กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารดอกเอื้องงาม

DSC_0494_1

จุดเริ่มต้นของกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารดอกเอื้องงามมาจากกล้วย ตามต่อมาด้วยอะไรต่อมิอะไรอีกมาก สร้างอาชีพและรายได้ให้กับคนในชุมชน ที่สำคัญยังเป็นหนึ่งฐานการท่องเที่ยวประจำบ้านเมืองปอนด้วย

“เมื่อก่อนที่เมืองปอนมีกล้วยเยอะมาก ซึ่งพอขายไม่ได้ราคา พวกเรากลุ่มแม่บ้านเลยรวมตัวกัน เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพิ่มมูลค่าขึ้นมา” ฐิติรัตน์ ไพศาล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารบ้านเมืองปอน เกริ่นให้เราฟัง

กลุ่มฯ เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2544 ในเวลานั้นมีสมาชิกเพียง 3 คนเท่านั้น ลงเงินกันคนละ 500 บาท รวมแล้ว 1,500 บาท เพื่อเป็นทุนในการซื้อกล้วยจากชาวบ้าน

ผลิตภัณฑ์แรกที่กลุ่มทำคือกล้วยกวน โดยทำขายในหมู่บ้าน พอมีรายได้ ขณะเดียวกันสมาชิกทั้ง 3 คน เริ่มตระเวนไปยังพื้นที่อื่นๆ เพื่อเรียนรู้กรรมวิธีแปรรูปอาหารอื่นๆ เพิ่มเติม และเริ่มทดลองทำสินค้าใหม่ๆ ขึ้น โดยใช้บ้านของประธานเป็นศูนย์กลางการผลิต และการจัดจำหน่าย

ภายหลังจากเริ่มต้นกลุ่มได้เพียงปีกว่า กลุ่มมีความเข้มแข็งขึ้นตามลำดับ เริ่มสร้างรายได้ ทำให้มีผู้สนใจอยากเข้าเป็นสมาชิก จึงเริ่มนำระบบหุ้นเข้ามาใช้ โดยสมาชิกต้องซื้อหุ้น หุ้นละ 100 บาท ขณะที่สมาชิกรุ่นก่อตั้งได้รับหุ้นตามเงินลงทุนที่ลงไว้ในครั้งแรก โดยทุกวันนี้ กลุ่มมีสมาชิกทั้งหมด 26 คน บางคนปลูกผลไม้ส่ง บางคนเข้ามาเป็นผู้ผลิตขนม บางคนทั้งปลูกทั้งผลิต โดยคนที่มาทำงานที่กลุ่มจะได้รับค่าแรงวันละ 150 บาท

กลุ่มฯ ขึ้นทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน เมื่อปี 2552 โดยใช้ตราสินค้าว่า ‘เอื้องงาม’ ซึ่งเป็นชื่อของกลุ่มผลิตอาหารในอดีตของบ้านเมืองปอน

ณ วันนี้ กลุ่มมีผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 24 ชนิด ส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบภายในชุมชน สินค้าที่ขายดีที่สุดคือ ขนมข้าวตอกปั้น ซึ่งเป็นขนมมงคลของจังหวัดแม่ฮ่องสอน นิยมใช้ในงานปอยส่างลอง รองลงมาคือ แปโหย่ เป็นขนมถั่วกวนกับน้ำอ้อยและกะทิ นอกจากนี้ก็มีผลไม้กวนตามฤดูกาล เช่น กล้วย กระเจี๊ยบ มะขามป้อม โดยสินค้าแต่ละชนิดได้รับการตรวจสอบจากสาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีทะเบียน อย. เป็นที่เรียบร้อย

“เราส่งเสริมให้ชาวบ้านและสมาชิกปลูกผลไม้ส่งเรา อย่างกล้วย เรารับซื้อหวีละ 5 บาท กระเจี๊ยบ กิโลกรัมละ 5 บาท แต่ถ้าแกะมาแล้ว ให้กิโลกรัมละ 10 บาท โดยเราจะซื้อจากสมาชิกก่อน ถ้าไม่พอค่อยซื้อจากชาวบ้านทั่วไป” ประธานว่า

แต่กว่าที่กลุ่มจะเข้มแข็งได้ขนาดนี้ ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากหลายฝ่าย ทั้งองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองปอน เกษตรอำเภอขุนยวม ที่ช่วยสนับสนุนงบทำบรรจุภัณฑ์ สติ๊กเกอร์ และยังมีสำนักงานสหกรณ์จังหวัดแม่ฮ่องสอนอุดหนุนเงิน 100,000 บาท เพื่อสร้างโรงเก็บวัตถุดิบ และเป็นทุนหมุนเวียน

ทุกวันนี้ร้านขนมของกลุ่มฯ จะเปิดบริการตั้งแต่ 8.00-17.00 น.

“นอกจากที่นี่แล้ว ก็ยังมีร้านค้าในตัวจังหวัดแม่ฮ่องสอนรับไปขาย เช่น ร้านของ อบจ. หรือคนในหมู่บ้านที่ไปเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวในตัวจังหวัดแม่ฮ่องสอน รวมไปถึงตามคิวรถด้วย แต่หลักๆ เราจะทำไม่เยอะมาก คือให้เพียงพอสำหรับ 1 สัปดาห์ เว้นแต่จะมีออเดอร์เข้ามาเท่านั้น” ประธานว่า

สำหรับการจัดสรรรายได้ของกลุ่ม ฐิติรัตน์อธิบายว่า เงินกำไรที่ได้มาจะแบ่งออกเป็น 4 ส่วนเท่าๆ กัน ส่วนแรกเป็นทุนหมุนเวียนภายในกลุ่ม ส่วนต่อมาเป็นเงินปันผลให้แก่สมาชิก มากน้อยขึ้นอยู่กับหุ้นของแต่ละคน ส่วนที่ 3 เป็นค่าบริหารจัดการ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ และส่วนสุดท้าย สำหรับบริจาคเป็นสาธารณประโยชน์ อาทิ งานบุญประเพณี หรืองานวันเด็ก

อย่างไรก็ดี การขายสินค้าอย่างเดียวนั้นไม่สามารถสร้างความมั่นคงในชีวิตของสมาชิกได้ ทางกลุ่มจึงริเริ่มโครงการออมเงินวันละบาทมาตั้งแต่ปี 2552 ทำกันเรื่อยมาจนมียอดเงินออมสูงร่วม 100,000 บาท และนำมาต่อยอดให้สมาชิกในกลุ่มกู้ยืมไปทำทุน หรือบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า

“เราอยู่ได้ มีกินมีใช้ ไม่เดือดร้อน แล้วขนมของเราหลายอย่าง ก็เป็นขนมพื้นเมือง ซึ่งนอกจากสร้างรายได้ เรายังช่วยเผยแพร่วัฒนธรรมของคนไทใหญ่ให้เป็นที่รู้จัก อย่างเวลามีคณะนักท่องเที่ยวมา ทางครูแมวก็มาขอให้เราเป็นฐานเรียนรู้ ทำกิจกรรม สนุกดีเหมือนกัน” ประธานทิ้งท้าย…