ชุมชนท้องถิ่นภาคเหนือ แชร์ประสบการณ์รับมือโควิด-19 อย่างอบต.เจดีย์ชัยยอมรับชุมชนต้องทำบุญผ่านเสียงตามสาย ส่วนทต.แม่ข่าแนะต้องสื่อสารสู่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อบต.ดอนแก้วจัดทีมเคลื่อนที่เร็วเข้าถึงกลุ่มเสี่ยงใน 30 นาที พร้อมกับเชื่อว่ากติกาชุมชนเข้มแข็ง สามารถรับมือได้ทุกวิกฤตต่างๆ ได้
การเสวนาออนไลน์ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง ครั้งที่ 10 “ชุมชนท้องถิ่น รู้รับ ปรับตัว สู้ภัยโควิด-19” (ภาคเหนือตอนบน) ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนแนวทางการปรับตัวของแต่ละชุมชน โดยมีนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเจดีย์ชัย อ.ปัว จ.น่าน, ปลัดเทศบาลตำบลแม่ข่า อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ และ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนตำบลดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ร่วมเสวนา โดยมีคุณดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโสกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ รศ.ดร.ขนิษฐา นันทบุตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดำเนินรายการ
นายสมาน วังแสง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเจดีย์ชัย กล่าวว่า ตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก ได้มีการกำหนดกติกาในชุมชนทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตัวและผู้นำชุมชนเร่งใช้กลไกในพื้นที่ทำแผนรับมืออย่างเร่งด่วน มีการแยกกลุ่มบุคคลที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่เป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่มาทำงานหรือมาเที่ยว กับกลุ่มที่กลับบ้านตามภูมิลำเนา ทำให้พบผู้ที่มีความเสี่ยงสูง 85 รายในช่วงที่มีการระบาดระลอก 3 ซึ่งภายหลังได้รับแจ้งว่ามีผู้ที่มีความเสี่ยงสูงอยู่ในพื้นที่ ก็เร่งควบคุมพื้นที่ทันที โดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นด่านหน้าลงพื้นที่ก่อน รวมทั้งมี อสม. และ อบต. เป็นทีมเคลื่อนที่เร็วควบคุมโรค เข้าไปสอบสวนโรค และให้กักตัวเอง 14 วัน ตามมาตรการควบคุมโรค
ทั้งนี้ในระหว่างกักตัวก็ได้รับความร่วมมือจากทุกคนในชุมชนที่ให้ความช่วยเหลือดูแล ส่งของอุปโภค บริโภคที่จำเป็นให้กับผู้ที่ต้องกักตัว ซึ่งการร่วมมือกันของคนในชุมชนเกิดจากที่ผ่านมาผู้ใหญ่บ้านร่วมกับ อสม.ได้สร้างความเข้าใจแนวทางการปฏิบัติตัวเมื่อมีผู้ติดเชื้ออยู่ในชุมชนมาโดยตลอด ขณะที่คณะกรรมการตำบลก็มีการประชุมกำหนดมาตรการ ออกประกาศตำบลยกเลิกการจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันทั้งหมด
“สภาวัฒนธรรมมีบทบาทสำคัญในการกำหนดวิถีปฏิบัติของชุมชน อย่างการถวายผ้าป่า ผ่านหอกระจายข่าว ผู้ใหญ่บ้านจะนิมนต์พระมาให้พรผ่านหอกระจายข่าว หรืออย่างงานสงกรานต์มีการสรงน้ำพระ สรงน้ำพระธาตุ ก็ทำผ่านหอกระจายข่าว ซึ่งชาวบ้านก็เข้าใจในเรื่องนี้” นายกฯสมาน กล่าวและเชื่อว่า เมื่อกติกาชุมชนเข้มแข็ง ก็จะสามารถรับมือกับวิดฤตต่างๆ ได้
ด้าน นายสมนึก เดชโพธิ์ ปลัดเทศบาลตำบลแม่ข่า เปิดเผยว่า องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ข่าได้ตั้งชุดปฏิบัติการโควิดในระดับหมู่บ้านและระดับตำบลเน้นติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่อง และนำข้อมูลข่าวสารที่ได้รับ กระจายไปยังชาวบ้านในชุมชน เพื่อให้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องผ่านหอกระจายข่าว ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ประชาสัมพันธ์ โดยสิ่งสำคัญคือการตรวจสอบว่ามีบุคคลที่เดินทางมาจากพื้นที่อื่นหรือไม่ ให้คณะกรรมการหมู่บ้านแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อรายงานตัวให้กักตัวตามมาตรการ
ขณะที่คณะทำงานระดับตำบลก็จะเตรียมมาตรการรองรับสถานการณ์ ทั้งนี้ในสัปดาห์หน้าจะเข้าไปชี้แจงกับสถานประกอบการที่มีแรงงานจำนวนมากให้เข้าใจมาตรการและเตรียมหามาตรการมารองรับ ส่วนการเข้าถึงกลุ่มเปราะบางนั้น มีรพ.สต.เข้าไปทำความเข้าใจ โดย อบต.เป็นฝ่ายสนับสนุน ซึ่งในส่วนของตำบลแม่ข่าพร้อมสู้ ตั้งรับกับวิกฤตต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ขณะที่ นายศุทธา แพรสี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนตำบลดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ในพื้นที่ตำบลดอนแก้วมีผู้ติดเชื้อระลอก 3 รวม 30 ราย แม้ว่าในจำนวนนี้มี 28 รายที่ไม่ใช่คนในพื้นที่ แต่ก็ได้มีการบริหารจัดการ ซึ่งมีการเตรียมความพร้อมไว้ตั้งแต่ระลอกแรกแล้ว โดยแบ่งชุดทำงานเป็น 3 ชุด มีชุดพยากรณ์ ทำหน้าที่ประเมินสถานการณ์ และแบ่งวงผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เสี่ยงต่ำและบุคคลในชุมชน สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงก็จะมีมาตรการตรวจคัดกรอง และกักตัว 14 วัน
ชุดเคลื่อนที่เร็วหรือ Fast Team มีผู้ใหญ่บ้าน อสม. และสมาชิกสภาตำบล ที่ผ่านการฝึกอบรมมาแล้วทำหน้าที่เป็นด่านหน้า ลงพื้นที่สอบสวนโรคซึ่งต้องเข้าถึงบ้านที่มีผู้ป่วยหรือกลุ่มเสี่ยงภายในเวลาไม่เกิน 30 นาที และชุดสนับสนุนจะช่วยดูแลปฏิกิริยาของคนในชุมชนและนำมากำหนดมาตรการ
ทั้งนี้นายศุทธาเห็นว่า ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีอยู่ในพื้นที่แม้จะมาก แต่กลับทำให้เจ้าหน้าที่เหนื่อยน้อยลง เนื่องจากชุมชนตื่นตัว มีการป้องกันตั้งแต่ระดับครัวเรือน ทุกสถานที่มีข้อกำหนดที่เข้มข้น ไม่ว่าจะมีบุคคลใดเข้าหรือออกในพื้นที่ จะมีการแจ้งเตือนโดยตลอด
ทางด้าน รศ.ดร.ขนิษฐา นันทบุตร เชื่อว่าแต่ละพื้นที่ต่างก็มีกลไกในการจัดการควบคุมโควิด-19 อย่างชัดเจน ทั้งบทบาทและวิธีการทำงาน มีการจัดการอย่างรวดเร็ว รวมทั้งยังมีความพยายามใช้กลไกหรือกติกาที่มีอยู่เดิมในชุมชนมาร่วมแก้ปัญหา โดยนำประสบการณ์จากกรณีตัวอย่างต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาปรับใช้ จนทำให้ในชุมชนเกิดความตื่นตัวเข้าใจวิธีการรู้รับ ปรับตัวมากยิ่งขึ้น