เลิกสูบ ก็เจอสุข ปี 2564 ปฏิบัติการชุมชนปลอดบุหรี่

วันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปีเป็น “วันงดสูบบุหรี่โลก” แม้เราจะรณรงค์กันทุกปี แต่คนไทยก็ยังสูบบุหรี่กันอยู่ ดูจากผลการสำรวจครัวเรือนไทยเมื่อปี 2560 พบว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปสูบบุหรี่ทั้งหมดประมาณ 10.7 ล้านคน หรือคิดเป็น 19.1% ของประชากรทั้งประเทศ อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับปี 2563 แล้ว พบว่ามีอัตราการสูบบุหรี่ลดลง 2.5%

สำหรับสถานการณ์ของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ จากระบบข้อมูลตำบล (TCNAP) ในปี 2563 พบว่า มีผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปที่สูบบุหรี่ร้อยละ 5.48 โดยมีครอบครัวที่มีผู้สูบบุหรี่ร้อยละ 10.91 และจากการดำเนินงานด้านการควบคุมการบริโภคยาสูบ โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งในระยะเวลาที่ผ่านมา พบว่า ชุมชนท้องถิ่น เป็นอีกหนึ่งกลไกที่ดำเนินการที่สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงการสร้างมาตรการทางสังคม

การดำเนินงานในปี 2564 ของตำบลในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ต่างมีรูปแบบหลากหลายในการรณรงค์เพื่อลดการสูบบุหรี่ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างบุคคลต้นแบบ เพื่อเป็นตัวอย่างดีๆ ในพื้นที่ มีการจัดการสิ่งแวดล้อมหรือกำหนดกติกาชุมชนเพื่อไม่ให้เอื้อต่อการสูบบุหรี่ รวมถึงค้นหานวัตกรรมช่วยเลิกบุหรี่

สร้างกติกาห้ามสูบ “รอมฎอน” จึงปลอดบุหรี่

ในพื้นที่ภาคใต้พบว่ามีผู้สูบบุหรี่ในอัตราสูงถึงร้อยละ 24.5 โดยเฉพาะในกลุ่มพี่น้องมุสลิม แม้ตามหลักทางศาสนาอิสลามระบุว่า “หากเสพสิ่งใด ๆ แล้วเป็นโทษต่อสุขภาพร่างกาย ถือว่าเป็นสิ่งไม่ดีหรือต้องห้าม” แต่ชาวมุสลิมโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีการสูบบุหรี่อยู่เป็นจำนวนมาก หลายพื้นที่จึงใช้โอกาสในช่วงเดือนรอมฎอนเป็นจุดเริ่มต้นของการรณรงค์ลด ละ เลิกการสูบบุหรี่

อย่างที่องค์การบริหารส่วนตำบลคูหา อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ได้ทำโครงการมัสยิดปลอดบุหรี่ ซึ่งที่ผ่านมามีข้อห้ามไม่ให้สูบบุหรี่ภายในมัสยิดอยู่แล้ว แต่ในช่วงเดือนรอมฎอน ผู้นำศาสนาจากมัสยิดทั้ง 4 แห่งในพื้นที่ได้ร่วมหารือกัน เพื่อกำหนดข้อห้ามไม่ให้สูบบุหรี่ในพื้นที่รั้วของมัสยิดทั้งหมด เพื่อให้เป็นมัสยิดปลอดบุหรี่ 100% ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการทำธรรมนูญหมู่บ้าน และธรรมนูญตำบล เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการตั้งกฎเกณฑ์การงดสูบบุหรี่ในมัสยิด

ส่วนที่องค์การบริหารส่วนตำบลสะเอะ อ.กรงปินัง จ.ยะลา ได้ผนึกกำลังกับผู้นำศาสนา และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ขับเคลื่อนรณรงค์ “เลิกบุหรี่เดือนรอมฎอน” เพราะจากข้อมูลสถิติการสูบบุหรี่ของประชากรในพื้นที่ตำบลสะเอะ พบว่า ผู้ที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไปและผู้สูงอายุถึงร้อยละ 48 ส่วนใหญ่สูบบุหรี่ ขณะที่เยาวชนร้อยละ 3 พบการสูบบุหรี่มากขึ้น

อบต.สะเอะ จึงถือโอกาสในช่วงเดือนรอมฎอน รณรงค์เรื่องการลด ละ เลิกบุหรี่ โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดทั้ง 12 แห่ง จัดกิจกรรมรณรงค์ให้ประชาชนเลิกบุหรี่ โดยขอให้ผู้นำศาสนาของแต่ละมัสยิดดูแลไม่ให้มีการสูบบุหรี่บริเวณพื้นที่ของมัสยิดและประชาสัมพันธ์ย้ำเตือนถึงบทบัญญัติศาสนาว่าบุหรี่เป็นสิ่งบัญญัติในฮาลามที่ควรลด ละ เลิก

เด็กจิตอาสา พาเพื่อนเลิกบุหรี่

ที่ตำบลตำหนักธรรม อ.หนองม่วงไข่ จ.แพร่ ปัญหาน่าหนักใจที่สุดของที่นี่ คือยาเสพติดในหมู่เยาวชน โดยเฉพาะบุหรี่และเหล้า เพราะหาซื้อได้ง่าย แค่มีเงิน 20-50 บาทก็หาซื้อเหล้าขาวขนาดครึ่งลิตรได้แล้ว ส่วนการสถานการณ์สูบบุหรี่นั้น ก็พบว่าผู้สูบหน้าใหม่อายุน้อยลงเรื่องๆ เฉลี่ยแล้วเริ่มสูบกันตั้งแต่ ป.4

ปัญหานี้ทางองค์การบริหารส่วนตำบลตำหนักธรรมจึงชวน 4 องค์การหลัก ท้องถิ่น ท้องที่ ผู้นำและภาคประชาชน มาพูดคุยหาทางออกร่วมกัน ก็ได้ข้อสรุปว่าจะให้ กลุ่มเด็กจิตอาสา ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2553 เป็นกำลังหลักในการทำกิจกรรมเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

“เด็กจิตอาสาตำหนักธรรมมีแกนนำประมาณ 50 คน จะเข้าไปพูดคุยกับเด็กกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ซึ่งส่วนใหญ่จะมีการจับกลุ่มกันที่ศาลาท้ายหมู่บ้าน หรือในจุดใดจุดหนึ่ง ซึ่งกลุ่มเด็กจิตอาสาก็จะเข้าไปพูดคุย ชักชวน เพื่อมาเข้าร่วมกิจกรรม หรือเข้าไปพูดคุยกับเพื่อนในกลุ่มเหล่านั้น ซึ่งเด็กที่สนใจการทำกิจกรรม” วิยะดา เขื่อนแปด นักพัฒนาชุมชนองค์การบริหารส่วนตำบลตำหนักธรรม เล่า

เด็กๆ จิตอาสาตำหนักธรรม ยังช่วยกันรณรงค์ให้มีร้านค้าต้นแบบที่ไม่ขายบุหรี่ให้กับเด็กต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งมีร้านค้าให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทำให้มีร้านค้าต้นแบบเพิ่มขึ้นเรื่องๆ โดยจะไม่ขาย บุหรี่ แอลกอฮอล์ ให้กับเด็กเยาวชนที่อายุไม่ถึง

จากการทำงานอย่างหนัก ทำให้ในวันนี้สถานการณ์ปัญหาในตำบลตำหนักธรรม ทั้งบุหรี่ ยาเสพติด และการดื่มเหล้าขาว ค่อยๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง

รณรงค์ผ่าน TikTok สร้างสู่ชุมชนปลอดบุหรี่

ในปี 2564 ถือเป็นมิติใหม่ของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ เมื่อมีการเชิญชวนให้สร้างคลิปสั้นๆ เกี่ยวกับการรณรงค์ลดการสูบบุหรี่ในชุมชนผ่านแอพพลิเคชั่น TikTok เพื่อสร้างความตระหนักให้กับผู้สูบบุหรี่ และสร้างจิตสำนึกให้กับชุมชนมีส่วนร่วมในการป้องกัน และลดการสูบบุหรี่

         การรณรงค์นี้ยังมีการประกวด TikTok Clip ในหัวข้อ “เลิกสูบ ก็เจอสุข” ด้วย โดยสื่อสารผ่านประเด็นหลัก 4 ประเด็น ได้แก่ 1.คนต้นแบบในการเลิกสูบ, 2.ใครอบครัวไร้ควัน คนในครอบครัวมีผลต่อการเลิกสูบอย่างไร 3.การจัดการสิ่งแวดล้อม หรือกติกาชุมชนที่ส่งผลต่อการเลิกสูบ และ 4.นวัตกรรมการช่วยเลิกสูบ

         ตลอดระยะเวลาเกือบหนึ่งเดือน มีตำบลในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ส่งคลิปเผยแพร่มากมาย สร้างบรรยากาศเลิกสูบในชุมชนอย่างคึกคัก ผู้ที่สนใจสามารถหาชมได้ทางแอพพลิเคชั่น TiKTok ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป