วงดนตรีภูไท

DSC_0510

ยามเย็นของวันที่เดินทางไปถึงนั้น ทางเทศบาลได้ดัดแปลงลานว่างหลังอาคารเทศบาลให้เป็นลานกิจกรรม มีเวทีพร้อม พระอาทิตย์ยังไม่ทันตกดี เยาวชน 6 ชีวิตกำลังบรรเลงเสียงเพลงเร้าให้คนเข้าร่วมงาน คนพื้นถิ่นหลายคนเปลี่ยนชุดที่สวมใส่เป็นชุดพื้นเมืองภูไท บรรยากาศโดยรอบสนุกสนาน รออีกไม่นานแขกจากต่างถิ่นที่เดินทางมาร่วมเรียนรู้พื้นที่ตำบลเหล่าใหญ่ก็จะมาพร้อมหน้าที่ลานแห่งนี้

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2554 เด็กหนุ่มชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายนาม อายุวัฒน์ คนใจบุญ ลูกหลานภูไทแท้ๆ ซึ่งมีความสนใจในเสียงดนตรีพื้นถิ่นเป็นทุนเดิม ได้ชักชวนเพื่อนฝูงอีก 3 คน ให้ลองหาประสบการณ์ชีวิต ด้วยเห็นว่าในช่วงนั้นที่ตำบลเหล่าใหญ่มีวงดนตรีของผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งมักจะแสดงในงานประจำปีต่างๆ จึงเข้าไปฝากเนื้อฝากตัวเป็นลูกศิษย์คุณตาเหล่านั้น ฝึกไปฝึกมาจนชำนาญ

“คุณตาให้เครื่องดนตรี ทั้งกลองพิณ กลองโซโล่ พวกเราจึงรวมตัวเป็น ‘วงกลองยาว’ ซ้อมกันแถวบ้านหลังเลิกเรียนทุกวัน จนมีคนสนใจเพิ่ม ขอร่วมผสมโรงด้วย สมาชิกจึงงอกเงยขึ้นเป็น 12 คน มาจากทั้งหมู่ที่ 1, 7 และ 8” อายุวัฒน์เล่า

เมื่อเป็นที่รู้จักของผู้คนในตำบล ประกอบกับวงผู้เฒ่าเริ่มโรยราขอวางมือพร้อมยกเครื่องดนตรีให้ลูกหลานหมด บรรดาผู้ที่สนใจ ทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน หรือประชาชนในพื้นที่ที่ต้องการจัดงานบุญ งานบวช งานแต่ง เลยเปลี่ยนมาใช้บริการน้องๆ กลุ่มนี้แทน

เพลงที่เล่นส่วนใหญ่เป็นเพลงภูไทแท้ๆ ทั้งลายรำภูไท ลายเซิ้ง ลายแมลงภู่ตอมดอก โดยงานแรกที่ถือเป็นการประเดิมเปิดตัว เป็นงานบุญประเพณีช่วงปลายปี 2555 ได้ค่าจ้างมา 2,000 บาท

“เวลาไปเล่นได้เงินมา หักค่าเดินทาง เอาเข้ากองกลางส่วนหนึ่ง ที่เหลือจะแบ่งให้สมาชิกเท่าๆ กันทุกคน” หัวหน้าวงว่า

วงมีงานเข้ามาเรื่อยๆ ทั้งในพื้นที่เอง และนอกพื้นที่ เฉลี่ยเดือนหนึ่ง 7-10 งาน สำหรับค่าใช้จ่ายนั้น หากอยู่ในพื้นที่ก็ยังคงราคาเดิม แต่ถ้านอกพื้นที่ก็ต้องบวกค่าน้ำมันเพิ่มเข้าไปอีกหน่อย เพราะทุกวันนี้วงมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเครื่องดนตรีที่ต้องซื้อเติมตลอด ไม่ว่าจะเป็นพิณหรือแคน

วันนี้วงกลองยาว มีสมาชิกอยู่ที่ 17-18 คน ส่วนใหญ่เรียนอยู่ระดับชั้นมัธยมศึกษาแล้ว แต่บางส่วนโดยเฉพาะรุ่นบุกเบิกอย่างอายุวัฒน์เพิ่งเรียนจบกัน

“ส่วนตัวก็คงจะได้เวลาพักแล้ว เพราะต้องไปเรียนต่อระดับปริญญาตรีในเมือง จำเป็นต้องส่งต่อให้รุ่นถัดไป ก็มี ธาดา ลัทธิ นักเรียน กศน.ตำบลเหล่าใหญ่ และ ชัยวัฒน์ ใจศิริ นักเรียน ปวช.ปี 1” อายุวัฒน์เล่าพลางชี้ไปที่น้องทั้งสองคน

เรียกว่าความคิดดี ทำดี ทั้งยังได้แรงสนับสนุนจากผู้ใหญ่ใจดีแบบนี้ ก็ยิ่งเป็นการการันตีว่า วงดนตรีของน้องๆ เยาวชนกลุ่มนี้ และดนตรีพื้นบ้านของชาวภูไทจะได้รับการสืบทอดต่อไปอีกนานแสนนาน