สวนวนเกษตร สวนเกษตรทฤษฎีใหม่

DSC_0699

หลังจากพูดคุยเรื่องเหมืองฝาย เราตาม สุวิทย์ วารินทร์ อดีตรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองปอนมายังไร่นาสวนผสมขนาด 11 ไร่ เลาะเลียบถนนหลังโรงเรียนชุมชนบ้านเมืองปอน ที่มีลำเหมืองขนาบขนานไปตลอดเส้นทาง เป็นถนนที่ไปเชื่อมต่อกับบ้านป่าฝาง หมู่ที่ 4 เลยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเมืองปอนไปเล็กน้อย

ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาหลังเก็บเกี่ยว เราเห็นบรรยากาศของผู้คนที่ยกครัวกันมาตีข้าวแล้วนำใส่กระสอบ สวนของสุวิทย์ยังไม่ถึงขั้นตอนนั้น เขาเพิ่งเก็บเกี่ยว แล้วมัดเป็นกำๆ วางไว้ ข้าวของเขาเป็นข้าวไรซ์เบอร์รี่

นับเป็นเวลามากกว่า 20 ปีแล้วที่ชายผู้นี้ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงแนวทางการทำเกษตรของตนเอง จากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ สู่การปลูกพืชแบบผสมผสาน ที่อย่างน้อยก็สามารถการันตีปากท้องของครอบครัว

“ตอนนั้นเป็นปี 2530 เกษตรอำเภอได้เข้ามาถ่ายทอดเกษตรทฤษฎีใหม่ให้ฟัง เขาแนะให้แบ่งที่นาออกมา 5 ไร่ เพื่อปลูกพืชสวนต่างๆ เช่น มะขามหวานเพชรบูรณ์ ลิ้นจี่ ลำไย รวมทั้งขุดบ่อเลี้ยงปลาด้วย แต่พอทำประมาณ 4-5 ปี ก็เจอปัญหา มะขามหวานเป็นโรคราน้ำค้าง มารู้ภายหลังว่า เราปลูกในพื้นที่ชื้นเกินไป ทั้งยังมีค้างคาวมาทำลาย” สุวิทย์ย้อนความให้ฟัง

ทว่าถึงจะล้มเหลว สุวิทย์กลับไม่เคยท้อถอย เพราะเขาเชื่อว่าแนวทางที่ทำนั้นถูกต้องแล้ว อย่างน้อยก็มีผลลัพธ์ที่พอให้ชื่นใจ ด้วยฝรั่งที่ปลูกไว้นั้นงดงาม สามารถนำกลับมาขายในชุมชน สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ

กระทั่งปี 2542 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้เข้ามาทำโครงการละเลิกสารเคมี รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดกลุ่มตลาดสีเขียวขึ้นในพื้นที่อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในฐานะของแกนนำเกษตรกร สุวิทย์ไม่ลังเลที่จะเข้าร่วม เขาตัดสินใจเลิกปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง และหันมาใช้สมุนไพรในการดูแลรักษาแปลงเกษตร โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือให้ผลผลิตที่ปลอดภัยแก่ผู้บริโภค ขณะเดียวกันเขายังมีโอกาสเข้าเยี่ยมชมโครงการพัฒนาที่ดินต่างๆ อีกมากมาย หนึ่งในนั้นคือการทำวนเกษตร

วนเกษตร คือระบบเกษตรกรรมที่นำเอาหลักสมดุลบนความหลากหลายและยั่งยืนของระบบป่าธรรมชาติมาเป็นแนวทางในการทำเกษตรกรรม เน้นการปลูกพืชผสมผสานในพื้นที่เดียว จนมีความหลากหลายทางชีวภาพได้ใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด โดยให้ความสำคัญกับการปลูกไม้ยืนต้น ไม้ผล และไม้ใช้สอยต่างๆ รวมทั้งจัดองค์ประกอบการผลิตให้มีความหลากหลายมากที่สุด

พืชที่ปลูกในสวนวนเกษตรของสุวิทย์มีตั้งแต่ เพกา กระชาย ลองกอง ลิ้นจี่ เสาวรส เงาะ ชมพู่ กล้วย มะหลอดหวาน (มีเฉพาะในจังหวัดแม่ฮ่องสอน) มะพร้าวน้ำหอม ชา กาแฟ และยังมีบ่อเลี้ยงปลาดุก ปลาไน ปลาช่อน ปลานิล ปลากระดี่ ด้วย

“ตอนแรกๆ ที่ทำ ยอมรับว่าเจอปัญหาค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะเรื่องศัตรูพืช แต่โชคดีที่ผมมีโอกาสได้ไปดูงานโครงการของสันติอโศกที่อำเภอขุนยวม ที่นั่นเขาสอนเรื่องการปรับปรุงที่ดิน การใช้น้ำหมัก ใช้สารขับไล่แมลง เชื้อราไตรโคเดอร์มา เชื้อราบิวเวอเรีย ผมลองเอามาใช้ ก็ได้ผลดี” สุวิทย์ว่า

นอกจากนี้ เพื่อให้แนวคิดการทำวนเกษตรมีความยั่งยืน สุวิทย์จึงได้ชักชวนเพื่อนบ้านในหมู่ที่ 1, 2 และ 4 ให้หันมาจัดการที่ดินในลักษณะเดียวกัน ซึ่งมีผู้ตอบรับแนวทางนี้อยู่ร่วม 10 คน โดยมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

ผลผลิตที่ได้ในแปลงวนเกษตร สุวิทย์จะกันเอาไว้กินเอง อีกส่วนนำมาจำหน่ายในตำบลเมืองปอน และถ้ามีมากพอ เขาจะนำไปจำหน่ายที่ตลาดสีเขียว หน้ากรมพัฒนาที่ดินอำเภอขุนยวม

แม้รายได้ที่เกิดขึ้นจากสวนวนเกษตรจะตกเพียงปีละ 10,000 กว่าบาท แต่สำหรับชายผู้นี้ สิ่งที่ได้รับกลับมานั้นคุ้มค่าแล้ว เพราะทุกวันนี้ เขาแทบไม่ต้องซื้ออาหาร ด้วยสวนที่เขาลงแรงได้กลายเป็นตลาดขนาดใหญ่ ซึ่งมีทุกอย่าง ทั้งผัก ผลไม้ และปลาให้เลือกรับประทาน

เราเดินตามเขาเข้ามา จากทุ่งข้าวของเขา ลัดเลาะเข้ามาในส่วนที่เป็นไม้ยืนต้นนานา อัศจรรย์ใจเหลือเกินว่า ภาพของทุ่งนากว้างเลือนหายไป คล้ายเราเข้าสู่ป่าดิบชื้น ภายในมีอะไรต่อมิอะไร และแสงแดดที่แผดกล้าก็ไม่สามารถทำอะไรในนี้ได้ ด้วยมีแต่ความสงบร่มเย็น และสรรพชีวิตกำลังทำงานของมัน หลังจากที่ชายผู้นี้ได้ทำงานของเขาแล้ว…