ป่า-น้ำ-สัตว์ ในถิ่นปกาเกอะญอ

DSC_0403

เราแวะซื้อหาน้ำติดไว้หลังรถเผื่อกระหาย ก่อนมุ่งขึ้นสู่บ้านแม่ลาก๊ะ ซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 20-30 กิโลเมตร ฟังดูเหมือนใกล้ แต่ด้วยเส้นทางหินลูกรังและเป็นทางชันไต่ขึ้น ทำให้เราไม่สามารถทำความเร็วได้เท่าไรนัก ทิวทัศน์สองข้างทางชวนให้เพลิดเพลินดี ระหว่างทางเราพบกับหญิงสูงวัยชาวปกาเกอะญอ ซึ่งขอร่วมทางไปกับเรา ทั้งสองจัดแจงตัวเองขึ้นกระบะหลังอย่างทะมัดทะแมง

ตลอดเส้นทางที่รถกระเด้งกระดอนไป หญิงชราทั้งสองดูไม่สะทกสะท้าน ผิดกับเราที่เริ่มวิงเวียน เราใช้เวลาราวหนึ่งชั่วโมงกว่า จนมาถึงช่วงหุบเขา ซึ่งเป็นที่ที่ชาวปกาเกอะญอตั้งรกรากกัน รถเคลื่อนตัวลงไปยังหมู่บ้าน ค่อยชะลอจนหยุดนิ่ง หญิงชราทั้งสองขอบคุณผู้นำทางของเรา และเดินหายลับไปจากสายตา

เดินดูบ้านเรือนที่สร้างขึ้นอย่างเรียบง่าย ยกกล้องขึ้นเก็บภาพไว้เพื่อการใช้งาน และไว้สะกิดความทรงจำในบางครั้ง จนเมื่อชายหนุ่มไว้หนวดสวมเสื้อเชิ้ตกางเกงขาสั้นเดินเข้ามาทักทาย แนะนำตัวกันจนรู้จักว่าเขาชื่อชาติ เป็นคนที่นี่ และมีหน้าที่การงานใน อบต. แต่กระนั้นเขาก็ยังไม่ลืมว่า ตัวเป็นชาวเขาชาวไร่

ชาตินำเราเข้าไปในบ้านของเขา แม่ของชาติเตรียมข้าวปลาอาหารไว้รอเรา เป็นมื้ออาหารที่เรียบง่าย มีไข่เจียวกับยำปลากระป๋อง แต่อร่อย เรากินอิ่มและนั่งพักสักครู่ ชาตินัดพ่อหลวงเอาไว้ ด้วยความที่ในใจกลางป่าเขา ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ การไปพบเจอใครสักคน ต้องนัดเอาไว้ก่อน

เราไปถึงบ้านพ่อหลวง แต่ไม่มีใครอยู่ ชาติสืบจนได้ความว่า พ่อหลวงออกไปทำงานที่ไร่ เราขึ้นกระบะเพื่อไปตามหาพ่อหลวง ลัดเลาะไปตามไหล่เขา ขณะที่แดดก็เริ่มแผดแรงจนแสบตัว เราแวะจอดให้ชาติถามเบาะแสกับชาวเขา ได้ความว่าพ่อหลวงลงไปยังหุบเขาหนึ่ง มองไปด้านล่างเห็นตอข้าวรอการย่อยสลาย เราเดินตามชาติไป ปัดป้องต้นหญ้าสูงที่เอนมาปิดหนทาง เมื่อมาถึงก็พบเจอแต่พื้นที่เกษตรกรรมไร้ผู้คน ชาติให้เรารอ เพื่อรุดไปเสาะหาเบาะแสเพิ่มเติม กลับมาได้ความเป็นมั่นเหมาะ ถึงตำแหน่งที่พ่อหลวงอยู่จริงๆ

ผู้นำทางขับรถเลาะลงมาด้วยความชำนาญ ดูสีหน้าของเขายิ้มแย้ม เขาคงชอบการผจญภัย ไม่ก็คงชอบใจที่เห็นคนภาคกลาง 2 คน กับสาวเมืองเหนืออีก 1 คน สะพายข้าวของมาทำสารคดีถึงกลางป่าเขา ผู้นำทางเรียกเราขึ้นรถ เช่นเดียวกับชาติที่ดิ่งขึ้นกระบะหลัง

“รถยนต์ที่มานี้ต้องมีขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้น” ผู้นำทางของเราบอก

เขาพาเราลัดเลาะเข้าไปยังป่าลึก บนถนนที่เรามั่นใจว่าคงไม่ใช่ถนน รถส่ายเอนไปมา และเคลื่อนตัวไปได้ช้า นั่งอยู่นานจนรถเริ่มชะลอและหยุดนิ่ง เบื้องหน้าเราเป็นธารน้ำไหลแรง รถคงมาไกลได้เพียงเท่านี้

“ต่อจากนี้ต้องเดินข้ามไป” ชาติบอกเราด้วยสำเนียงของคนปกาเกอะญอ

เราถอดรองเท้าแล้วหิ้วไป ธารน้ำไหลค่อนข้างแรง อาศัยชาติกับผู้นำทางคอยพาเราข้ามไป เมื่อข้ามมาถึงฝั่งนี้ เราพบกับชาวเขาคนหนึ่งเดินสวนมา บนไหล่มีฟางข้าวมัดใหญ่พาดอยู่ เดินมาอีกเล็กน้อย พบอีก 2 คน กำลังมัดฟางข้าว พวกเขาเพิ่งตีข้าวเสร็จกันไป ชาติถามชาวเขาที่พบเจอ แน่แท้แล้วว่า พ่อหลวงอยู่ลึกเข้าไปอีกหน่อย

การเดินเท้าเปล่าไปยังคันนานับเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่ แต่ทิวทัศน์โดยรอบก็ชวนให้เพลิดเพลินดี คงจะมีไม่กี่ครั้งในชีวิตที่เราจะได้มาในที่แบบนี้ ครู่หนึ่งที่หล่นหายไปในความคิดของตัวเอง เสียงชาติดังขึ้น เขาชี้ไปยังห้างหลังหนึ่งที่ปลายนา พ่อหลวงอยู่ที่นั่น

เราดั้นด้นมาหาพ่อหลวง เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติของที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ ต้นไม้ ลำน้ำ และผองสัตว์ ซึ่งถ่ายทอดกันมาหลายต่อหลายรุ่น ไม่จำเพาะแต่ที่บ้านแม่ลาก๊ะ หมู่ที่ 6 เท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงบ้านมะหินหลวง หมู่ที่ 8 และบ้านแม่โข่จู หมู่ที่ 10

ชาญชัย มีเบญจมาศ คือพ่อหลวงแห่งบ้านแม่ลาก๊ะ หมู่ที่ 6 เขาเล่าให้เราฟังว่า ความคิดเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาตินี้อยู่ในสายเลือดของชาวเขามานาน โดยเฉพาะเรื่องป่าไม้ ชาวปกาเกอะญอจะแบ่งพื้นที่ป่าออกเป็นโซน ประกอบด้วยป่าต้นน้ำ ป่าเพื่อการประกอบอาชีพ ป่าใช้สอยสาธารณะ และป่าเดปอ หรือป่าสะดือ ซึ่งถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ห้ามใครบุกรุกเด็ดขาด เพราะตามประเพณี เมื่อผู้หญิงในเผ่าคลอดทารกออกมาคนหนึ่ง จะมีการตัดสายสะดือด้วยผิวไม้ไผ่ จากนั้นห่อรกบรรจุลงในกระบอกไม้ไผ่ พ่อของเด็กจะนำรกนั้นไปแขวนไว้บนต้นไม้ในป่าเดปอ ต้นไม้ต้นนั้นจึงเปรียบเสมือนที่เก็บขวัญเด็ก หากใครไปตัด เชื่อว่าจะทำให้เด็กล้มป่วยหรือเสียชีวิตได้ แต่ถ้าต้นไม้นั้นตายลงหรือผุพัง ชาวบ้านจะทำบุญ และหาต้นไม้ประจำตัวให้ใหม่ และในวันสำคัญ ที่หมู่บ้านจะมีกิจกรรมบวชป่า บวชน้ำ ที่ทำมาต่อเนื่องกว่า 20 ปี จนกลายเป็นภูมิปัญญาที่สามารถขยายไปสู่เชื้อชาติอื่นๆ ที่อยู่ในละแวกเดียวกัน

“ป่าที่เราห้ามชาวบ้านตัดต้นไม้หรือเข้าไปยุ่มย่ามเด็ดขาด แม้แต่เห็ดหรือสัตว์ป่าก็ห้ามจับ คือป่าต้นน้ำ และป่าเดปอ หากใครฝ่าฝืนจะมีมาตรการลงโทษ แต่ด้วยความที่ทุกคนเป็นชนเผ่าเดียวกัน ความเชื่อต่างๆ จึงส่งผ่านกันรุ่นต่อรุ่น ไม่มีใครกล้าทำ เพราะถ้าบุกรุกจะมีอันเป็นไป ส่วนป่าใช้สอย เราเปิดโอกาสให้ชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์หาของป่าได้ แต่ไม่ใช่เพื่อการค้า อย่างเช่น ตัดไม้ไปปลูกบ้านได้ ทำฟืนได้ แต่ก่อนตัดต้องแจ้งให้คณะกรรมการของหมู่บ้าน 15 คน รับทราบ ทั้งจำนวนและวัตถุประสงค์ เพื่อหาข้อสรุปอีกครั้ง” พ่อหลวงชาญชัยเล่า โดยมีชาติเป็นล่ามคอยช่วยเหลือ

จากคติความเชื่อที่เป็นรากฐานเข้มแข็ง ทำให้ที่นี่มีความอุดมสมบูรณ์ มีน้ำกินน้ำใช้ตลอดปี เนื่องจากพื้นที่ต้นน้ำได้รับการป้องกันไว้อย่างดี โดยที่นี่ใช้ระบบถังพัก และต่อท่อประปาจากภูเขาไปยัง 120 หลังคาเรือน รวมประชากรกว่า 470 คน มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลระบบประปาภูเขาของหมู่บ้าน 1 คน ซึ่งแต่ละปี ผู้ดูแลจะได้รับค่าตอบแทนเป็นข้าว 1 ถัง ต่อ 1 ครัวเรือน

สำหรับไร่นา ชาวบ้านสามารถสูบน้ำห้วยแม่ลาก๊ะใช้ได้เลย ด้วยเป็นต้นน้ำ ไหลดี และยังสะอาด โดยชาวปกาเกอะญอถือว่าน้ำเป็นของศักดิ์สิทธิ์ จึงไม่ทิ้งขยะลงไปเด็ดขาด

สัตว์น้ำอย่างปลาก็ได้รับการอนุรักษ์ไว้ ในลำห้วยแม่ลาก๊ะมีปลาหลายชนิด แต่ที่เห็นเยอะมาก คือปลาพลวง ทางผู้นำหมู่บ้านรุ่นบุกเบิกได้นำแนวคิดเรื่องการจัดการป่าเข้ามาใช้ มีการกำหนดเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา ความยาวตามลำน้ำประมาณ 2 กิโลเมตร ประหนึ่งเป็น ‘วังปลา’ โดยออกกฎหมู่บ้านชัดเจน คือห้ามจับปลาในพื้นที่นั้นเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นคนในหมู่บ้านหรือคนนอก

“เราตั้งใจอนุรักษ์พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาเอาไว้ไม่ให้สูญหายไป โดยที่ผ่านมามีการออกกฎระเบียบไว้ 6-7 ข้อ เพื่อให้ทุกคนถือปฏิบัติ ตั้งแต่ห้ามจับปลาในเขตอนุรักษ์ ถ้าจับ ปรับตัวละ 500 บาท ห้ามปล่อยเป็ดลงในน้ำ ห้ามเด็กหรือคนนอกพื้นที่มาจับปลาเล่น เพราะปลาจะเจ็บ ห้ามทิ้งขยะ ห้ามใช้สารเคมีในพื้นที่ 2 กิโลเมตร และไม่ใช่เพียงแค่ปลาเท่านั้น สัตว์อื่นๆ ก็ห้ามจับเช่นเดียวกัน โดยเรามีคณะกรรมการหมู่บ้านออกไปดูแลเสมอ สัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพราะครั้งหนึ่งมีหมาไปโดนสารพิษตาย แล้วมีคนโยนลงไปในน้ำ ปลากินซากแล้วตาย” ผู้ใหญ่บ้านเล่า

ด้วยความเชื่อที่สั่งสมนี้เอง จึงกลายเป็นจิตสำนึกที่ปลูกฝังมาสู่ลูกหลานในพื้นที่ แม้เด็กหลายคนจะต้องลงจากดอย เพื่อไปศึกษาหาความรู้ตามโรงเรียนต่างๆ แต่พวกเขาไม่เคยละจิตสำนึกนี้ เมื่อกลับคืนสู่หมู่บ้าน ก็มาเป็นกำลังสำคัญในการอนุรักษ์

“ลำพังแค่การออกระเบียบคงไม่ได้ผล แต่สิ่งที่ทำให้เราอยู่ได้คือจารีตดั้งเดิม คนปกาเกอะญอเชื่อว่า ถ้านำของจากป่าอนุรักษ์ออกมา จะมีอันเป็นไป อย่างเห็ดในป่าอนุรักษ์ ดอกใหญ่ ถ้าเอาไปขายคงได้กิโลกรัมละ 300 บาท แต่ไม่มีใครเก็บไป เนื่องจากทุกคนให้ความเคารพยำเกรง แม้ชาวบ้านที่นี่จะมีหลายศาสนา แต่ความเชื่อดั้งเดิมยังอยู่” ผู้ใหญ่ชาญชัยกล่าวทิ้งท้าย