เมล็ดพันธุ์ข้าว บ้านมะหินหลวง

DSC_0487

เราลาผู้ใหญ่ชาญชัย แล้วเดินเท้ากลับทางเดิม คิดถึงเรื่องเล่าที่ผู้ใหญ่เล่า ชวนให้นึกถึงผืนป่าข้างล่าง และที่อื่นๆ ที่เคยไปมา กว่าจะอนุรักษ์ต้องรอให้หายไปมากโข บางทีคติความเชื่อเรื่องความเกรงกลัวต่อธรรมชาติ ก็กลับเป็นเรื่องที่อินเทรนด์ในเวลานี้

เราลุยข้ามลำน้ำกันอีกรอบ ขากลับดูง่ายดายกว่าเก่า คล้ายว่าเรามีประสบการณ์ ผู้นำทางของเราติดเครื่องยนต์รอ

“ไหนๆ ก็มาไกลขนาดนี้แล้ว ลองไปทางบ้านมะหินหลวง แล้วออกแม่โข่จู ที่จะมีทางเชื่อมไปทางแม่ลาก๊ะพอดี” ผู้นำทางว่า เราเองถือว่ามีประสบการณ์แล้ว ไปต่ออีกก็คงไม่เท่าไร

รถยนต์เคลื่อนตัวพาเราแหวกป่าฝ่าดง บางช่วงตอนของทาง ชาติต้องลงจากกระบะ คว้าพร้าคู่ใจฟันไผ่ที่สูงเอนจนปิดทาง

“จริงๆ ที่บ้านมะหินหลวง มีกลุ่มชาวเขาที่อนุรักษ์พันธุ์ข้าว น่าสนใจดี อยากลองไปคุยไหม ไหนๆ ก็ผ่านไปแล้ว” ผู้นำทางของเราเชื้อเชิญ ขณะหยุดรถรอให้ชาติจัดการกับต้นไผ่

เราไม่ลังเลสักนิด เวลามี ทางมี คนพร้อม ล่ามก็เช่นกัน ผู้นำทางจึงพาเราลัดเลาะผ่านทางอันแสนผจญภัย กระทั่งเลาะขึ้นมาจนถึงยอดดอยลูกหนึ่ง เราเริ่มมองเห็นบ้านเรือนของหมู่บ้านมะหินหลวง ถนนหนทางเริ่มดีขึ้น

ผู้นำทางของเราถามทางกับชาติ เรากำลังหาบ้านผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 8 เรามองตามปลายนิ้วของชาติ เห็นบ้านหลังหนึ่งจัดวางตัวเองท่ามกลางขุนเขา รถเคลื่อนตัวเข้าไปในตัวบ้าน ผู้คนดูประหม่ากับการมาถึงของเรา

สุขเกษม ชัยปรีชาเลิศ พ่อหลวงของบ้านมะหินหลวง ออกมาต้อนรับเรา ผู้นำทางชี้แจงวัตถุประสงค์ ก่อนที่ผู้ใหญ่บ้านจะเข้าไปในบ้าน ประกาศเสียงตามสาย เป็นภาษาของคนปกาเกอะญอ เราฟังได้ความแค่ 2 พยางค์ คือดำรง แน่ละว่าต้องเป็นชื่อคน

ไม่นานชายที่เราเชื่อว่าชื่อดำรงก็ขี่รถมาถึง พ่อหลวงจัดแจงชงกาแฟให้เราคนละถ้วย ก่อนนั่งลงพูดคุย เราได้ทราบว่า ชายผิวคล้ำแดดวัยกลางคน นัยน์ตากลมโต มีชื่อว่า ดำรง วนาวิไลกุล เป็นกรรมการหมู่บ้านที่นี่ และโชคดีที่เขาพูดภาษากลางได้พอตัว

‘บือปุลุ บือสุคี บือทอหลา บือบอ บือหมื่อกิ’ นี่เป็นชื่อพันธุ์ข้าวตามภาษาถิ่นของคนปกาเกอะญอที่ดำรงบอกกับเรา ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวที่พวกเขาปลูกเลี้ยงปากท้องมานานหลายชั่วอายุคน

ด้วยวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ ชาวบ้านยังคงประกอบอาชีพเกษตรกรรม ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ที่เป็นภูเขา ประชาชนที่นี่จึงยังชีพด้วยการทำไร่ ซึ่งกว่าเราจะเข้าใจว่าไร่ของพวกเขา ไม่ใช่ไร่อ้อย ไร่ข้าวโพด ก็ใช้เวลาอยู่นานสองนาน ด้วยว่าแท้จริงแล้วคือไร่ข้าว ส่วนบ้านไหนมั่งมีหน่อย บ้านนั้นจะมีนา ซึ่งก็คือพื้นที่ราบสำหรับปลูกข้าว

ว่ากันว่าข้าวไร่นั้นแตกต่างจากข้าวนา เพราะข้าวภูเขาไม่สามารถไถเตรียมดินหรือปรับระดับได้เหมือนพื้นที่ราบ ฉะนั้นชาวเขาจึงปลูกข้าวแบบหยอด คือใช้ไม้ปลายแหลมเจาะดินเป็นหลุมเล็กๆ ลึกประมาณ 3 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1 นิ้ว โดยแต่ละหลุมจะห่างกันประมาณ 25 เซนติเมตร และหยอดเมล็ดพันธุ์ประมาณ 5-8 เมล็ดต่อหลุม จากนั้นกลบดิน แล้วรอให้ฝนตกลงมา ด้วยน้ำไม่ขัง จึงใช้ระบบชลประทานทั่วไปไม่ได้ ต้องอาศัยความชื้นจากดิน เพื่อให้ข้าวเจริญเติบโตเป็นต้นออกมา

พ่อหลวงสุขเกษม เสริมว่า ข้าวไร่จะต้องใช้พันธุ์ข้าวที่แตกต่างจากข้าวนาทั่วไป เพราะต้องเป็นพันธุ์ที่ทนแดดทนฝน ทนศัตรูพืชมากกว่าข้าวนาอีกด้วย

สำหรับพันธุ์ข้าวที่นิยมปลูกกัน มีหลายประเภท อย่าง ‘บือปุลุ’ เมล็ดข้าวจะมีลักษณะค่อนไปทางกลม สมัยก่อนนิยมปลูกกันมาก เพราะคนที่นี่ไม่ค่อยมีข้าวกิน ข้าวชนิดนี้จะหุงขึ้นหม้อ มาช่วงหลังชาวบ้านปลูกข้าวได้มากขึ้น ความนิยมจึงลดลง

ส่วนพันธุ์ ‘บือสุคี’ ปลายเมล็ดมีสีคล้ำ หุงไม่ขึ้นหม้อ แต่กลิ่นหอมกว่า แล้วยังมี ‘บือทอหลา’ ซึ่งลักษณะของต้นเป็นใบยาวๆ เก็บเกี่ยวได้ช้าเมื่อเทียบกับพันธุ์อื่นๆ แล้วก็มี ‘บือบอ’ เป็นพันธุ์เมล็ดแข็งเหมือนบือปุลุ และ ‘บือหมื่นกิ’

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านจะระมัดระวังเรื่องการใช้พันธุ์ข้าว ไม่มีการทดลองหยอดพันธุ์ที่ไม่เคยปลูก เพราะหากมีปัญหา นั่นหมายถึงความเสียหาย

“คนมีไร่เล็กๆ และไม่มีนาจะนิยมปลูกบือปุลุมากที่สุด ตัวข้าวจะค่อนข้างแข็ง เคี้ยวแล้วมันดี ซึ่งเหตุผลที่มีหลายพันธุ์ เป็นเพราะแต่ละคนชอบกินข้าวไม่เหมือนกัน บ้านหนึ่งมักปลูกกัน 2-3 พันธุ์ แล้วคนที่นี่จะเน้นการปลูกข้าวเพื่อกินเท่านั้น เว้นแต่เหลือถึงค่อยขาย ซึ่งส่วนมากจะพอดี เหลือประมาณ 2-3 ถังเท่านั้น ส่วนขายก็ขายกันในพื้นที่ข้างเคียง ซื้อไปให้ไก่บ้าง เพราะว่าไก่ชอบกินข้าวพันธุ์บือปุลุ มันแข็งดี” ดำรงเล่า

จากเมล็ดพันธุ์ต่อยอดไปสู่กิจกรรมข้าวอื่นๆ ทั้งพิธีกรรมและการบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน หนึ่งในกระบวนการที่เห็นได้ชัด คือที่นี่ไม่มีใครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินแบบผูกขาด แต่จะใช้วิธีการหมุนเวียนพื้นที่เพาะปลูก โดยชาวบ้านจะแบ่งที่ดินออกเป็น 8 แปลงใหญ่ จากนั้นเลือกที่ดินแปลงหนึ่งเพื่อทำการเกษตร แล้วแบ่งแปลงย่อยๆ จัดสรรให้แก่สมาชิกในหมู่บ้านทั้ง 113 ครัวเรือน ซึ่งจะแบ่งน้อยหรือมาก ขึ้นอยู่กับขนาดครอบครัว พอถึงปีใหม่จะเวียนไปทำอีกแปลงหนึ่ง ทำเช่นนี้จนครบทั้ง 8 แปลง

“ในแต่ละช่วงของการทำไร่ เราจะมีพิธีกรรม อย่างช่วงเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มปลูกข้าว ก่อนลงพันธุ์ข้าวเมล็ดแรก จะมีพิธีผูกข้อมือ และทำแนวกันไฟ ซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิม โดยมีผู้นำทางด้านจิตวิญญาณของหมู่บ้านเป็นผู้ทำพิธี พอเดือนมิถุนายนจะมีพิธีผูกข้อมือสมาชิกในหมู่บ้านกันอีกรอบหนึ่ง และเมื่อถึงปลายเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายนจะเป็นฤดูเก็บเกี่ยว โดยพันธุ์บือปุลุจะเกี่ยวก่อนเป็นพันธุ์แรก หลังจากนั้นจึงเก็บเกี่ยวพันธุ์อื่นๆ จนแล้วเสร็จ เมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จจะมีพิธีปล่อยนกขึ้นสวรรค์ คล้ายเลี้ยงข้าวให้ผี ทุกคนจะเข้ามาช่วย” ดำรงอธิบาย

ที่สำคัญชาวบ้านจะไม่หยอดแค่เมล็ดข้าวเพียงลำพัง แต่จะหยอดเมล็ดพันธ์ุผักสวนครัวไปพร้อมๆ กัน ทั้งแตง เผือก มัน ซึ่งพืชพวกนี้ออกผลเร็ว ชาวบ้านจะเก็บเกี่ยวไปบริโภคก่อน

อีกนวัตกรรมหนึ่งที่ชาวบ้านมะหินหลวงช่วยกันทำ คือธนาคารข้าว ซึ่งเริ่มต้นเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน โดยการสนับสนุนของกองทุนธนาคารข้าว ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารงานของมูลนิธิคริสเตียนบริการแบ๊บติสท์ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือคนทุกข์ยากที่ไม่มีกำลังพอจะปลูกข้าวได้ เช่น คนพิการ คนเฒ่าคนแก่ ซึ่งสามารถมาเอาข้าวได้ฟรี รวมไปถึงคนที่ปลูกข้าวแล้วไม่พอกิน ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้คนหมู่บ้านอื่นที่อยู่ใกล้กันสามารถกู้ข้าวไปรับประทานได้

ช่วงแรกที่เริ่มทำ ชาวบ้านนำข้าวที่ได้หลังจากเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคมเข้ามาฝากไว้ที่ธนาคาร ครัวเรือนหนึ่งต้องฝากทั้งหมด 10 ถัง เมื่อถึงช่วงที่ข้าวในยุ้งฉางเริ่มร่อยหรอ สามารถมายืมข้าวได้ โดยให้แจ้งกับคณะกรรมการธนาคารข้าว ซึ่งมีพ่อหลวงเป็นประธาน โดยผู้ยืมจะต้องเสียดอกเบี้ยร้อยละ 10 ให้แก่ธนาคาร อธิบายง่ายๆ คือยืมข้าว 10 ถัง พอถึงช่วงเก็บเกี่ยวได้ข้าวมา ต้องส่งคืนทั้งหมด 11 ถัง

จากแนวทางการบริหารข้าวเช่นนี้ ทำให้บ้านมะหินหลวงมีความมั่นคงทางอาหาร ข้าวเต็มยุ้งฉางต่อเนื่องมาแล้วหลายปี ซึ่งเวลานี้คณะกรรมการกำลังคิดหาวิธีระบายข้าวเก่า โดยวิธีที่ทำกันอยู่ตอนนี้ คือยืมข้าวเก่าออกไปกิน แล้วเอาข้าวใหม่มาเปลี่ยนแทน

นอกจากธนาคารข้าวแล้ว ที่นี่ยังมีโรงสีขนาดเล็กของชุมชน โดยชาวบ้านระดมเงินจัดซื้อกันมาเอง การสีแต่ละครั้งคิดค่าไฟครั้งละ 7 บาท ซึ่งเงินนี้จะนำเข้ากองกลาง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าซ่อมเครื่องกล ส่วนเศษข้าวที่เหลือ เช่น ปลายข้าว รำ แกลบ เจ้าของสามารถนำไปเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ได้

วิถีชีวิตลักษณะนี้ ทำให้ชาวบ้านมะหินหลวง แทบไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เพราะทุกคนมีชีวิตเรียบง่าย ปลูกเพื่อกิน นับเป็นวิถีดั้งเดิมที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งแทบหาไม่ได้อีกแล้วในสังคมปัจจุบัน หรือสังคมที่เรารู้จัก…