สารพัดเห็ดเพื่อสุขภาพ

DSC_0031

โอกาสเป็นสิ่งที่ต้องสร้างขึ้นเอง ลำพังแต่จะรอบุญพาวาสนาส่งอย่างเดียวคงไม่ไหว ยิ่งในยุคที่ทุกคนใส่เกียร์เดินหน้ากันแบบนี้ และกับผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งอย่าง วิไลรัตน์ คิ้มแหน ลูกสะใภ้ของ ชูเกียรติ คิ้มแหน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 13 เธอก็เป็นคนหนึ่งที่หันเหชีวิต สร้างโอกาสขึ้นใหม่ในบ้านของตัวเอง

บริเวณพื้นที่ของบ้านผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 13 บ้านหนองหิน มีโรงเพาะเห็ดตั้งเรียงรายอยู่ถึง 5 โรง โดยวิไลรัตน์เป็นผู้เริ่มต้น ขยับขยายจนกลายเป็นกลุ่ม ซึ่งเธอเองรับหน้าที่เป็นประธานกลุ่ม และมี เกรียงไกร คิ้มแหน สามีของเธอเป็นรองประธาน

วิไลรัตน์ย้อนความให้ฟังว่า ในราวปี 2548 ตัวเองเป็นพนักงานบริษัททั่วไป ไม่เคยมีความรู้เรื่องเห็ดเลยแม้แต่น้อย แต่ด้วยความที่ระยะห่างระหว่างบ้านกับที่ทำงานไกลกันมาก รู้สึกเหนื่อยกับการเดินทาง จึงมีความคิดอยากลาออก เพราะไม่มีเวลาให้ครอบครัว แต่เวลานั้นยังไม่รู้จะทำอะไรดี

กระทั่งเริ่มสังเกตสิ่งรอบตัว เพื่อต่อยอดเป็นอาชีพ เธอพบว่าตัวเองชอบกินเห็ด เลยน่าจะเริ่มต้นจากสิ่งที่ชอบ จึงลองซื้อก้อนเห็ดมาเพาะดู โดยเธอเลือกเห็ดโคนญี่ปุ่น เพราะเห็นว่ายังมีน้อยคนที่เพาะเห็ดตัวนี้ ไม่ต้องไปแข่งขันด้านการตลาดเหมือนเห็ดนางฟ้าภูฐาน หรือเห็ดหูหนูที่คนส่วนใหญ่นิยม

“ตอนนั้นทำตลาดยากหน่อย ทั้งแรกๆ ชาวบ้านยังคิดว่าเป็นเห็ดเมา แต่อาศัยปากต่อปาก จนคนเริ่มรู้จัก แม่ค้าเริ่มติดต่อซื้อดอกไปขาย ช่องทางจัดจำหน่ายเริ่มเพิ่มขึ้น ใช้เวลาอยู่ 2 ปีเรียนรู้ด้วยตัวเอง อ่านจากอินเทอร์เน็ตบ้าง พอมีความชำนาญแล้ว ก็คิดว่าพร้อมลาออกจากงานประจำ มาเพาะเห็ดเต็มตัว” วิไลรัตน์เล่า

ตอนนั้นในราวปี 2550 วิไรรัตน์เดินหน้าธุรกิจเต็มตัว โดยเล็งเห็นว่า การซื้อก้อนเชื้อจากคนอื่นไม่คุ้มเท่าไร น่าจะลองหาวิธีทำก้อนเอง จึงไปเข้าอบรมที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมถึงไปดูงานตามจังหวัดต่างๆ ที่มีฟาร์มเห็ดครบวงจร เช่น ที่อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ซึ่งมีการเพาะทั้งเห็ดโคนญี่ปุ่นและเห็ดอื่นๆ พอได้ความรู้กลับมา เธอก็เริ่มพัฒนาพื้นที่ สร้างโรงเรือนจำนวน 5 หลัง ใช้เงินลงทุนกว่า 900,000 บาท

“เรามีความรู้มากขึ้น ช่องทางการตลาดค่อนข้างหลากหลาย ทั้งร้านค้า ฝากขาย ตลาดนัด แล้วเรายังมีแม่ค้าที่มาซื้อประจำ จากปากคลองตลาด ตลาดไท รวมทั้งจังหวัดทางภาคใต้ ส่วนใหญ่จะเป็นพ่อค้าคนกลางซื้อไปกระจาย โดยราคาส่งสำหรับเห็ดโคนญี่ปุ่นที่ยังไม่ตัดราก กิโลกรัมละ 120 บาท แต่ถ้าขายปลีกส่งตามร้านอาหาร ต้องตัดแต่ง ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 150-180 บาท”

สำหรับการเพาะดอกเห็ดโคนญี่ปุ่นนี้ ปกติจะต้องทิ้งก้อนไว้ประมาณ 15-20 วัน แล้วค่อยรดน้ำครั้งหนึ่ง เพื่อให้เส้นใยมีความแข็งแรง จากนั้นเห็ดจะเริ่มออกดอกประมาณ 7-10 วัน แล้วก็ต้องพักก้อนเป็นวัฏจักร ฉะนั้นเพื่อให้มีสินค้ารองรับตลาดอยู่ไม่ขาด จะหมุนเวียนเก็บดอกเห็ด โดยสัปดาห์หนึ่งจะเปิดโรงเรือน 1 โรง ซึ่งมีก้อนเห็ด 10,000 ก้อน โรงเรือนหนึ่งเก็บได้ประมาณ 100-120 กิโลกรัม หรือเฉลี่ยวันละประมาณ 15-20 กิโลกรัม

พอปี 2552 คนในชุมชนเริ่มสนใจอยากหารายได้เพิ่มขึ้น ทางวิไลรัตน์จึงเริ่มขายก้อนให้ชาวบ้าน โดยผู้ที่ซื้อก้อนเห็ดจะต้องมาเรียนเทคนิควิธีการต่างๆ เกี่ยวกับเพาะเห็ด 1 ชั่วโมงครึ่ง โดยเนื้อหาที่เรียนมีอาทิ เห็ดโคนญี่ปุ่นชอบหน้าฝนกับหน้าหนาว พอช่วงหน้าร้อนจะออกดอกยาก ฉะนั้นจะมีเทคนิคการให้น้ำอย่างไร

ต่อมาเมื่อมีคนมาซื้อก้อนเชื้อมากๆ ก็มีปัญหาเกิดขึ้น คือเพาะแล้วไม่รู้จะไปทำตลาดที่ไหน วิไลรัตน์จึงทำการรวมกลุ่มขึ้นมา เพื่อสร้างกลไกราคากับพ่อค้า จนปัจจุบันกลุ่มเพาะเห็ดนี้มีสมาชิกประมาณ 9 คน

“เมื่อก่อนที่เรามีดอกเห็ดไม่มากพอ พ่อค้าจะให้ราคาแพงบ้าง ถูกบ้าง แต่พอเรามีมาก เขาให้ราคาประกันกับเรา แต่คนที่มาร่วมกับเรา เราไม่ได้บังคับนะ ว่าต้องขายให้เราเท่านั้น ถ้าเขามีช่องทาง หรือได้ราคาที่แพงกว่าก็สามารถไปได้ แต่ส่วนมากเครือข่ายเราไม่มีตลาด ก็เลยมาส่งที่เรา เขาก็ไม่เสียเวลาหาตลาดด้วย คือเป็นการรวมตัวแบบไม่เป็นทางการ โดยเราจะมีการเช็คออเดอร์อยู่เสมอ เพราะเรามีลูกค้าหลักอยู่ 3 รายที่ต้องมีของป้อนให้ตลอด ก็ต้องติดต่อกับสมาชิก ดูเรื่องการรดน้ำ สมมติเขาสั่ง 200 กิโลกรัม ฟาร์มนี้เก็บได้ 100 กิโลกรัม ของเราอีก 100 กิโลกรัม จากนั้นก็เอาทั้งหมดมารวมกันแล้วส่งให้ลูกค้า ซึ่งจะมีรถเย็นมารับไป” วิไรรัตน์เล่ากระบวนการกลุ่ม

นอกจากเห็ดโคนญี่ปุ่นแล้ว ที่นี่ยังมีการทำก้อนเชื้อเห็ดอื่นๆ จำหน่ายอีกด้วย โดยเห็ดโคนญี่ปุ่น ก้อนหนึ่งราคา 9 บาท ส่วนเห็ดนางฟ้าภูฐาน ราคา 6.5 บาท เห็ดเป๋าฮื้อ ราคา 7 บาท เห็ดหูหนู ราคา 6.5 บาท เห็ดขอนขาว ราคา 6.5 บาท และเห็ดขอนดำ ราคา 6.5 บาท ส่วนดอกเห็ด ฟาร์มของวิไรรัตน์จะทำเฉพาะเห็ดโคนญี่ปุ่นเท่านั้น เพราะถ้าทำหลายตัวจะมีเชื้อโรคเพิ่มขึ้นมามาก ทำให้ควบคุมมาตรฐานยาก

ส่วนแผนการในอนาคต วิไลรัตน์บอกว่า ตั้งใจจะแปรรูปเห็ด ซึ่งมีที่ทำไปแล้ว อาทิ น้ำพริกเห็ด แหนม เห็ดสวรรค์ เพื่อเพิ่มรายได้แก่สมาชิกอย่างทั่วถึง