กองทุนหลักประกันสุขภาพ เทศบาลตำบลโพรงมะเดื่อ

กลไกหลักในการขับเคลื่อนประเด็นการสร้างเสริมดูแลสุขภาพที่สำคัญของคน 20 ชุมชนในเทศบาลตำบลโพรงมะเดื่อ คือกองทุนหลักประกันสุขภาพ ซึ่งดำเนินการมาต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2555

นำพณ ลิ้มธนเลิศ ปลัดเทศบาลตำบลโพรงมะเดื่อ ในฐานะเลขานุการกองทุนฯ เล่าให้ฟังว่า การเข้าสู่กระบวนการนี้เป็นไปตามนโยบายของภาครัฐ ที่ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอุดหนุนงบประมาณตามรายหัวประชากรลงมาที่ท้องถิ่นโดยตรง โดยที่ท้องถิ่นมีหน้าสมทบเพิ่มเติม ร้อยละ 50 ตามเงื่อนไขเมื่อเข้าร่วม โดยปัจจุบันกองทุนมีเงินหมุนเวียนประมาณ 800,000 บาทต่อปีงบประมาณ

“พอรับกองทุนนี้เข้ามาดำเนินการ ก็มีการตั้งคณะกรรมการ ซึ่งเป็นโครงสร้างตามท้ายประกาศ โดยมีกรรมการมาจากผู้บริหาร ซึ่งนายกฯ เป็นประธาน ส่วนปลัดฯ เป็นกรรมการ และเลขานุการโดยตำแหน่ง มีสัดส่วนของสมาชิกสภาเทศบาล 2 คน มีผู้แทนของ อสม. มีผู้แทนจาก รพ.สต.โพรงมะเดื่อ และ รพ.สต.หนองดินแดง แล้วก็มีผู้ทรงคุณวุฒิจากชาวบ้าน รวมทั้งหมดมีกรรมการ 17 คน และมีคณะอนุกรรมการอีกชุดหนึ่งคอยขับเคลื่อนงาน” ปลัดเทศบาลเล่า

เมื่อแต่งตั้งคณะกรรมการครบ ก็เป็นหน้าที่ของเทศบาลและคณะทำงาน ที่ต้องประชาสัมพันธ์ให้ชุมชนรับทราบ เพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอกิจกรรมต่างๆ โดยที่ผ่านมา ก็มีทั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล กลุ่ม อสม. ซึ่งถือเป็นตัวแทนของประชาชน ขอทุนเพื่อไปทำการรณรงค์ป้องกันโรคไข้เลือดออก แล้วก็เสนอ เครื่องออกกำลังกายที่ชาวบ้านผลิตได้เอง เช่น กะลา ที่ยืดเส้น ยืดขา ล่าสุดก็มีโรงเรียนต่างๆ และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก นำเสนอโครงการเข้ามารับการพิจารณาทุน

“ทางเทศบาลตำบลโพรงมะเดื่อได้ทำการประชาสัมพันธ์ให้รับทราบกันถ้วนหน้าว่า การดูแลสุขภาพสามารถเริ่มต้นด้วยตนเอง โดยเราได้เผยแพร่ข้อมูล TCNAP ซึ่งทำร่วมกับทาง สสส. เพื่อให้ชุมชนได้ทราบว่า ขณะนี้เขากำลังเผชิญความเสี่ยงอะไรบ้าง อย่างที่นี่ ประชากรร้อยละ 10 เป็นความดันโลหิตสูง รองมาก็เป็นเบาหวาน” ปลัดนำพณว่า

ในส่วนของการแบ่งสัดส่วนงบประมาณนั้น ด้านบริหารกำหนดให้ใช้เงินไม่เกินร้อยละ 15 ส่วนอีกร้อยละ 60 จะเชื่อมต่อไป รพ.สต. ทั้งสองแห่ง ขณะที่ภาคประชาชนได้รับไปอยู่ที่ ร้อยละ 20 และร้อยละ 5 สุดท้ายเป็นเงินคงค้างในบัญชี

การมีกองทุนนี้เข้ามาได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดในพื้นที่หลายอย่าง เช่น ลดความยุ่งยากในการของบประมาณ เพราะก่อนที่จะมีกองทุน โรงพยาบาลต้องทำเรื่องขอเงินไปที่ส่วนกลาง ส่งเรื่องวุ่นวายหลายขั้นตอน แต่ทุกวันนี้ ผ่านเพียงที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนเท่านั้น ขณะเดียวกันภาคประชาชนก็ได้รับทราบด้วยว่า หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่นำเงินไปทำอะไรบ้าง และก่อให้เกิดประโยชน์อย่างไรบ้าง ที่สำคัญประชาชนยังได้เข้ามามีส่วนในการจัดดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง

“ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าภาคประชาชนเข้ามาขอใช้เงินในส่วนนี้ค่อนข้างน้อย เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะยังไม่รู้ข่าว หรือบางครั้งก็เสนอมาไม่ตรงวัตถุประสงค์ เช่น เสนอเพื่อการรักษาเลย อย่างนี้ก็อนุมัติไม่ได้ เนื่องจากโครงการเน้นเรื่องการฟื้นฟู ป้องกัน ส่วนในอนาคตประชาชนจะเข้าถึงได้เพียงใด ก็เป็นหน้าที่ของเทศบาล ต่อไปเราอาจจะต้องใช้เสียงตามสาย หรือประชุมผ่านภาคี ผ่านหัวหน้าชุมชน ซึ่งเราก็ทำเรื่อยๆ โดยใน 20 ชุมชน มีที่เห็นผลชัดๆ ด้วยกัน 2 ชุมชนคือ ชุมชนหนองฉิม กับชุมชนโพรงมะเดื่อ จากหมู่ที่ 5 ซึ่งเสนอนวัตกรรมต่างๆ มาบ้างแล้ว ส่วนชุมชนอื่นๆ เราก็จะพยายามผลักดันต่อไป” ปลัดกล่าวสรุป