เทศบาลตำบลไม้งาม จัดการขยะครบวงจร เริ่มต้นง่ายๆ ที่ครัวเรือน

เทศบาลตำบลไม้งาม จัดการขยะครบวงจร เริ่มต้นง่ายๆ ที่ครัวเรือน

.

หากนึกภาพย้อนกลับไปเมื่อราว 4-5 ปีที่แล้ว สภาพบ้านเมืองในพื้นที่ตำบลไม้งาม อำเภอเมือง จังหวัดตาก อาจไม่ได้แลดูสะอาดตาเหมือนอย่างในวันนี้ ซึ่งเดิมทีเคยประสบปัญหาขยะล้นเมือง แต่ละครัวเรือนไม่มีการคัดแยกขยะ ต่างคนต่างทิ้งปะปนกันจนล้นถัง ส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วบริเวณ แต่ด้วยความตื่นตัวของคนในชุมชน และนโยบายของเทศบาลที่เอาจริงเอาจัง ทำให้ตำบลไม้งามสามารถพลิกฟื้นกลับคืนมา กลายเป็นชุมชนน่าอยู่น่าอาศัยภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี

.

ปัญหาขยะที่สั่งสมมานานถูกสะสางอย่างจริงจังเมื่อปี 2559 อิสรีย์ ตะเภา ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลไม้งาม เล่าว่า ทางเทศบาลได้มีการจัดการปัญหาขยะทั้ง 9 หมู่บ้าน ด้วยการรณรงค์ให้ความรู้ในการคัดแยกและกำจัดขยะ โดยเริ่มต้นจากระดับครัวเรือนก่อนเป็นอันดับแรก เพราะถือเป็นแหล่งต้นกำเนิดขยะที่จำเป็นต้องจัดการตั้งแต่ต้นทาง

.

ขณะเดียวกัน ในระดับนโยบายก็ได้มีการดำเนินการเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันกับหน่วยงานราชการในพื้นที่ซึ่งมีทั้งสิ้น 17 หน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นผู้นำท้องที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โรงเรียน วัด องค์กรภาคประชาชน เพื่อขับเคลื่อนการจัดการปัญหาขยะให้ไปในทิศทางเดียวกันทุกระดับ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับอำเภอ ไปจนถึงระดับจังหวัด โดยร่วมกันแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติการในพื้นที่

.

ผลจากความร่วมมือร่วมใจและการผนึกกำลังของทุกฝ่าย ทำให้ปริมาณขยะต่อวันลดลงถึงเกือบ 4 เท่า

“เดิมทีพื้นที่ตำบลไม้งามมีขยะเฉลี่ย 25-26 ตันต่อวัน แต่นับตั้งแต่ปี 2559 ที่เริ่มมีการจัดการขยะอย่างบูรณาการ จนถึงปัจจุบันคือปี 2563 เราพบว่าปริมาณขยะลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือเพียง 7 ตันต่อวันเท่านั้น นอกจากนี้พฤติกรรมของชาวบ้านที่มีการนำขยะทุกประเภทมาทิ้งรวมกันในถังโดยไม่มีการคัดแยก ก็เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยแต่ละครัวเรือนจะคัดแยกขยะแต่ละประเภทก่อนนำมาทิ้ง ขณะที่ท้องถิ่นจะมีหน้าที่จัดเก็บและรวบรวมเพื่อนำไปฝังกลบต่อไป” อิสรีย์กล่าว

.

สำหรับกระบวนการทำงานในพื้นที่ ผอ.กองสาธารณสุขฯ เล่าว่า ทางเทศบาลจะใช้วิธีอบรมให้ความรู้กับทุกหมู่บ้าน และชักชวนให้ชาวบ้านหันมาร่วมมือกันจัดการขยะ โดยสนับสนุนให้มี ‘บ้านต้นแบบจัดการขยะ’ เพื่อเป็นแบบอย่างแก่คนในชุมชน เช่น ถังเล็กใส่ขยะทั่วไป ส่วนขยะอันตรายจะใช้ถังสีแดง ขณะที่ขยะอินทรีย์สามารถนำไปใช้ทำปุ๋ย ทำน้ำหมัก เพื่อประโยชน์ทางการเกษตรต่อไป

.

“เมื่อมีบ้านต้นแบบในลักษณะนี้ประมาณ 20 หลัง เราจะติดป้ายไว้ให้เห็น เพราะถ้าให้ชาวบ้านเริ่มต้นทำเองทั้งหมดก็คงเป็นไปไม่ได้ เราจึงเริ่มจากครัวเรือนที่สนใจและสมัครใจที่จะทำก่อน เพื่อให้ชาวบ้านคนอื่น ๆ เห็นผลที่ชัดเจนว่า บ้านต้นแบบมีความสะอาดเรียบร้อย ขยะบางส่วนที่คัดแยกไว้ยังนำไปขายได้อีก ชาวบ้านก็จะเกิดการตื่นตัวและหันมาคัดแยกขยะในครัวเรือนของตนเอง และที่สำคัญคือ ผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทุกพื้นที่จะต้องทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง โดยท้องถิ่นจะมีการสนับสนุนอุปกรณ์ให้” น.ส.อิสรีย์ ระบุ

.

ผอ.กองสาธารณสุขฯ ระบุด้วยว่า อีกหนึ่งผลงานที่สำคัญในการจัดการแก้ไขปัญหาขยะของตำบลไม้งาม คือ ‘โครงการถนนสะอาด’ ซึ่งมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานจากพื้นที่ต่าง ๆ เข้ามาดูงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อศึกษารูปแบบการบริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ซึ่งโครงการถนนสะอาดตลอดระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร คือเขตปลอดถังขยะ ทำให้ไม่มีการทิ้งขยะเรี่ยราด

.

“เวลามีถังขยะอยู่หน้าบ้านใคร ก็ไม่มีใครชอบ เพราะถ้าคนเห็นถังขยะวางตรงไหนก็จะพากันมาทิ้งตรงนั้น ท้องถิ่นของเราจึงทำโครงการถนนสะอาด ปลอดถังขยะ เริ่มต้นจากการทำประชาคมหมู่บ้านก่อน เพื่อถามความต้องการของชาวบ้านและสร้างความเข้าใจร่วมกัน โดยเทศบาลจะจัดเก็บถังขยะออกทั้งหมด แล้วให้ชาวบ้านทำการคัดแยกขยะในครัวเรือน ทั้งขยะทั่วไป ขยะอันตราย ขยะอินทรีย์ จากนั้นเทศบาลจะมีรถเก็บขยะไปให้บริการทุกวัน ชาวบ้านจะรู้ว่ารถขยะจะมาตอนไหน แล้วจะนำขยะที่คัดแยกแล้วมามัดปากถุงวางไว้หน้าบ้านของแต่ละคน ถนนทั้งสายจึงสะอาด ปราศจากถังขยะ ซึ่งขณะนี้เราดำเนินการมาได้ 4 หมู่บ้านแล้ว และจะขยายต่อเนื่องให้ครบทั้ง 9 หมู่บ้าน” อิสรีย์ระบุ

.

อิสรีย์กล่าวด้วยว่า การดำเนินกิจกรรมจัดการขยะนั้นครอบคลุมไปถึงหน่วยงานราชการในพื้นที่ทั้ง 17 แห่ง เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายระดับจังหวัดที่ตั้งเป้าเป็น ‘จังหวัดสะอาด’ โดยมีการติดตามการคัดแยกขยะ สร้างการตื่นตัวให้กับหน่วยงานราชการในพื้นที่ หากหน่วยงานใดไม่มีคัดแยกขยะ หรือทิ้งขยะไม่ถูกที่ ไม่ถูกถัง ไม่ถูกสีถัง รถเก็บขยะของเทศบาลจะไม่ให้บริการ

“มาตรการนี้เราใช้แบบเดียวกับการดำเนินการกับชาวบ้าน ทิ้งขยะไม่ถูกที่ ไม่ถูกถัง และไม่ถูกสีถัง เช่น เอาขยะอันตรายไปใส่ถังขยะทั่วไป รถขยะจะไม่ไปรับ โดยเราจะมีการพูดคุยทำความเข้าใจ ให้คำแนะนำ และทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับหน่วยงานราชการต่าง ๆ ก่อนเป็นเบื้องต้น และติดตามผลด้วยการถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน หากพบว่ามีการทิ้งขยะไม่ถูกต้อง เพื่อเอาข้อมูลมายืนยันให้ชัดเจน และหากยังไม่ปรับปรุงแก้ไขหรือปฏิบัติตามก็เข้าสู่มาตรการไม่ไปรับขยะ ซึ่งวิธีนี้ถือว่าทำให้เกิดการตื่นตัวในการคัดแยกขยะมากขึ้น ที่สำคัญในเมื่อชาวบ้านสามารถทำได้ คัดแยกขยะได้ และทำได้อย่างเรียบร้อย หน่วยงานราชการเองก็ต้องทำได้เช่นกัน” ผอ.กองสาธารณสุขฯ ระบุ

.

กล่าวได้ว่าการจัดขยะของเทศบาลตำบลไม้งามนับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงความจริงจังในการแก้ปัญหา สามารถสร้างความตระหนักให้ประชาชนและหน่วยงานราชการในพื้นที่ จนเกิดเป็นพลังมหาศาลในการจัดการขยะได้อย่างครบวงจร และก้าวถัดไปคือ การขยายผลไปยังเขตรอยต่อกับเทศบาลข้างเคียง เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายจังหวัดสะอาด ปราศจากขยะ

ร่วมกัน

.

#เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่

#ชุมชนเข้มแข็ง

#สสส