สตรีตัดเย็บเสื้อไตบ้านเมืองปอน

DSC_0615

เสื้อไตของคนไทใหญ่ ถือเป็นเอกลักษณ์หนึ่งที่มีความโดดเด่น ด้วยพันผูกกับวิถีชีวิตของคนที่นี่ และในปัจจุบันได้กลายเป็นเศรษฐกิจชุมชนที่สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ปีๆ หนึ่งไม่น้อยกว่า 700,000 บาทเลยทีเดียว และที่สำคัญ กัลยา รักจันทร์ หรือ ครูแมว ในฐานะแกนนำกลุ่มโฮมสเตย์ ได้นำกลุ่มเศรษฐกิจนี้ส่งเสริมการท่องเที่ยวของบ้านเมืองปอน โดยบรรจุเป็นกิจกรรมหนึ่งสำหรับนักท่องเที่ยว ให้มาสัมผัส เรียนรู้ภูมิปัญญานี้ รวมถึงซื้อหาเสื้อไตเป็นของฝาก หรือสวมใส่เอง

สมพร กอบทวีกุศล เป็นเหรัญญิก เธอเท้าความที่มาของกลุ่มให้ฟังว่า ก่อนจะมารวมตัวกันเป็นกลุ่ม แต่ละคนมีอาชีพปักผ้า เย็บผ้า ปักฉลุกันอยู่แล้ว ทำเป็นเสื้อไตแบบดั้งเดิมเหมือนสมัยที่ปู่ย่าตายายทำ จนกระทั่งปี 2545 สมาชิกรุ่นก่อตั้ง 3 คน คือ ช่อลัดดา สุปินธรรม สุปวีณา วงศ์สุวรรณ และตัวสมพรเอง เกิดความคิดว่า หากต่างคนต่างทำเช่นนี้โอกาสขยายกิจการ และสร้างรายได้ให้มั่นคง คงเป็นไปได้ยาก ทั้งสามจึงรวมตัวจัดตั้งกลุ่มสตรีตัดเย็บเสื้อไตบ้านเมืองปอนขึ้นมา โดยมีช่อลัดดารับหน้าที่เป็นประธานกลุ่ม

“เราคิดว่าหากไม่รวมกัน คนที่มีความสามารถเย็บได้ ปักได้ คงทำไปเรื่อยๆ มีอายุมากก็คงเลิก สูญหาย ไม่มีความยั่งยืน เพราะไม่มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งตอนรวมตัวครั้งแรก มีสมาชิกอยู่ประมาณ 30 คน ด้วยแต่ละบ้านอยากให้ลูกหลานมาเรียนรู้ด้วย โดยเราระดมหุ้นคนละ 500 บาท ได้เงินมา 15,000 บาท ถือว่าเยอะพอสมควร เราเอาเงินไปซื้อผ้า เมตรละ 20-30 บาท” สมพรเล่า

กลุ่มดำเนินงานมาเรื่อย ทุลักทุเลตามประสา ทำเสื้อวางขายในบ้าน ผ่านระยะหนึ่ง ทางพัฒนาชุมชนจังหวัดแม่ฮ่องสอนทราบข่าว จึงเข้ามาสนับสนุน โดยกลุ่มรู้ว่า สมาชิกหลายคนยังไม่มีทักษะการตัดการเย็บ จึงอยากได้เงินทุนสักก้อน เพื่อเป็นทุนในการฝึกอบรมภายในกลุ่ม ทางพัฒนาชุมชนฯ จึงพาไปศึกษาดูงานที่จังหวัเชียงใหม่เป็นเวลา 3 วัน และให้งบอุดหนุนมา 35,000 บาท เพื่อเป็นกองกลางซื้อผ้าในกลุ่ม

“เราแบ่งเงินส่วนหนึ่งไปซื้อผ้า ส่วนที่เหลือเจียดเป็นค่าจ้าง โดยเราจำแนกงานเป็นส่วนๆ แต่ละส่วนได้ค่าจ้างไม่เท่ากัน อย่างคนที่สร้างแบบกับคนตัด เราให้ 20 บาทต่อชิ้น ส่วนใหญ่เป็นคนเฒ่าคนแก่ แต่ตอนนี้ทำไม่ค่อยไหวแล้ว เราต้องทำแทน ขณะที่คนเย็บ หรือคนที่ไปต่อแขนต่อไหล่ ทุกวันนี้เราให้ 50 บาท และสุดท้ายคือทำกระดุม 5 คู่ เสื้อตัวหนึ่งจะได้ 40 บาท ถ้าเสื้อตัวใหญ่ มีกระดุม 6-7 คู่ เราให้ตัวละ 50 บาท แต่ก็มี 3-4 บ้าน ซื้อผ้าจากเราไปทำเองขายเอง เราบวกกำไรนิดหน่อย แต่โดยรวมถูกกว่าไปซื้อเอง” เหรัญญิกกลุ่มอธิบาย

ปัจจุบันกลุ่มสตรีฯ มีสมาชิกอยู่ 24 คน ในจำนวนนี้เป็นคนเย็บ 4 คน ทำกระดุม 5 คน ที่เหลือเป็นคนติดกระดุมกับเสื้อ โดยสินค้าที่ผ่านกระบวนการกลุ่มนั้นจะใช้ชื่อยี่ห้อว่า ‘ช่อลัดดา’

“สำหรับเสื้อไตของกลุ่มมีอยู่หลายแบบ เช่น แบบดั้งเดิม เป็นคอกลม แล้วก็มีแบบไหล่เลย เมื่อก่อนสมัยเป็นผ้าพื้น เราขายตัวละ 180-200 บาท แต่ทุกวันนี้เราเปลี่ยนมาใช้ผ้าฝ้าย ต้นทุนสูงขึ้น จึงขายตัวละ 300-350 บาท อีกแบบเป็นคอจีน ลักษณะคล้ายๆ กับแบบดั้งเดิม แต่มีการต่อแขนเสริมไหล่เพิ่มขึ้นมา ซึ่งแบบหลังนี้เริ่มเป็นที่นิยมของลูกค้า นอกจากนี้ยังมีเสื้อปักไทใหญ่ โดยเราใช้ผ้าไหม ปักลายฉลุ ขายอยู่ตัวละ 1,000 บาท โดยกลุ่มจะต้องจ่ายค่าปัก 200 บาท และค่าฉลุ 350 บาท แต่ถ้าเป็นเสื้อปักอย่างเดียว ไม่ได้ทำลายฉลุ ราคาเสื้อจะตกอยู่ที่ 700 บาท”

อย่างไรก็ดี กว่าเสื้อไตจะเป็นที่รู้จักเช่นทุกวันนี้ สมพรบอกว่า ต้องทำตลาดนานถึง 3-4 ปีเลยทีเดียว ช่วงนั้นต้องหาวิธีประชาสัมพันธ์ เช่น เวลาใครชวนไปอบรม สมาชิกจะใส่เสื้อไตไป เป็นการแนะนำตัว และถือโอกาสขายไปในตัว จนเริ่มเป็นที่รู้จัก ซึ่งต้องขอบคุณหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาสนับสนุน เช่น องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองปอนนำผลิตภัณฑ์ของกลุ่มไปเผยแพร่ในเว็บไซต์ ส่วนองค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอนก็ช่วยนำสินค้าไปวางในร้านเฮ็ดก้อเหลียว ขณะที่พัฒนาชุมชนก็สนับสนุนให้กลุ่มส่งผลิตภัณฑ์ไปคัดสรรสินค้า OTOP ต่อเนื่องกัน 3 ครั้ง ซึ่งกลุ่มได้รับ 4 ดาวมาโดยตลอด

“ทุกวันนี้เดือนหนึ่งมีออร์เดอร์เข้ามาประมาณ 300 กว่าตัว แต่เราทำไม่ค่อยทัน เพราะตัวหนึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 4-5 วัน และถ้าปักด้วย ยิ่งนานเข้าไปใหญ่ โดยกลุ่มมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 60,000 บาท จำนวนนี้เป็นกำไรประมาณ 7,000-8,000 บาท เพราะเราไม่ได้ขายแพง” สมพรว่า

กำไรที่ได้มา กลุ่มจะกันครึ่งหนึ่งเข้าเป็นกองกลางของกลุ่ม เพื่อใช้เป็นค่าบริหารจัดการทั่วไป อย่างเช่นการประชุม หรือไปดูงาน ส่วนที่เหลือจะนำมาปันให้สมาชิกตามความเหมาะสม โดยกลุ่มเน้นหลักทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย ขณะเดียวกันทุกๆ 3 เดือน จะมีการประชุมปรึกษากัน เพื่อกำหนดแนวทางของกลุ่ม

“เมื่อก่อนงานนี้เป็นเพียงอาชีพเสริม แต่เวลานี้กลายเป็นอาชีพหลักไปแล้ว เพราะคนไหนที่ขยันมาก จะได้เงินสูงถึง 7,000-8,000 บาทต่อเดือนเลยทีเดียว ที่สำคัญเราพยายามสอนเด็กรุ่นใหม่ๆ กับผู้ใหญ่ที่ว่างงานให้ทำเสื้อไต เพื่อให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” เหรัญญิกกลุ่มทิ้งท้าย…