เราเดินทางขยับออกมายังบ้านหมู่ที่ 2 บ้านเมืองปอน เพื่อมาดูงานหัตถกรรมอย่างหนึ่งของคนไทใหญ่ ทันทีที่รถลัดเลาะเข้ามายังรั้วบ้าน องปุ้น ไชยวิฑูรย์ ชายสูงวัยผู้เป็นเจ้าของบ้านก็ออกมาต้อนรับ
“คนไทใหญ่เรียกว่า กุ๊บไต” ลุงองปุ้นยื่นหมวกใบหนึ่งมาให้ชม
กุ๊บไต คือหมวกพื้นบ้านไทใหญ่ ลักษณะคล้ายกับงอบของภาคกลาง แต่รูปร่างเหมือนดอกเห็ดที่ยังบานไม่เต็มที่ มีจุกตรงกลางคล้ายกรวยยื่นไปด้านบน ส่วนใหญ่สานจากไม้ไผ่ชนิดเดียวกับที่เอามาทำข้าวหลาม ซึ่งมีลักษณะพิเศษ คือเนื้อเยื่อข้างในจะเหนียว และทนทานมาก ชาวบ้านหลายคนจึงนิยมใช้ทำตอก และจักสานเป็นเครื่องใช้ต่างๆ
“เมื่อก่อนลุงทำสวนกระเทียม แต่ว่าราคาอยู่ที่พ่อค้า เราต้องคอยถามพ่อค้าว่าจะซื้อราคาเท่าไร พอปี 2544 ลุงเลยตัดสินใจเลิก ทั้งทำนา ทำสวน เปลี่ยนมาทำหมวกแทน คราวนี้ราคาอยู่ที่ลุงแล้ว ลุงบอก 300 บาท เขาก็ซื้อ 300 บาท ลุงบอก 400 บาท เขาก็ซื้อ 400 บาท” ลุงองปุ้นว่า
แม้จะเป็นเรื่องท้าทายอยู่มาก เมื่อตัดสินใจเลิกอาชีพที่เลี้ยงตัวมาค่อนชีวิต ทว่าด้วยทักษะที่สั่งสมมาตั้งแต่สมัยวัยหนุ่ม บวกกับจินตนาการที่มีอยู่ล้นเปี่ยม ทำให้ลุงองปุ้นไม่มีความหวั่นเกรงแม้แต่น้อย
“หมวกที่ลุงทำนั้นไม่เหมือนที่อื่น คือปกติกุ๊บไตจะมีลายสอง ลายสาม ลายยกดอก ลายเจ็ดเต่า ลายงูเหลือม แต่ลุงมาประยุกต์ลายใหม่ขึ้นมาเองเรียกว่า ลายดอกพิกุล เป็นลายที่ทำยาก คนอื่นทำไม่เป็น งานของลุงก็เลยขายดี” ลุงองปุ้นว่าพลางยกหมวกลายดอกพิกุลให้เราชม
ลุงองปุ้นจะเข้าไปหาไผ่ในป่า เลือกลำที่มีอายุระหว่าง 1-2 ปี โดยสังเกตจากต้นที่ใบยังไม่ขึ้นมาก และมีกาบห่ออยู่ตรงข้อทุกปล้อง เมื่อได้มาก็นำมาตัดเป็นเส้นเล็กๆ แล้วนำไปตากแดดให้แห้ง 1 วัน จากนั้นนำมาเหลาเป็นเส้นตอก แล้วเริ่มสร้างโครง โดยหมวก 1 ใบ จะใช้ตอกประมาณ 80-200 เส้น แล้วแต่ขนาดของหมวกที่จะทำ
ส่วนเทคนิคการสาน ลุงองปุ้นแนะนำให้เริ่มจากจุดด้านบนก่อน จากนั้นสานต่อมาเรื่อยๆ ขวาทับซ้าย ซ้ายทับขวา จนได้หมวกที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 50 เซนติเมตร จากนั้นนำผ้ายางมารองด้านในของหมวก แล้วปิดหัวหมวกด้วยจุกที่สานด้วยหวาย เสร็จแล้วใส่ขอบ ทาสี ลงแลคเกอร์ เป็นอันเรียบร้อย
เราพยายามคิดภาพตาม แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยจริงๆ
สำหรับสินค้าที่ลุงองปุ้นผลิตเกือบทั้งหมด จะเป็นกุ๊บลายดอกพิกุล ขณะที่ลายดั้งเดิมจะผลิตเฉพาะตามที่ลูกค้าสั่งเท่านั้น เพราะคนไม่นิยมเท่าไรนัก โดยลุงองปุ้นจะขายราคาส่งที่ 450 บาท ส่วนราคาขายปลีกอยู่ที่ 500 บาท มีร้านรับซื้อประจำอยู่ที่ตัวอำเภอขุนยวม และตัวจังหวัดแม่ฮ่องสอน นอกจากนั้นยังมีลูกค้าที่เคยเห็นผลงานของลุงจากงานแสดงสินค้าต่างๆ สั่งเข้ามาบ้างประปราย
แต่ละเดือน ลุงองปุ้นกับภรรยาสามารถสานหมวกได้ราว 50 ใบ นอกจากกุ๊บไต ลุงองปุ้นยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ อาทิ หมวกแก๊ป ซึ่งลุงองปุ้นใช้เวลาทำเพียง 1 วันเท่านั้น ใบหนึ่งขายอยู่ที่ 400 บาท แล้วยังมีหมวกทรงพระเจ้าตาก ขายใบละ 600 บาท ซึ่งหมวกทั้ง 2 แบบนี้ ลูกค้าต้องสั่งจองเข้ามา เพราะทำยากกว่ากุ๊บไตเสียอีก
อย่างไรก็ดี แม้การสานกุ๊บไตจะสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่กลับมีผู้สืบทอดน้อยเหลือเกิน
“ที่ผ่านมาลุงพยายามถ่ายทอดวิชา แต่หลายคนฝีมือไม่ถึง คนซื้อเขาก็ไม่ชอบ” ลุงองปุ้นทิ้งท้ายพร้อมกับหยิบกุ๊บไตมาสวมเป็นการสาธิต เราเลยไม่รอช้า จัดการถ่ายรูปเก็บกลับมาเสียหน่อย…