สวนเกษตรพอเพียง โรงพยาบาลรือเสาะ

DSC_0831_1มุมฝั่งตะวันออกของโรงพยาบาลรือเสาะมีสวนสาธารณะขนาด 2 ไร่ บรรยากาศสุดแสนจะร่มรื่น รายล้อมไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ มีบึงขนาดย่อม เป็นพื้นที่สีเขียวที่เป็นทั้งปอดของโรงพยาบาล และแหล่งอาหารสำหรับบุคลากร

ชัชวาล บุญญาสิทธิ์ เจ้าหน้าที่พัสดุโรงพยาบาลแว้ง และ นูรียา ซาริคาน นักจัดการงานทั่วไป หรือ ‘พ่อบ้าน’ ซึ่งตามสมัยโบราณผู้รับผิดชอบตำแหน่งนี้มักเป็นผู้ชาย จึงเรียกติดปากว่าพ่อบ้าน เพราะต้องดูแลทั้งเรื่องอาคารสถานที่ ความเรียบร้อยทุกอย่างในโรงพยาบาล ทั้งสองเล่าให้ฟังถึงที่มาของสวนแห่งนี้ว่า เดิมพื้นที่เป็นสถานที่รกร้าง ดูแลยาก งูเยอะ และครั้งหนึ่งทางประมงจังหวัดนราธิวาสได้นำปลามาปล่อยในบ่อ แต่ปลาช่อนที่ค้างอยู่ในบ่อไล่กินปลาเล็กหมด กระทั่งปี 2556 ก็เริ่มมาบุกเบิกพื้นที่อย่างจริงจัง มีการปรับดิน ปลูกต้นไม้ ทำสวนผักผลไม้ ทั้งกล้วย ชะอม มะนาว และพืชหมุนเวียนต่างๆ โดยมี มาหะมะ แนแว รับหน้าที่เป็นผู้ดูแลสวนทั้งหมด

“ที่นี่ไม่ต้องใช้ปุ๋ยเลย เพราะตรงนี้เป็นบ่อบำบัดน้ำเสีย มีการเพิ่มออกซิเจนในน้ำอยู่แล้ว ทำให้มีอินทรียวัตถุเยอะ สามารถนำไปใช้รดผักได้เลย ส่วนพวกปลาช่อน น้องเขาจะตกมาทำอาหาร แต่ตกเท่าไรก็ไม่หมดสักที เพราะปลามาตามน้ำ ช่วงหน้าฝนจะเยอะมาก ล่าสุดทหาร 40 คนมาช่วยขุดลอกดิน เพื่อเอาปลาช่อนขึ้น แต่ก็ยังมีมาเรื่อยๆ” ชัชวาลกล่าว

ในปี 2557 ทางโรงพยาบาลรือเสาะจึงอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล ซึ่งเป็นลูกจ้างเหมา เงินเดือนประมาณ 5,000 กว่าบาท เข้ามาทำครัวโบราณในพื้นที่นี้ โดยใช้พืชผักที่ปลูก ปลาช่อนในบ่อ นำมาปรุงเป็นอาหารกลางวัน ทั้งปลาช่อนใบชะพู แกงส้มปลาช่อน โดยจุดเด่นของครัวแห่งนี้คือไม่ใช่แก๊ส ใช้แต่ไม้ฟืน ซึ่งหาได้ง่ายในพื้นที่เป็นเชื้อเพลิง การมีครัวนี้สามารถทอนค่าใช้จ่ายลงได้มาก จากแต่ก่อนอาหารมื้อหนึ่งต้องเสียเงินราว 50 บาท ก็เหลือเพียงหัวละ 8 บาท

“ทุกคนนำเงินนี้มารวมกันซื้อไข่ ข้าวสาร และวัตถุดิบต่างๆ โดยมีบุคลากรของโรงพยาบาล ทั้งผู้อำนวยการ คณะแพทย์ พยาบาล มีน้ำใจให้เงินเพิ่มเติม เพราะหลายๆ ครั้งพวกเขาก็ลงมาร่วมรับประทานอาหารที่นี่ด้วย และเวลาอาหารเหลือ คนที่มาช่วยงานก็สามารถนำกลับไปที่บ้านได้ โดยเราจัดเวรกันทำอาหาร ตั้งแต่ช่วง 11 โมงครึ่ง ทุกวันจันทร์-ศุกร์” พ่อบ้านหญิงว่า

นอกจากนี้ในครัวแห่งนี้ยังมีระบบจัดการขยะ โดยมีการแยกขยะขายได้ ขยะรีไซเคิล ขยะอันตราย และขยะทั่วไป ซึ่งตรงนี้โรงพยาบาลรือเสาะก็ทำอยู่แล้ว

ขณะเดียวกันยังมีเกษตรอำเภอเข้ามาช่วยอบรมให้ความรู้เรื่องการปลูกพืช เช่น ปลูกคะน้าตรงต้นกล้วยที่ตัดทิ้งแล้ว แทบไม่ต้องใช้ปุ๋ยหรือน้ำเลย ผักจะขึ้นเอง หรือการปรับดินอย่างไรให้เหมาะสม จะใช้กาบมะพร้าวโรยอย่างไรจึงจะดี

ทั้งนี้ในช่วงวันสำคัญ เช่น วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ก็จะมีกิจกรรมปลูกต้นไม้ ขุดลอกบ่อ โดยอาศัยกำลังคนจากในโรงพยาบาล ประชาชน และทหารมาร่วมลงแรง ทำให้พื้นที่ตรงนี้กลายเป็นความภาคภูมิใจของโรงพยาบาล ซึ่งได้รับรางวัลชมเชยเรื่องสุนทรียภาพอยู่เสมอ ทั้งยังกลายเป็นสถานที่ที่ประชาชนสามารถเข้ามาเรียนรู้การจัดการพื้นที่ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย

“พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ของการสร้างสัมพันธภาพ เพราะเราอยู่กันแบบพี่แบบน้อง อย่างบางครั้งผมก็ลงมาเล่นดนตรีให้ฟัง มีมุมประจำอยู่ เพลงที่ร้องก็แนวเพื่อชีวิต อย่างเพลงคนเก็บฟืนของคาราบาว ผมก็เอากาน้ำมาตั้ง เพื่อล้อไปกับเนื้อเพลง ไปเก็บไม้เก็บฟืนมาต้มกา น้ำเดือดเรามาแบ่งกันกิน” ชัชวาลทิ้งท้ายด้วยบทเพลงนี้…