เปิดโมเดล 3 ชุมชน พลิกวิกฤต “โควิด-19” สู่นวัตกรรมสร้างสุข

เปิดโมเดล 3 ชุมชน พลิกวิกฤต “โควิด-19” สู่นวัตกรรมสร้างสุข

เมื่อเร็ว ๆ นี้..เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ และสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานเสวนาออนไลน์ ‘สูงอายุ’ ปลอดภัย ท้องถิ่นสร้างกลไกดูแล โดยเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ร่วมกัน ถ่ายทอดกระบวนการดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุติดเตียง 3 โมเดล 3 ชุมชนที่พลิกวิกฤติ“โควิด-19” สร้างนวัตกรรมสร้างสุขไว้อย่างน่าสนใจ

“พอเกิดวิกฤตโควิด-19 คนกลุ่มแรกที่เราคิดถึงก่อนเลยคือ ผู้สูงอายุ” เสียงบอกเล่าจาก ลัดดา ไชยชนะ นายกเทศมนตรี
ต.สองแคว อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ ถ่ายทอดกระบวนการดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุติดเตียงกว่า 40 ชีวิต โดยโจทย์แรกที่ต้องเผชิญสำหรับสองแคว คือทำอย่างไรจะหาหน้ากากอนามัยมาแจกจ่ายให้เพียงพอกับผู้สูงอายุในพื้นที่

จึงเกิดแนวคิดที่จะทำหน้ากากผ้า เพื่อแจกจ่ายให้กับผู้สูงอายุในชุมชน ด้วยการเชิญเครือข่ายมาร่วมกันผลิต โดยเทศบาลจัดหาวัสดุ จัดทำได้ในราคาเฉลี่ย 4.5 บาท ทำได้ 4,400 ชิ้น ซึ่งไม่เพียงผู้สูงอายุจะได้รับครบทุกคนแล้ว ยังครอบคลุมทุกคนในชุมชน ที่สำคัญงานนี้ทำให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วม และใช้เวลาว่างในการมาร่วมทำหน้ากาก​ แก้ปัญหาเรื่องความเบื่อหน่ายหรือซึมเศร้า

ขณะเดียวกัน ชุมชนยังจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่ง เพื่อเตรียมรับมือในกรณีหากมีเหตุฉุกเฉินด้านสุขภาพของผู้สูงวัย กรณีหากเกิดโรคระบาดมีสายด่วนฉุกเฉินผู้ป่วย โดยไม่ใช้เงินเทศบาลซื้อ แต่เป็นการประชาสัมพันธ์ให้ชุมชนบริจาคมาประมาณแสนกว่าบาท เราเตรียมถึงออกซิเจน เนื่องจากเชียงใหม่มีค่าฝุ่น PM2.5 สูงจึงต้องเตรียมความพร้อม การไปทำบุญที่วัดกับผู้สูงอายุเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ อย่างไรก็ดี ทางฝ่ายพระสงฆ์เองก็ให้ความร่วมมือในการทำพิธีกรรมต่าง ๆ แบบมีระยะห่าง ไม่ใกล้ชิด

ด้าน จิรทีปต์ ทวีสุข นายก อบต.ราชสถิตย์ อ.ไชโย จ.อ่างทอง กล่าวว่า อบต.ราชสถิตให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบาง รวมถึงผู้สูงอายุกลุ่มติดเตียง โดยมีการ จดส่งหน้ากากถึงบ้าน ผ่านทีมงานอาสาสมัคร พร้อมกับการแจกจ่ายถุงยังชีพ ที่ได้งบประมาณจากกองทุนสวัสดิการชุมชนแจกให้กับกลุ่มเปราะบางครบทุกคน จำนวน 100 ชุด ขณะที่ภายในชุมชนมีการพ่นยาเพื่อทำความสะอาดต่อเนื่อง มีประชากรในความดูแลประมาณ 2,300 คน ซึ่งเป็นผู้สูงอายุประมาณ 500 คน ช่วงแรกของสถานการณ์โควิดก็มีปัญหาเรื่องการจัดหาหน้ากากให้กับสมาชิกไม่ต่างกันด้วยการมองหาภาคีเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มสตรี ทีมงาน อสม.มาช่วยกันจ้างเย็บ ชิ้นละ 2 บาท โดยอบต.เป็นคนออกค่าวัตถุดิบให้

ส่วน สิทธิชัย วิลัยเลิศ นายก อบต.ควนใหญ่ อ.วังหิน จ.ศรีสะเกษ เล่าว่าควนใหญ่ เป็นพื้นที่ไข่แดง เพราะมีตลาดสดใหญ่ที่สุดในอำเภอ ทำให้คนทั้งอำเภอต้องมาซื้อข้าวของทำให้มีความเสี่ยงที่จะรับคนจากพื้นที่สีแดงมาด้วยเช่นกัน จึงมีแนวคิดการป้องกันการแพร่ระบาดโดยการตัดไฟตั้งแต่ต้นลม จากที่แต่ละวันจะมีคนนอกเดินทางมาที่ตลาดสดควนใหญ่ไม่น้อย อาจกลายเป็นช่องทางความเสี่ยง จึงตัดสินใจปิดชุมชน

เพราะเชื่อว่าการป้องกัน ดีกว่าการรักษา ปิดกิจกรรมทุกอย่างในพื้นที่ รวมถึงพื้นที่ที่จะรวมคนเยอะ ๆ ซึ่งคณะกรรมการควบคุมโรคระดับตำบลก็ให้ความเข้าใจ

สำหรับการดูแลผู้สูงอายุ เนื่องจากประชากรผู้สูงอายุในชุมชนบ้านควนใหญ่มี 1,151 คน จากประชากรในพื้นที่กว่าประมาณ 7,200 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยติดเตียง 28 คน จะมีงบประมาณหนึ่งแสนบาทที่สามารถนำใช้ได้เลย อบต.ควนใหญ่จึงจัดทำ 34 อ่างล้างมือติดตั้งรอบชุมชน

นายกฯ อบต. บ้านควนใหญ่ เล่าว่า ตั้งแต่โควิด หลังตลาดสดในชุมชนต้องปิดตัว จึงคิดทำตลาดนัดออนไลน์ตำบลควนใหญ่ เป็นตลาดที่ตอบโจทย์แนวคิด “คนซื้อไม่ได้กิน คนกินไม่ได้จ่ายเงิน” นั่นคือลูกหลานที่อยู่ทำงานอยู่กรุงเทพฯ หรือห่างไกลจากพ่อแม่ในชุมชน ต่างทำหน้าที่สั่งสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ แล้วให้ทางร้านค้าจัดส่งสินค้าให้พ่อแม่ ปู่ย่าที่อยู่ที่บ้าน

นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมรถพุ่มพวงปันสุข เจาะเป้าหมายแจกผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงที่ได้รับผบกระทบจากโควิด และผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ใช้แรงงานที่กลับมาบ้านเพราะตกงาน โดยไม่จำเป็นใช้งบราชการอย่างใด เพราะนำผลผลิตจากสมาชิกมาแจกจ่ายให้กับคนในชุมชน

“ได้ผักจาก นายก อบต. บ้าง นายอำเภอบ้างใคร มีของในสวนก็แบ่งปัน ร้านค้าก็จะบริจาคมาม่า อาหารแห้งให้เรา ตอนนี้ดำเนินการได้ 11 หมู่บ้านแล้ว บ้านใครมีอะไรเหลือเยอะก็บริจาค ส่วนกิจกรรมที่เกี่ยวกับคนหมู่มากเรางดหมดเลย เราจัดตั้งคณะกรรมการควบคุมโรคระดับตำบล เราห้ามรถพุ่มพวงเข้ามา ส่วนผู้สูงอายุมีบริการจแกรบดรัก (Grab Drug) ส่งยาถึงบ้าน”

วิกฤตครั้งนี้ ทำให้ควนใหญ่ยังมองการณ์ไกล ที่จะสร้างชุมชนยั่งยืน พึ่งตนเอง ด้วยสร้างความมั่นคงด้านแหล่งอาหาร จึงเริ่มไอเดียที่จะทดลอง บุกเบิก “โคกหนองนาโมเดลในชุมชน” เพราะตู้ปันสุขไม่ใช่ทางออก ทดลองทำแล้ว ไม่เหมาะกับในชุมชน แต่กำลังส่งเสริมให้แต่ละบ้านช่วยกันผลิตผักผลไม้ วัตถุดิบกันคนละอย่างและแจกจ่ายให้กับเพื่อนบ้าน

” เพราะในชุมชน คนบ้านติดกันก็รักกันอยู่แล้ว แต่ที่เราห่วงคือคนสูงอายุเขาไม่มีคนวัยแรงงานมาหาผักผลไม้ให้ เลยส่งเสริมให้บ้านข้าง ๆ ปลูก แล้วเกื้อกูลกันได้ บ้านหนึ่งมีอย่างหนึ่ง ห้าบ้าน ก็กินได้ห้าหกหลังคาเรือนแล้ว” นายก อบต.ควนใหญ่กล่าวทิ้งท้าย

.
ขอบคุณที่มา : www.bangkokbiznews.com
.
#ไม่ประมาทการ์ดอย่าตก
#เว้นระยะห่าง
#หมั่นล้างมือ
#เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่
#ชุมชนเข้มแข็ง
#สสส