ชมรมสืบทอดนกเขาชวาเสียงพื้นเมืองรือเสาะ

DSC_0857

นกเขาหลายสิบตัวกำลังประชันความสวยงามอยู่ในกรงที่เจ้าของเตรียมมาโชว์ให้เราได้ชื่นชม โดยใช้บริเวณที่ทำการชมรม ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 10 ริมถนนรือเสาะสนองกิจ

“ที่นี่เป็นต้นกำเนิดของ ‘นกเขาชวาพันธุ์ยะบะ’ ที่มีสุ้มเสียงไพเราะควบคู่มากับรูปร่างงดงาม” เจ๊ะอิสมาอิล อดุลภักดี ผู้ก่อตั้งชมรมนกเขาชวา และตัวแทนสมาคมนกเขาชวาภาคใต้ จั่วหัว

นั่นจึงเป็นที่มาให้เกิดการรวมตัวกันของบรรดาผู้เลี้ยงนกเขาชวาพันธุ์นี้ เพื่อสืบทอดนกเขาชวาเสียงพื้นเมืองรือเสาะ โดยมี นูรุดดีน อาซอตามา เป็นประธานชมรมนกเขาชวา

เจ๊ะอิสมาอิล พูดถึงนกเขาชวาสายพันธุ์ยะบะเพิ่มเติมว่า เป็นนกที่มีเสียงใหญ่ จังหวะดี ปลายสวย เป็นนกที่ใครฟังเสียงแล้วก็ชอบ ซึ่งเมื่อราว 20 ปีก่อน ผู้คนนิยมผสมพันธุ์นกเขาชวายะบะกับสายพันธุ์อื่น จนเวลาผ่านไปแทบไม่เหลือสายพันธุ์แท้ กระทั่งในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เขาได้รับนกเขาชวายะบะตัวเมียสายพันธุ์แท้มาจาก ต่วนมาฮา เด่นอุดม เมื่อได้มาจึงตามหาตัวผู้สายพันธุ์ยะบะมาผสม ซึ่งก็ไปได้มาจากประเทศมาเลเซีย แต่ว่าตัวผู้นั้นก็เป็นพันธุ์ผสม เขาจึงผสมนกเขาชวายะบะนี้ 3 ครั้ง จนได้พันธุ์บริสุทธิ์ที่สุดออกมาตามกฎพันธุศาสตร์ของเมนเดล

สำหรับวิธีจำแนกพันธุ์แท้กับพันธุ์ผสมนั้น หลักๆ ให้ดูที่ขนาดตัว กับลายตรงปลายคอ ถ้ามีแสดงว่าเป็นพันธุ์แท้ อีกอย่างลักษณะของเสียง พันธุ์แท้จะร้อง 3 จังหวะ

ทว่าการแข่งขันนกเขายุคใหม่ได้เปลี่ยนแปลงระบบจากเดิมที่ร้อง 3 จังหวะ มาเป็น 4-5 จังหวะแทน ทีมงานเลยได้หานกสายพันธุ์ที่ร้องหลายๆ จังหวะจากอินโดนีเซียมาผสมกับนกพันธุ์แท้อีกที เพื่อให้ได้นกเสียงเพราะที่ร้องได้ครบจังหวะมาแข่ง

“ปัจจุบันนกพันธุ์แท้เรายังเลี้ยงและผสมพันธุ์อยู่ แต่ก็ต้องดัดแปลงพันธุกรรมนกพันธุ์แท้ เพื่อให้เป็นนกเศรษฐกิจได้ ตอนนี้ผมแจกจ่ายสายพันธุ์ผสมให้เพื่อนในชมรมประมาณ 4 คู่ แล้วให้เขาไปผสมกันต่อเอง แต่ต้องยอมรับว่าสายพันธุ์ของเรายังร้องสู้ของอินโดนีเซียไม่ได้ เพราะของเราเป็นจังหวะลึก พอผสมกัน น้ำเสียงเลยไม่เข้ากัน ซึ่งเราก็ช่วยกันหาสายพันธุ์ที่มีจังหวะที่เหมาะสมมาผสมพันธุ์กับพันธุ์ยะบะต่อไป” เจ๊ะอิสมาอิลเล่า

ในปี 2555 ที่จัดตั้งชมรมนกเขาชวานี้ขึ้น เจ๊ะอิสมาอิลยังได้จัดการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ในช่วงเดือนมีนาคม มีผู้สนใจเข้าร่วมแข่งขันเป็นจำนวนมาก โดยการประกวดแบ่งเป็นการแข่งนกเสียงเล็ก เสียงกลาง เสียงใหญ่ อีกประเภทคือประกวดลูกนกที่อายุไม่เกิน 3 เดือน ลูกนกนี้สังเกตได้จากขอบตาที่เป็นสีขาว นอกเหนือจากถ้วยใหญ่แล้ว ยังมีการแข่งขันประจำสัปดาห์ทุกวันเสาร์ โดยเปิดให้เครือข่ายของชมรมผลัดกันเป็นเจ้าภาพ

“ที่อื่นๆ เขามีชมรมมาก่อนเรา ของเรานับเป็นชมรมใหม่ แต่มาแรง โดยมีเครือข่ายอยู่ทั่วนราธิวาส ใหญ่ที่สุดอยู่ที่อำเภอยี่งอ แต่เพิ่งจะในปี 2557 ที่เครือข่ายเริ่มจัดตั้งคณะทำงานจริงจังขึ้น” เจ๊ะอิสมาอิลว่า

ชมรมนกเขาชวาเสียงพื้นเมืองรือเสาะ เป็นศูนย์กลางของพื้นที่อำเภอรือเสาะ มีสมาชิกเป็นชมรมเครือข่ายทั้งสิ้น 23 ชมรมจากทั่วอำเภอรือเสาะ และอำเภอข้างเคียง คณะทำงานจะมีการประชุมกันเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อปรึกษากันเรื่องพัฒนาสายพันธุ์ ยาบำรุงนกแต่ละตัว ซึ่งทางฟาร์มต่างๆ จะช่วยกันคิดค้นขึ้นมา แล้วนำมาจำหน่ายจ่ายแจกให้แก่เพื่อนสมาชิกอีกที

นอกจากเรื่องนกเขาและเวทีการแข่งขันที่เริ่มพัฒนาขึ้นแล้ว ชมรมตั้งใจพัฒนากรรมการ ด้วยปัจจุบันมีสนามแข่งเกิดขึ้นเยอะ แต่กรรมการกลับมีจำนวนจำกัด เช่น ที่นี่ใช้กรรมการ 1 คนต่อนก 10 ตัว ในฐานะของตัวแทนสมาคมนกเขาชวาภาคใต้ เจ๊ะอิสมาอิลพยายามหาคนเก่งมาช่วยอบรม

“กรรมการที่ตัดสินนกเขาในเครือข่ายของชมรมเป็นที่เชื่อถือ มีความยุติธรรม เพราะหากเรารู้ว่าคนไหนไม่สุจริต จะส่งข่าวต่อไปทั้ง เครือข่ายภาคใต้ จนกรรมการคนนั้นไม่สามารถตัดสินในสนามใดๆ ได้อีก” เจ๊ะอิสมาอิลพูดพลางชี้ไปที่กรงนกกรงแรก “ตัวนั้น 7 หลัก สิงคโปร์ขอซื้อ เพราะหลังจากการแข่งขันจะมีการซื้อขายนกกัน เฉลี่ยตัวละประมาณ 30,000-40,000 บาท แล้วแต่ตกลงกัน รายได้จากการขายส่วนหนึ่งจะแบ่งเข้ากองกลางเพื่อเป็นการสนับสนุนกิจกรรมของชมรมต่อไป แต่ตัวนั้นได้เงินขนาดนั้น เจ้าของก็ไม่ขาย”…