บ้านมั่นคงชุมชนกาเลี้ยงลูก

DSC_0420

เห็นเป็นชุมชนกึ่งเมืองแบบนี้ แต่ใครจะรู้ว่า ที่ตำบลโพรงมะเดื่อมีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง โดยชาวบ้านกลุ่มนี้บุกรุกที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อทำที่อยู่อาศัย ต่อมาเมื่อเจ้าของที่ดินต้องการใช้ประโยชน์จึงได้มีการไล่ที่ พวกเขาซึ่งไม่มีสิทธิ์ในกรรมสิทธิ์ที่ดิน จึงจำต้องรับสภาพอย่างเลี่ยงไม่ได้

พอดีในช่วงปี 2545 เป็นจังหวะเดียวกับที่รัฐบาลกำลังมีนโยบายขึ้นทะเบียนคนจนทั่วประเทศ โดยเปิดโอกาสให้คนที่มีปัญหา
หนี้สิน ปัญหาที่อยู่อาศัย และปัญหาที่ดินทำกิน มาลงทะเบียนที่อำเภอ ซึ่งกลุ่มชาวบ้านกลุ่มนี้ได้เข้าไปลงชื่อในบัญชีคนยากจน ซึ่งต้องการที่อยู่อาศัย หรือ สย.7 เพื่อพัฒนาโครงการบ้านมั่นคง บนพื้นที่บ้านหมู่ที่ 12 ชุมชนบ้านกาเลี้ยงลูก

“เราบุกรุกกันมานานกว่า 30-40 ปีแล้ว มาตอนหลังเรารู้ข่าวว่าเขาจะไล่ที่ ก็เลยรวมตัวกัน พอดีรัฐบาลมีนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจน จึงไปลงชื่อไว้ ด้วยความหวังว่าจะมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง” ณัฐดนัย ฮะบางแขม กรรมการสหกรณ์ฯ กล่าว

ณัฐดนัยกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ชาวบ้านที่เดือดร้อนจำเป็นต้องรวมตัว เพื่อให้รัฐเห็นว่ามีความเดือดร้อนจริง และหลังจากลงนามใน สย.7 เรียบร้อย ทางอำเภอได้ชี้แจงต่อว่า พื้นที่ไหนมีความพร้อม หรือมีผู้นำที่มีประสิทธิภาพ จะได้รับการอนุมัติก่อน ซึ่งตอนนั้น ปภาศร ศุภโชคภิญโญ และ บุญมี พลอยงาม เป็นแกนนำในการขับเคลื่อนอยู่

“ตอนนั้นมีคนไปลงชื่อประมาณ 200 กว่าคน แต่ช่วงระหว่างการรวมกันเป็นกลุ่ม ก็ลดลงมาเรื่อยจนเหลือ 100 กว่าคน และสุดท้ายก็เหลืออยู่ 70 กว่าคน ซึ่งสาเหตุที่เหลือน้อย เพราะแต่ละขั้นตอนใช้เวลานานมาก” จิตโสภา สุจริตจิตร เลขาสหกรณ์ฯ กล่าว

เมื่อมีกลุ่มก้อนแล้ว มีการประชาคมพูดคุย หาพื้นที่ ได้มาพบกับที่ดินว่างผืนหนึ่ง ขนาด 5 ไร่ 2 งาน ที่เป็นของเทศบาล จึงประสานไปยังเจ้าของพื้นที่ เพื่อทำโครงการรับรองผู้มีปัญหาที่อยู่อาศัย  ซึ่งทางเทศบาลก็ยินดี

จากนั้นมีการตั้งกลุ่มบ้านมั่นคง ชาวบ้าน 70 กว่าคน เริ่มช่วยกันออม ตามแต่รายได้ของสมาชิก โดยออมขั้นต่ำเดือนละ 100 บาท ฝากกับแกนนำ มีสมุดคู่ฝาก และได้ทำ MOU ในปี 2546 กับท้องถิ่น กรมที่ดิน อำเภอ พมจ. และพอช. เพื่อจะร่วมมือกันทำให้โครงการนี้เกิดขึ้น

แกนนำต้องไปอบรมการพัฒนาตนเองร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. หลายครั้งด้วยกัน

“ในเครือข่ายภาคตะวันตกนั้น ทาง พอช. จะมีผู้ประสานงานอยู่ เราก็ไปศึกษาเรียนรู้ อบรมหลายเรื่องหลายครั้ง ตามที่เขาแจ้งมา มีการเรียนรู้กระบวนการก่อนที่จะกู้ เพราะเครือข่าย พอช. มีโครงการลักษณะนี้มาก ซึ่งกว่าจะได้อยู่จริงก็อีกประมาณ 6-7 ปีเลย” ณัฐดนัยกล่าวต่อ

จากระยะเวลาอันยาวนานนี้เอง พรทิพย์ เกตุรักษา เหรัญญิกกลุ่มบอกว่า เป็นเหตุให้สมาชิกที่เคยฝากเงินบางส่วนเกิดความไม่มั่นใจ ทยอยถอนเงินออกมาไป แม้จะฝากได้เยอะแล้วก็ตาม ซึ่งถือว่าสร้างปัญหาให้กลุ่มอย่างมาก เพราะต้องหาคนใหม่มาเพิ่ม และต้องทำประชาคมใหม่ในกลุ่ม

“ตอนเราได้พื้นที่แล้ว ก็ต้องมาดูว่าจะจัดสรรพื้นที่อย่างไรให้ครบถ้วนกับสมาชิก 70 กว่าคน โดยที่ต้องมีศาลาอเนกประสงค์ มีพื้นที่ส่วนกลางอยู่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราเรียนรู้จากการไปศึกษาดูจากพื้นที่ต้นแบบของ พอช. จากนั้นเขียนแปลนโครงการขึ้นเสนอ พอช. ขณะเดียวกันก็ยังต้องรักษาสมาชิกในกลุ่มไว้ เพราะต้องให้เห็นว่าเรามีความเข้มแข็ง สามารถชำระเงินกู้ได้” พรทิพย์เสริม

เมื่อเสนอโครงการผ่านแล้ว ทาง พอช. มีงบสาธารณูปโภคมาให้ เพื่อปรับที่ดิน ถนน ท่อน้ำ ซึ่งเป็นงบประมาณให้เปล่า พอเสร็จเรียบร้อย ทาง พอช. ส่งเจ้าหน้าที่มาทำแปลนให้ คิดมูลค่าโครงการ 8,200,000 ล้านบาท ต่อมาขยายเพิ่มเติมอีก 2,600,000 ล้านบาท

“พอมีแปลนแล้ว ก็มีการประชาคมว่า จะผ่อนส่งได้เท่าไร เอาวัสดุอะไร ต้องการบ้านชั้นเดียว หรือบ้านสองชั้น ซึ่งในเวลานั้นคำนวณราคาของบ้าน 2 ชั้น อยู่ที่ 250,000 บาท บ้าน 1 ชั้น อยู่ที่ 150,000 บาท โดยมีเงินออมเป็นเครดิตอย่างน้อย สิบเปอร์เซ็นต์ของราคาบ้าน นอกจากนี้กลุ่มยังต้องหาช่างมา เพื่อให้ราคาถูกที่สุด แล้วต้องร่างสัญญา แจกแจงเป็นงวดงาน ค่าจ้าง ค่าวัสดุในแต่ละงวด โดยตอนที่เราสร้างก็ยังบุกรุกที่ของเทศบาล เพราะโฉนดยังไม่เรียบร้อย ทั้งมาเจอความผันผวนทางการเมืองด้วย” พรทิพย์เล่า

เมื่อเริ่มสร้างแล้วนั้น ทางกลุ่มได้ตั้งสหกรณ์บ้านมั่นคงเฉลิมพระเกียรติ ในช่วงปี 2549 เพื่อให้กลุ่มมีสภาพเป็นนิติบุคคล สามารถรองรับเงินกู้ และเป็นการประกันความเสี่ยง โดยหน้าที่ของสหกรณ์นี้หลักๆ ก็เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมเงินส่งคืนให้ พอช. โดยสหกรณ์เปิดทำการทุกวันอาทิตย์ที่ 2 ของเดือน ลูกบ้านจะต้องส่งเงินไม่เกินวันที่ 15 ไม่เช่นนั้นเสียค่าปรับ

บ้านมั่นคงแห่งนี้สร้างเสร็จพร้อมอยู่ตั้งแต่ปี 2553 แต่กว่าจะได้หนังสืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐเป็นการชั่วคราว ตามนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจน ก็ล่วงเลยมาถึงปี 2555 แล้ว โดยโฉนดชั่วคราวนี้ต้องต่อสัญญาทุก 5 ปี ไม่สามารถจำหน่ายให้ผู้อื่น แต่สามารถใช้เป็นมรดกตกทอดได้

“ที่ผ่านมาสมาชิกที่นี่ไม่เคยส่งเงินช้า แต่ถ้าถึงช้าก็พอขับเคลื่อนไปได้ เช่น สมมติเดือนหนึ่งเราต้องส่งให้เงินให้ พอช. 80,000 บาท แต่ว่าเงินที่เราเก็บมาจะเกิน 80,000 บาทอยู่แล้ว ดังนั้นขาดไป 1-2 รายก็ยังครบอยู่ ถือว่าทุกคนช่วยกัน แต่ในกรณีที่เงินไม่พอคืน เรามีเงินสำรองที่เก็บไว้ ก็จะเบิกเงินส่วนนั้นมาคืนไปก่อน โดย พอช.คิดดอกเบี้ยเรา 4 เปอร์เซ็นต์ แต่สหกรณ์เก็บดอกเบี้ยสมาชิก 6 เปอร์เซ็นต์ เพื่อนำส่วนต่างมาบริหารจัดการ” พรทิพย์อธิบาย

สำหรับระยะเวลากู้นั้น ทางกลุ่มฯ ทำสัญญาไว้ 18 ปี ขณะที่สหกรณ์ฯ ทำสัญญากับสมาชิกไว้ 15 ปี อธิบายง่ายๆ คือส่งเงินเกินข้อตกลงที่ให้ไว้ เพื่อหนี้จะได้หมดโดยเร็ว ซึ่งปัจจุบันหากเป็นบ้านชั้นเดียว ผ่อนชำระเดือนละ 1,130 บาท ส่วนบ้านสองชั้น เดือนละ 1,930 บาท และสมาชิกต้องฝากเงินกับสหกรณ์เดือนละ 100 บาท โดยแต่ละปีจะมีการปันผลให้ร้อยละ 3 เงินฝากนี้ตราบที่ยังเป็นสมาชิกของบ้านมั่นคงห้ามถอน และถ้าฝากเงินจนครบ 60,000 บาท สามารถหยุดฝากได้ ส่วนแนวทางในอนาคต หากมีเงินฝากมากพอ คณะกรรมการสหกรณ์ก็ตั้งใจว่าจะนำเงินไปลงทุนในกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น ซื้อสลากออมสิน และนำเงินมาให้สมาชิกในกลุ่มกู้ในกรณีที่จำเป็นจริงๆ