เมืองปอนโฮมสเตย์

DSC_0830

จุดเริ่มต้นของการท่องเที่ยวภายในตำบลเมืองปอนมาจาก ‘โฮมสเตย์’ ซึ่งเรื่องนี้เราไม่ต้องเดินทางไปไหน แค่นั่งอยู่ที่โต๊ะรับประทานอาหารเช้าเท่านั้น ด้วย ฟองจันทร์ ศิริน้อย หรือ ครูอู๊ด ประธานกลุ่มเมืองปอนโฮมสเตย์ คือเจ้าของบ้านที่เรามาพักด้วย

ครูอู๊ด ย้อนความให้ฟังว่า ในราวปี 2546 การท่องเที่ยวของตำบลขุนยวมเริ่มได้รับความนิยม โดยมีหมุดหมายสำคัญอยู่ที่ทุ่งบัวตอง ณ ดอยแม่อูคอ ทว่าพอมากันเป็นจำนวนมาก ที่พักเริ่มไม่เพียงพอ เกิดเป็นปัญหาทิ้งไว้ให้ต้องครุ่นคิดกัน

ปีต่อมา สุรพล สัตยารักษ์ นายอำเภอขุนยวมในขณะนั้น ได้มาปรึกษากลุ่มครู ซึ่งเคยทำงานร่วมกันว่า น่าจะเปิดบ้านพักของแต่ละคนเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว

“ตอนนั้นเราไม่รู้หรอกว่าโฮมสเตย์คืออะไร ท่านอธิบายให้ฟังว่า เป็นการเปิดบ้านเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว เหมือนเราเปิดบ้านให้ญาติพัก จากนั้นก็เริ่มชวนคนในหมู่บ้านว่า มีใครสนใจจะทำบ้าง ได้มาทั้งหมด 5 หลัง แล้วไปค้นหาว่า ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีโฮมสเตย์อยู่ที่ไหนบ้าง ไปรู้ว่าที่ตำบลแม่ละนามี เลยลงขันเหมารถกัน โดยมีนายอำเภอคอยประสานงาน เราไปดูเพื่อให้รู้รูปแบบการต้อนรับ การเลี้ยงอาหาร การจัดการภายในบ้าน ซึ่งพอไปดูแล้ว ก็คิดว่าทำได้” ครูอู๊ดว่า

หลังกลับมา ครูอู๊ดและเพื่อนเริ่มทำการปรับปรุงบ้าน แต่ยังไม่ทันจะเสร็จสมบูรณ์ นายอำเภอสุรพลก็ส่งแขกกลุ่มแรกเข้ามาให้ 50 คน ซึ่งทางกลุ่มปฏิเสธ เพราะยังไม่พร้อม

“ถ้าไม่พร้อมสักที แล้วจะเริ่มได้เมื่อไร” นายอำเภอตอบกลับมาเช่นนั้น เป็นแรงฮึดให้กลุ่มตัดสินใจระดมเงินคนละ 10,000 บาท เพื่อซื้อที่นอน มุ้ง รับนักท่องเที่ยวกลุ่มแรก โดยนายอำเภอคอยสนับสนุนและประชาสัมพันธ์ให้อย่างต่อเนื่อง ทั้งยังผลักดันให้องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองปอนอุดหนุนงบประมาณช่วยเหลือปีละ 10,000 บาท ตั้งแต่ปี 2548 เมื่อพอเห็นหนทาง ก็เริ่มมีผู้สนใจเข้าร่วมมากขึ้น

“เวลามีนักท่องเที่ยวมา เราจะมีสมุดให้แสดงความคิดเห็น โดยเราจะบอกทุกคนก่อนเลยว่า ห้ามชมเรา เพราะถ้าชมแล้ว เราไม่รู้หนทางที่ต้องเดินต่อไป แต่ถ้าคุณติเรา เราสามารถแก้ไขปรับปรุง ซึ่งที่ผ่านมา เราถูกติเรื่องการต้อนรับ ด้วยความประหม่าบ้าง สะเพร่าบ้าง แล้วยังเรื่องที่นอน แก้วน้ำภาชนะที่ไม่พร้อม ซึ่งถ้าแขกมากันไม่มาก ก็อาศัยหยิบยืมจากบ้านอื่นมาช่วย”

จนปี 2549 สำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว (ปัจจุบันคือกรมการท่องเที่ยว) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เชิญกลุ่มเมืองปอนโฮมสเตย์ไปอบรมที่ตำบลบางเจ้าฉ่า จังหวัดอ่างทอง เพื่อเตรียมพร้อมสู่การประเมินมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย ซึ่งกลุ่มได้ส่งตัวแทนเข้าร่วม 4 คน ใช้เวลาอบรม 5 วันเต็ม พอเสร็จกระบวนการ กลุ่มได้กลับมาปรับปรุง เพื่อรอรับคณะกรรมการซึ่งเป็นตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ เช่น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงสาธารณสุข เข้ามาประเมิน ปรากฏว่าเพียงครั้งแรกก็ได้รับการรับรองทั้งหมด 7 หลัง

เมื่อได้รับมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย กลุ่มจึงสร้างระบบหุ้นส่วนขึ้นมา ให้สมาชิกลงเงินคนละ 1,000 บาทไว้เป็นกองกลาง และเมื่อมีแขกมาพัก ต้องหักอีกร้อยละ 10 ของรายได้ เข้ากองกลาง เพื่อบริหารจัดการภายในกลุ่ม รวมถึงใช้ในกิจการสาธารณประโยชน์ ซึ่งด้วยพื้นฐานของสมาชิกหลายคนเป็นครู จึงให้ทุนแก่นักเรียนที่ยากจนเสมอ

ทว่าการที่กลุ่มจะเข้มแข็ง ต้องอาศัยการมีส่วนร่วม จึงมีการปรึกษาหารือกันบ่อยครั้ง เพื่อหาจุดอ่อน รวมทั้งวิพากษ์ข้อเสนอแนะของแขกว่า จะนำมาปรับใช้ได้อย่างไร และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือการแบ่งสันปันส่วนการรับรองแขก ซึ่งกลุ่มจะใช้ระบบหมุนเวียนกันไป โดยมีการกำหนดคิวบ้านเอาไว้ชัดเจน และกรณีที่แขกมาน้อย แต่ละบ้านจะรับหน้าที่ดูแลกันเอง แต่ถ้ามาเป็นกลุ่มใหญ่ ทุกบ้านต้องมาช่วยกันรับแขก มีการแบ่งหน้าที่กันไป

“เราเริ่มมีแขกเยอะขึ้นเรื่อยๆ เพราะการท่องเที่ยวของจังหวัดแม่ฮ่องสอนเข้ามาช่วย และช่วงนั้นเราออกโทรทัศน์บ่อยมาก ทั้งรายการทั่วถิ่นแดนไทย พันแสนรุ้ง ทุ่งแสงตะวัน เมืองเรืองแสง คนค้นฅน กบนอกกะลา โดยจุดสำคัญที่เรายึดถือ คือไม่ทำงานเชิงรุก แต่ทำงานเชิงรับ เพราะถ้ารุกมากเกินไป บริษัททัวร์ต่างๆ เข้ามา กำหนดกฎเกณฑ์เงื่อนไขให้เรา ซึ่งเราไม่ต้องการ เราทำตามวิถีของตัวเอง ค่อยๆ เจริญเติบโต สิ่งที่เราได้ คือสิ่งที่ยังคงอยู่ นั่นคือชุมชนของเรา”

ปัจจุบัน กลุ่มเมืองปอนโฮมสเตย์ มีสมาชิกสามัญ 13 หลัง และสมาชิกสมทบอีก 20 หลัง ทั้งหมดอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 2 บ้านเมืองปอน คิดค่าบริการ 350 บาทต่อคนต่อคืน โดยครอบคลุมทั้งอาหารเช้า และอาหารเย็น อย่างไรก็ดี การที่มีสมาชิกเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว เป็นเพราะองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองปอนรับโครงการของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เข้ามา ซึ่งในเนื้องานให้ อบต.เมืองปอนจัดตั้งโฮมสเตย์เพื่อรองรับการเรียนรู้ จึงประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้บ้านต่างๆ เปิดเป็นโฮมสเตย์ จึงเกิดสมาชิกสมทบเพิ่มเข้ามา รับแขกของ สสส. ซึ่งครูอู๊ดยอมรับว่า จะจัดการให้สมาชิกสมทบทัดเทียมของเดิมยังต้องใช้เวลา เพราะกลุ่มหลักดำเนินการมาเกิน 10 ปีแล้ว แต่ก็พยายามเป็นพี่เลี้ยงคอยดูแล จัดมาตรฐานให้ใกล้เคียงกันมากที่สุด

“แขกที่เป็นนักท่องเที่ยวมากันมากช่วงตุลาคมถึงมกราคม สมาชิกบ้านไหนที่ยังไม่ผ่านการประเมินมาตรฐาน เราจะให้รับแขกเป็นครั้งคราว ค่อยๆ พัฒนากันไป โดยมีคณะกรรมการกลุ่มเป็นผู้ประเมินในเบื้องต้นก่อน ซึ่งถ้าหลังนั้นไม่ผ่าน เราต้องประเมินเรื่อยๆ จนได้มาตรฐาน บางครั้งเราต้องพาเขาไปนอน พาเข้าไปดู เพื่อให้รู้ว่าแบบไหนที่ได้คุณภาพ เครื่องนอนเป็นอย่างไร ห้องน้ำต้องสะอาดแค่ไหน ต้องมีสบู่ ผ้าเช็ดตัวสำรองไว้ให้ การปฏิบัติตัวในฐานะเจ้าบ้านต้องทำอย่างไร”

แม้วันนี้กลุ่มเมืองปอนโฮมสเตย์จะเป็นกลุ่มที่เข้มแข็งมากที่สุดกลุ่มหนึ่งในพื้นที่ตำบลเมืองปอน แต่กระนั้น สมาชิกไม่เคยหยุดพัฒนาตนเอง และพยายามหาต้นแบบที่โดดเด่น เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงโฮมสเตย์ให้ดีขึ้น บนพื้นฐานของการรักษาอัตลักษณ์ของพื้นที่ที่สั่งสมมานานให้คงอยู่สืบไป…