ชมรมว่ายน้ำ โรงเรียนอนุบาลรือเสาะ

DSC_0698

แม้จะเป็นชมรมว่ายน้ำเล็กๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หากแต่มีความฝันที่ยิ่งใหญ่

วิเชษฐ์ ไทยทองนุ่ม ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลรือเสาะ เล่าว่า ที่สร้างสระว่ายน้ำขึ้นเพราะอยากเสริมทักษะกีฬาว่ายน้ำ เพื่อให้เด็กมีสุขภาพที่ดี ต่อมาถึงได้มองว่าควรจะขยายต่อเป็นชมรมกีฬาว่ายน้ำ สร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่สังคมในภาพรวม ขณะเดียวกันก็เพื่อสร้างความเป็นเลิศให้แก่เยาวชนที่มีทักษะด้านนี้ให้สูงขึ้น ซึ่งก็มีรางวัลมากมายเป็นเครื่องยืนยันความสำเร็จ

ขณะที่ เอกพล เพ็ชรพวง เลขานุการชมรมกีฬาว่ายน้ำ และครูสอนว่ายน้ำโรงเรียนอนุบาลรือเสาะ เสริมว่า สระว่ายน้ำแห่งนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2554 เริ่มแรกเปิดให้นักเรียนเป็นหลัก ตั้งแต่ชั้นอนุบาลปีที่ 2 จนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยเสียค่าบำรุงเทอมละ 300 บาท ต่อมามีผู้สนใจ และทางโรงเรียนเล็งเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน เลยเปิดให้คนภายนอกเข้ามาใช้บริการด้วย

ปัจจุบันสระว่ายน้ำแห่งนี้มีผู้ใช้บริการ 3 กลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรกคือนักกีฬาของชมรม ซึ่งทางโรงเรียนอนุบาลรือเสาะจะคัดเลือกเด็กที่มีความสามารถ เพื่อมาฝึกฝนต่อและส่งเสริมให้เป็นนักกีฬา ซึ่ง ณ เวลานี้มีนักเรียนอยู่ในสังกัดทั้งหมด 7 คน โดยมี 3 คนที่จบการศึกษาจากที่นี่แล้ว แต่ยังฝึกฝนต่อ

“ช่วงเช้าฝึกตั้งแต่เวลา 7.30-9.00 น. และหลังเลิกเรียนเวลา 15.30-16.30 น. ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ ฝึกตั้งแต่เวลา 9.00-11.00 น. และ 16.00-18.00 น. โดยนักกีฬาของชมรมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย” เอกพลอธิบาย

ที่ผ่านมาตัวแทนนักกีฬาจากชมรมว่ายน้ำได้กวาดรางวัลมาแล้วมากมาย เช่น รางวัลชนะเลิศการแข่งขันว่ายน้ำ CJ Sport Club Championship รางวัลชนะเลิศการแข่งขันว่ายน้ำชิงแชมป์ 14 จังหวัดภาคใต้ รวมไปถึงกิจกรรมต่างๆ ที่สมาคมว่ายน้ำแห่งประเทศไทยจัดขึ้น

ส่วนกลุ่มที่ 2 นักเรียนทั่วไปของโรงเรียนอนุบาลรือเสาะ ได้ใช้สระว่ายน้ำในช่วงที่มีการจัดการเรียนการสอน โดยมีค่าใช้จ่ายภาคเรียนละ 300 บาท และกลุ่มที่ 3 คือสมาชิกทั่วไป ปัจจุบันมีอยู่ 70-80 คน เสียค่าบำรุงสระปีละ 300 บาท แล้วยังมีค่าลงสระสำหรับผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 30 บาท ลงสระได้เฉพาะช่วงเวลาหลังเลิกเรียนไปแล้ว คือ 16.00-20.00 น.

นอกจากนี้ชมรมยังสร้างสรรค์กิจกรรมธาราบำบัด หรือการออกกำลังกายในน้ำด้วย โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มคนที่ไม่สามารถออกกำลังกายหนักได้ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีรูปร่างอ้วน ผู้ที่มีปัญหาเรื่องเข่าหรือข้อเท้า ซึ่งรูปแบบของกิจกรรมจะคล้ายเป็นการเต้นแอโรบิกในน้ำ โดยกิจกรรมนี้ได้รับงบประมาณ 50,000 บาท จากกองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลตำบลรือเสาะ

“แต่ก่อนเราเคยจัดกิจกรรมแอโรบิกในน้ำสำหรับเด็ก แล้วผู้ใหญ่หลายคนเห็น อยากร่วมด้วย ก็เลยเปิดโครงการนี้ขึ้นมาแก่ผู้สนใจทั่วไป เป็นกิจกรรมที่ใช้ทุนจากกองทุนฯ ระยะเวลาโครงการ 3 เดือน โดยเรามีวิทยากรจากสถาบันพละมาให้ความรู้ จัดกิจกรรมทุกวันเสาร์ วันละประมาณ 2 ชั่วโมง ตั้งแต่ 4-6 โมงเย็น โดยกิจกรรมจะหมุนเวียนกัน บางวันเป็นการเต้นแอโรบิกในน้ำ บางวันใช้อุปกรณ์ยางยืด หรือโยคะในน้ำ” เลขานุการชมรมสรุป…