคอนโดเช่นเดิม พร้อมกับรดน้ำเช้า-เย็นทุกวัน จนถึงวันที่ 4 เว้นแต่วันที่ฝนตกให้รดช่วงเย็นอย่างเดียว ไม่เช่นนั้นอาจขึ้นราได้ พอถึงวันที่ 5 นำตะกร้าต้นอ่อนมาวางในห้องที่มีแสงปกติ และสามารถตัดต้นอ่อนทานตะวันขายได้” ด.ญ.สุชานันท์บรรยาย

ทั้งนี้เมล็ดทานตะวัน 1 กิโลกรัม สามารถนำมาเพาะได้ถึง 12 ตะกร้า ผลผลิตต่อตะกร้าหนึ่งสามารถใส่ได้ 3 ถุงเล็ก โดยผลผลิตที่ได้จะแบ่งออก 2 ส่วน คือนำมาประกอบอาหารกลางวันที่โรงเรียน ส่วนที่เหลือนำไปจำหน่าย ซึ่งมีทั้งแบบบรรจุถุงเล็ก 130 กรัม และถุงใหญ่ 300 กรัม ราคา 20 และ 50 บาทตามลำดับ นอกจากนี้ยังขายแบบเมล็ดสำเร็จรูปถุงละ 20 บาท โดยขายกันที่โรงเรียนช่วงหลังเลิกเรียน ส่วนเสาร์-อาทิตย์ นำไปฝากขายที่โรงพยาบาลรือเสาะ

“เราเคยพาเด็กไปออกงานมหกรรมแข่งขันงานเกษตรที่จัดโดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาสด้วย” ครูนวลละออกล่าวด้วยความภูมิใจ

การปลูกต้นอ่อนทานตะวันรอบหนึ่งใช้ต้นทุนประมาณ 300 บาท หลักๆ เป็นค่าดินกับค่าถุงพลาสติก ขายได้กำไรเฉลี่ย 200 บาท รายได้ส่วนหนึ่งนำไปซื้อเมล็ดมาเพาะพันธุ์ต่อ อีกส่วนหนึ่งนำกลับมาพัฒนาโรงเรียน เช่น ทาสีโต๊ะเก้าอี้ใหม่ นอกจากนั้นยังมีการแบ่งรายได้เล็กๆ น้อยๆ ให้แก่นักเรียนที่เป็นคนทำด้วย…