ขนมจีนนวัตกรรมใหม่

DSC_0748

หลังจากที่ได้ยินชื่อของ บุญเรือน สารพันโชติวิทยา มาแล้ว ครานี้เราจะได้พบกับเขา เพราะเราหมายมั่นปั้นมือว่าจะไปหาเขาที่โรงงานขนมจีน

จากช่างหนุ่มแห่งจังหวัดชลบุรี มาเป็นเขยนครปฐม บุญเรือนได้นำความรู้ ประสบการณ์ของตัวเองมาพัฒนาธุรกิจขนมจีนของครอบครัวภรรยาจนเจริญเติบโต และกลายเป็นธุรกิจใหญ่ในพื้นที่เทศบาลตำบลโพรงมะเดื่อ

“ความจริงแล้วธุรกิจขนมจีนเป็นของแม่ยาย เขาทำกันมาหลายรุ่นแล้ว จนได้แต่งงานกับลูกสาวเขา มาช่วยงาน และขยายกิจการ ช่วงแรกเราทำกันแบบง่ายๆ ทำเองขายเอง หาบไปขายกรุงเทพฯ ส่งบ้างเล็กน้อย จนช่วงปี 2531-2532 ที่เราต้องส่งของเยอะขึ้น ก็เลยคิดจะผลิตเครื่องมือ เพราะแรงงานหายากขึ้นเรื่อยๆ” บุญเรือนเล่า

เครื่องมือแรกที่บุญเรือนผลิต คือเครื่องนวดแป้ง ซึ่งความจริงแล้วก่อนหน้านี้ทางแม่ยายบุญเรือนเคยซื้อมาใช้ แต่ว่าเป็นขนาดเล็ก ไม่สามารถรองรับการผลิตจำนวนมากได้ เขาจึงดัดแปลงให้ใหญ่ขึ้น ทำงานได้มากขึ้น

“ตอนนั้นเราคิดว่าทำอย่างไรให้แป้งมันเหนียว เมื่อก่อนเขาก็ใช้เครื่องเพลาเดียว พอแป้งติดก็งัดขึ้น ผมเปลี่ยนให้เป็นสองเพลาแทน ไม่ต้องไปงัด เวลาสั้นลง จากเดิมขนมจีน 1,000 กิโลกรัม ทำตั้งแต่ 8 โมงเลิกเที่ยงคืน แต่พอมีเครื่องขึ้นมา เสร็จตั้งแต่ 6 โมงเย็น แถมยังได้ปริมาณเยอะขึ้น และพัฒนามาเรื่อยๆ วันนี้หนึ่งชั่วโมง เราผลิตได้ 800 กิโลกรัม แต่ถึงอย่างไรก็ต้องใช้แรงงานคน คอยเติมน้ำ คอยดูเครื่อง แต่เทียบแล้วก็ใช้คนน้อยลง” บุญเรือนว่า

เมื่อนวดแป้งเร็วขึ้น เกิดโจทย์ใหม่ตามมา เพราะต้องทำขั้นตอนต่อไปให้รองรับได้ทัน เกิดเป็นเครื่องโรยขนมจีน ซึ่งบุญเรือนยังคงสร้างขึ้นด้วยตัวเอง

“พอผลิตได้มาก ขั้นตอนต่อมา ซึ่งประกอบด้วยศาสตร์และศิลป์ที่เครื่องจักรยังไม่ตอบรับ คือการจับเส้นลงเข่ง ที่ยังต้องใช้แรงงานคนเพิ่มขึ้นในขั้นตอนนี้”

ในวันหนึ่งโรงงานของบุญเรือนสามารถผลิตขนมจีนราว 4,000-5,000 กิโลกรัม ใช้คนงาน 25 คน ซึ่งถ้าผลิตแบบเต็มกำลัง บุญเรือนว่าสามารถทำได้สูงสุดถึง 8,000 กิโลกรัมเลยทีเดียว

“สิ่งที่ยากสุดเวลานี้คือการบรรจุสินค้า เพราะสมัยก่อนไม่มีไซส์หลากหลายเหมือนวันนี้ จับใส่ตะกร้าใหญ่ ซึ่งง่ายกว่า ผิดกับวันนี้ที่ท้องตลาดต้องการไซส์เล็ก ต้องค่อยๆ วางให้พอดี โดยเวลานี้เรามีตะกร้าขนาด ½, 1, 2, 3, 5, 7, 8 และ 10 กิโลกรัม” บุญเรือนเล่า

ส่วนประเภทของเส้นขนมจีน ปัจจุบันผลิตอยู่ 2 แบบ คือเส้นหมักกับเส้นสด ซึ่งแตกต่างกันตรงที่ เส้นหมักต้องนำเมล็ดข้าวไปหมัก จากนั้นก็ไปโม่เอง แล้วค่อยเข้าสู่กระบวนการนวดและหยอด ส่วนเส้นสดนั้น ใช้แป้งสำเร็จรูปที่โม่มาเรียบร้อยแล้ว โดยต้นทุนของเส้นสดจะแพงกว่า แต่ที่โรงงานบุญเรือนจะขายในราคาเท่าๆ กัน

“สมัยก่อนเราไม่ค่อยทำแป้งขาว เราทำแป้งหมักเป็นหลัก แต่สมัยนี้ความนิยมของแป้งขาวมีมากขึ้น เลยต้องผลิตด้วย แต่ถ้าให้ทำเองทุกกระบวนการก็ยุ่งยากเกินไป เพราะเราต้องมาล้างทำความสะอาดแป้งสด ที่สำคัญการทำแป้งสดนี้ต้องใช้น้ำเยอะมาก เลยสั่งสำเร็จมา โดยสัดส่วนการผลิตของทั้งสองแบบอยู่ที่ครึ่ง-ครึ่ง” บุญเรือนสาธยาย

กลุ่มลูกค้าของบุญเรือนมาจากตลาดคลองเตย ที่เข้ามารับเป็นประจำทุกวัน ซึ่งลูกค้าก็จะกระจายต่อไปยังพื้นที่อื่นๆ เช่นดอนเมือง แปดริ้ว บางเลน สุพรรณบุรี ราคาส่งไม่เท่ากัน หากเป็นลูกค้าใหม่ ซื้อจำนวนมาก 200-300 กิโลกรัม คิดกิโลกรัมละ 18 บาท ส่วนลูกค้าที่สั่งกันมานานขายกิโลกรัมละ 16-17 บาท ราคาปลีกอยู่ที่กิโลกรัมละ 20 บาท

นอกจากการบริหารงานในโรงงานแล้ว การบริหารของเสียก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่บุญเรือนให้ความสำคัญ โดยที่นี่มีบ่อบำบัดเก็บน้ำเสีย และทุกสัปดาห์จะจ้างรถดูดส้วมเข้ามาดูดของเสีย

ทุกวันนี้โรงงานขนมจีนเปิดทำการทุกวัน หยุดเฉพาะช่วงปีใหม่และสงกรานต์ ครั้งละ 3 วันเท่านั้น โดยอาศัยให้ลูกจ้างหมุนเวียนหยุดกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ มีบ้างที่มาจากภาคอีสาน

“เราจ่ายค่าแรงเป็นรายวัน หากทำหน้าที่จับเส้น ใช้วิธีเหมาตามน้ำหนักที่ทำได้ หากจับเป็นกระจาด ½-3 กิโลกรัม ให้กิโลกรัมละ 40 สตางค์ แต่ถ้าเป็นแบบเข่ง ขนาด 5-10 กิโลกรัม ให้กิโลกรัมละ 35 สตางค์ เพราะจัดแบบกระจาดใช้ฝีมือมากกว่า” บุญเรือนว่า

กว่า 20 ปีที่มาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ บุญเรือนได้พยายามพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เป็นแหล่งสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนที่ต้องการ พร้อมกันนั้นยังไม่ลืมที่จะนึกถึงคนในชุมชน อย่างที่เราเห็นที่ลานสันทนาการชุมชนหมู่ใหญ่