ปฏิทินวัฒนธรรม ‘เมืองปอน’

DSC_0417

นับเป็นผลพวงต่อยอดจากโฮมสเตย์ เมื่อแขกที่มาพักได้ถือโอกาสเดินสำรวจวิถีชีวิตของบ้านเมืองปอนไปด้วย ความสุกงอมทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในตัว จึงได้ประจักษ์แก่สายตา แทบไม่ต้องปรุงแต่งอะไรเพิ่มเติม

คนไทใหญ่ตั้งรกรากและอยู่ที่บ้านเมืองปอนมาหลายชั่วอายุคน ซึ่งคนกลุ่มนี้มีความเชื่อที่เข้มแข็งที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธ และความเชื่อของคนโบราณ ถึงแม้กาลเวลาจะผ่านไป แต่วิถีชีวิตดั้งเดิมที่ได้รับการปลูกฝังจากรุ่นสู่รุ่นยังคงอยู่ กลายเป็นวัตรปฏิบัติ ซึ่ง ณ เวลานี้เป็นเอกลักษณ์ และความภาคภูมิใจของคนเมืองปอน

เมื่อมีการเปิดโฮมสเตย์ภายในบ้านเมืองปอน แขกที่มาก็ได้เรียนรู้เรื่องราวของคนไทใหญ่ไปด้วย หลายครั้งมาพอดีกับเทศกาลสำคัญประจำถิ่น ก็พาให้ได้ร่วมเป็นสักขีพยาน จนเริ่มมีชื่อเสียงระดับหนึ่ง แขกเหรื่อที่มาพักไม่ตรงช่วงจึงขอให้จัดพิธีกรรมนั้นให้ชมเป็นขวัญตา ซึ่งเจ้าบ้านโฮมสเตย์จัดการให้ ด้วยหัวใจที่เปี่ยมด้วย
การบริการ แต่นั่นก็เป็นจุดบกพร่องที่เจ้าบ้านโฮมสเตย์หลงลืมไป ด้วยคนไทใหญ่ยังเคร่งครัดในความเชื่อ พิธีกรรมจึงไม่ใช่มหรสพเพื่อความเพลิดเพลิน นั่นจึงเป็นเหตุให้แกนนำจัดทำปฏิทินวัฒนธรรมขึ้น

กัลยา รักจันทร์ หรือ ครูแมว ในฐานะผู้บุกเบิกโฮมสเตย์ร่วมกับครูอู๊ด ได้เล่าให้เราฟังว่า ในช่วง 2 เดือนแรก คือ ‘เหลินเจ๋ง’ หรือเดือนอ้าย และ ‘เหลินก๋ำ’ หรือเดือนยี่ ชาวบ้านจะไม่ทำอะไร เพราะถือเป็นเดือนพักของคนไทใหญ่ กิจกรรมแรกของปีจะมาเริ่มใน ‘เหลินสาม’ หรือเดือนสาม คือประเพณี ‘หลู่ข้าวหย่ากู๊’ หรือถวายข้าวเหนียวแดง โดยชาวนาจะนำข้าวใหม่ที่เพิ่งเก็บเกี่ยวไปถวายวัด ด้วยเชื่อว่าจะได้บุญกุศล ตายไปเกิดบนสวรรค์ และเมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จ จะนำส่วนที่เหลือไปทำทานแก่คนเฒ่าคนแก่ หรือญาติสนิทมิตรสหาย และอีกประเพณีที่ทำในเดือนนี้ คือ ‘หลู่ก๋องโหล’ เป็นการถวายฟืนเป็นพุทธบูชา ด้วยเดือนสาม ซึ่งตรงกับเดือนกุมภาพันธ์อากาศจะค่อนข้างหนาว

พอ ‘เหลินสี่’ หรือเดือนสี่ ชาวไทใหญ่จะทำประเพณี ‘ปอยส่างลอง’ หรือการบรรพชาลูกชายเป็นสามเณรเป็นเวลา 1 เดือน เพราะคนที่นี่เชื่อว่า การบวชคือการดำเนินตามรอยพระพุทธองค์ เป็นการทำบุญที่ยิ่งใหญ่ บวชแล้วพ่อแม่ได้เกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์ แต่ถ้าบ้านไหนไม่มีบุตรชาย ใช้วิธีอุปถัมภ์ปัจจัยการบวชของลูกบ้านอื่นแทน โดยผู้สนับสนุนจะได้บุญตามไปด้วย

ช่วง ‘เหลินห้า’ หรือเดือนห้า คนไทใหญ่จะทำพิธี ‘กั่นตอ’ หรือประเพณีสงกรานต์ ซึ่งคนไทใหญ่จะให้ความสำคัญกับการขอขมาบิดามารดา ญาติผู้ใหญ่ พร้อมกับนำเครื่องไทยทาน ซึ่งประกอบไปด้วยขมิ้น ส้มป่อย เสื้อผ้าใหม่ ผลไม้ เพื่อขอขมา นอกจากนี้ยังสร้างสถานที่สรงน้ำพระขึ้นมาเฉพาะ เรียกว่า ‘จองซอน’ โดยอัญเชิญพระพุทธรูปจากวัดมาประดิษฐานไว้ ณ จองซอน เพื่อให้ชาวบ้านที่เลื่อมใสศรัทธาได้สรงน้ำพระ เพื่อความเป็นสิริมงคล

ส่วน ‘เหลินหก’ หรือเดือนหก มีพิธี ‘วานปะลีก’ หรือการทำบุญหมู่บ้านของคนไทใหญ่ ทำเฉพาะข้างขึ้นของวันพฤหัสบดีเท่านั้น ยกเว้นว่าสัปดาห์นั้นมีคนในหมู่บ้านเสียชีวิต ชาวบ้านจะถือเป็นอาเพศ ต้องเลื่อนออกไป สำหรับพิธีกรรม เริ่มตั้งแต่นิมนต์พระสงฆ์ไปทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์สี่มุมเมือง จากนั้นชาวบ้านจะนำน้ำขมิ้น ส้มป่อย พร้อมทั้งดอกไม้ทำเป็นตาแหลว ใบหนามเล็บแมว ใบผักกุ่ม ใบปานแข ใบถั่วแระ โดยนำใบหญ้าคามาทำเป็นเชือก สำหรับนำไปแขวนไว้ที่ประตูบ้าน ในขณะที่ทำพิธีจะมีคนนำตาแหลวไปปักไว้ที่หัวบ้าน ท้ายบ้าน ห้ามคนในออก ห้ามคนนอกเข้า เมื่อพิธีเสร็จจะยิงปืน เป็นสัญญาณให้รู้ทั่วกัน และจะมีเครื่องเซ่นใส่กระทงใหญ่ เรียกว่า ‘สะตวง’ นำส่งทั้ง 8 ทิศ

ต่อมาคือ ‘เหลินเจ็ด’ หรือเดือนเจ็ด ถึง ‘เหลินสิบ’ หรือเดือนสิบ ก็จะเข้าสู่พิธี ‘ปอยจาก๊ะ’ ซึ่งเป็นการทำบุญให้แก่ผู้ทรงศีล เนื่องในฤดูกาลเข้าพรรษา โดยคนไทใหญ่มีความเชื่อว่า การทำบุญกับคนธรรมดา 100 ครั้ง ไม่เท่ากับทำบุญกับผู้ทรงศีล 1 ครั้ง และจะไปค้างคืนที่วัดเพื่อปฏิบัติธรรมด้วย

พอ ‘เหลินสิบเอ็ด’ หรือเดือนสิบเอ็ด ขึ้น 1 ค่ำ ถึง 14 ค่ำ จะมีพิธี ‘แฮนซอมโก่จา’ เป็นพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้วายชนม์ในรอบปี ซึ่งจะมีการถวายตุงที่วัด เพื่อเป็นบันไดให้ผู้ล่วงลับขึ้นสวรรค์ และพอถึง 15 ค่ำ หรือวันออกพรรษา จะมีพิธี ‘ปอยเหลินสิบเอ็ด’ คนไทใหญ่จะทำจองพาราไว้ที่หน้าบ้าน ซึ่งเปรียบเสมือนซุ้มรับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลังจากโปรดมารดาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พร้อม ‘ก๊อกซอมต่อ’ หรือกระทงใบตองถวายด้วย

และสุดท้าย ‘เหลินสิบสอง’ หรือเดือนสิบสอง จะมีพิธี ‘ปอยหวั่งกะป่า’ เป็นการจำลองเขาวงกต โดยได้แรงบันดาลใจจากมหาเวสสันดรชาดก ช่วงที่พระเวสสันดรไปบำเพ็ญเพียรในป่าเขาวงกต ซึ่งเต็มไปด้วยเส้นทางสลับซับซ้อน ถ้าผู้ใดเข้าไปหาหรือไปทำบุญก็ตาม หากไม่มีบุญแล้ว จะไม่สามารถเข้าไปถึงอาศรมพระเวสสันดรได้ จะหลงทางไปมาอยู่ในป่าเขาวงกต นอกจากนี้ยังมีการจำลองปราสาทมหาวิหาร 8 หลัง ที่เศรษฐีในสมัยนั้นสร้างถวายแด่พระพุทธเจ้าอีกด้วย สำหรับวัตถุประสงค์ของประเพณีนี้ก็เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนได้เรียนรู้เรื่องราว
พุทธประวัติ และยังเป็นการสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในชุมชน

“กิจกรรมทั้งหมดถือเป็นวิถีชีวิตของคนไทใหญ่มานมนานแล้ว เพียงแต่เรายังไม่ทำให้เป็นระบบ หรือเขียนออกมาชัดเจนอย่างทุกวันนี้ จนกระทั่งเมื่อปี 2545 ที่เราเริ่มมาส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวมากขึ้น ก็เลยกำหนดขึ้นเป็นปฏิทินวัฒนธรรมไทใหญ่ ซึ่งข้อดีของการทำปฏิทินวัฒนธรรม คือคนให้ความสนใจมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้หลายคนให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้น้อยลง อย่างจองพาราก็เริ่มมีเลือนหาย เพราะคนคิดว่าไม่ทำก็ได้ แต่พอเราย้ำหรือพูดบ่อยๆ ก็เริ่มมีความตื่นตัวขึ้น คนที่อยากร่วมกิจกรรมมากขึ้น ที่ผ่านมาเราทำ 3 อย่างพร้อมกัน คืออนุรักษ์ สืบสาน และเผยแพร่ อย่างจองพารา เราให้เด็กๆ ที่โรงเรียนทำ ให้ปราชญ์ชาวบ้านมาสอน โดย อบต.สนับสนุนงบประมาณ แล้วแจกทุกบ้านไปเลย ประเพณีก็เริ่มกลับมา” ครูแมวฉายภาพที่ไปที่มาของปฏิทินวัฒนธรรม

ปัจจุบัน นอกจากประเพณีของชาวไทใหญ่แล้ว ยังมีการผนวกประเพณีของชาวปกาเกอะญออีก 2 กิจกรรมลงในปฏิทินด้วย คือกิจกรรม ‘มัดมือ’ อันเป็นพิธีกรรมบูชาผีก่อนที่จะปลูกข้าว และกิจกรรม ‘ลู่ข้าวใหม่’ หรือกินข้าวใหม่ ซึ่งเป็นพิธีกรรมหลังจากเกี่ยวข้าวเสร็จเรียบร้อย เพื่อให้สอดรับกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของเมืองปอน และสร้างสำนึกรักษ์วัฒนธรรมให้เกิดในจิตใจของคนตำบลเมืองปอนด้วย…