รพ.สต.ร่วมใจ

DSC_0552

ภาพแรกที่สัมผัสได้ทันทีเมื่อเยื้องกรายเข้าสู่ ‘โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านกรือซอ’ ก็คือพื้นที่ได้รับการจัดเป็นสัดเป็นส่วน ทั้งสวนผักปลอดสารพิษ ห้องน้ำคนพิการ ศูนย์สุขภาพแผนไทย หรือแม้แต่ถังขยะ ที่แยกขยะเปียกขยะแห้ง คงไม่ใช่การกล่าวชมเกินจริง หากจะบอกว่า นี่เป็น รพ.สต. ที่จัดการพื้นที่ได้ลงตัวและสวยงามที่สุดเท่าที่เคยเยือนมา นับเป็นภาพสะท้อนของความใส่ใจในเรื่องคุณภาพและบริการ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยว่าทำไมปี 2557 ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทยถึงตัดสินให้ที่นี่เป็น รพ.สต. ดีเด่นอันดับ 2 ระดับจังหวัด

เมื่อก้าวเข้าสู่ตัวอาคาร เหล่าบุคลากรของโรงพยาบาลต่างออกมาพูดคุยอย่างเป็นกันเอง ไม่ว่าจะเป็นสองสาวพยาบาลวิชาชีพชำนาญการ นาตือเราะห์ รายะ และ มณีรัตนา เจ๊ะมะยูโซ๊ะ หรืออีกสองคนซึ่งเป็นเจ้าพนักงานสาธารณสุขชำนาญการ ไอยซะห์ พรหมปลัด และ อานีซะห์ ดาโอ๊ะ

“รพ.สต.ของเราดูแลพื้นที่หมู่ที่ 3 กับหมู่ที่ 4 จุดเด่นของที่นี่คือความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคีเครือข่ายในพื้นที่ โดยยึดหลักเอาใจเขามาใส่ใจเรา และให้การบริการอย่างเต็มที่” นาตือเราะห์เปิดฉากสนทนา

บุคลากรของที่นี่ไม่ได้ทำงานเชิงรับอย่างเดียว หลายครั้งที่พวกเขาต้องพบเจอกับเหตุการณ์ที่ยากลำบากและท้าทายความสามารถ แต่ก็อาศัยความร่วมมือจากทุกส่วนจึงสามารถผ่านมาได้ ตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งมีคนมาแจ้งว่ามีผู้ป่วยสุขภาพจิตถูกกักขังและถูกล่ามโซ่ไว้ เจ้าหน้าที่ก็ไม่นิ่งนอนใจ รีบลงไปเยี่ยมพร้อมกับทาง อบต.แว้ง โรงพยาบาลแว้ง และ อสม. ทันที เมื่อรู้ปัญหา รพ.สต. จึงประสานกับแพทย์จากโรงพยาบาลแว้งให้ลงมาเยี่ยมผู้ป่วยเป็นประจำทุกเดือน ค่อยๆ รักษา ค่อยๆ บำบัดอยู่เป็นปี จนสุดท้ายผู้ป่วยดีขึ้น สามารถดูแลตัวเองได้

ความสำเร็จเหล่านี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนสำคัญเป็นเพราะความใกล้ชิดระหว่างโรงพยาบาลกับคนไข้ เพราะถึงที่นี่จะเปิดทำการวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.30-16.30 น. แต่เจ้าหน้าที่ทุกคนเตรียมความพร้อมที่จะทำงานตลอดเวลา โดยไม่จำกัดว่าผู้รับบริการจะมาจากพื้นที่ไหน อย่างคนตำบลสุคิรินก็มาที่ รพ.สต.กรือซอ

“เรามีแผนการทำงานที่ชัดเจน วันจันทร์เป็นคลินิกทั่วไป วันอังคารเป็นคลินิกฝากครรภ์ วันพุธเป็นคลินิก EPI หรือสร้างภูมิคุ้มกันโรคในเด็กตั้งแรกเกิดถึง 12 ปี ส่วนวันพฤหัสบดีเป็นคลินิกวางแผนครอบครอบครัว และมีแผนเยี่ยมบ้านในบ่ายวันพฤหัสบดีและวันศุกร์ โดยจะมีการทำแผนว่าในวันนั้นจะไปเยี่ยมคนพิการ ผู้สูงอายุ หรือแม่หลังคลอด หรือผู้ป่วยเบาหวาน ความดัน หรือเด็กน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ จัดเป็นตารางเยี่ยมไว้ โดยจะออกเยี่ยมทั้งคณะ” ไอยซะห์กล่าวบ้าง

เครื่องมือสำคัญที่ รพ.สต. หยิบขึ้นมาใช้เพื่อสร้างเครือข่ายก็คือ อสม. ซึ่งมีอยู่ 41 คน และบังเอิญว่าในจำนวนนี้ มีสมาชิก อบต. 2 คน มีผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 มีภรรยาผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 รวมอยู่ด้วย ฉะนั้นการประสานงาน หรือการประชาสัมพันธ์จึงค่อนข้างง่าย

ไม่ใช่เพียงกิจกรรมเท่านั้นที่เด่น ในเรื่องของนวัตกรรมที่ รพ.สต.บ้านกรือซอ ทำขึ้นก็ไม่เป็นสองรองใคร โดยมีหมอนรองก้นสำหรับตรวจมะเร็งปากมดลูก เพื่อให้ อสม. หรือเจ้าหน้าที่ไปตรวจได้ถึงบ้าน เพราะบางคนก็ไม่กล้ามาตรวจที่โรงพยาบาล แล้วก็มีนวัตกรรมกราฟชีวิตสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งนวัตกรรมนี้ได้อันดับที่ 3 จากการประกวดนวัตกรรมระดับจังหวัด เมื่อปี 2557

ด้วยความที่เป็นสังคมอิสลาม ที่นี่จึงได้มีคลินิกฮัจญ์ เพื่อตรวจสุขภาพคนที่กำลังจะไปแสวงบุญที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย อย่างน้อย 3 ครั้งก่อนไป และหลังไปอีก 1 ครั้ง เพื่อป้องกันโรคและแนะนำเรื่องการดูแลสุขภาพ

“คนที่จะไปฮัจญ์ต้องไปลงทะเบียนก่อน แล้วทางจังหวัดจะแจ้งมาว่าปีนี้ใครบ้างสามารถเดินทางไปทำฮัจญ์ได้ ซึ่งคนที่จะไปต้องฉีดวัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น ไข้หวัดใหญ่ที่โรงพยาบาลแว้ง ส่วนผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงมาก เช่น มีโรคประจำตัว อย่างโรคหัวใจ หอบ ทาง รพ.สต. จะนัดสัปดาห์ละครั้ง หรืออาจจะต้องส่งต่อให้โรงพยาบาลดูแล ถ้าเสี่ยงธรรมดาก็มีโรคเบาหวานที่ไม่ถึงขั้นควบคุมน้ำตาลไม่ได้ ก็จะนัดเดือนละครั้ง หลังจากนั้นก็ต้องผ่านการอบรมให้ความรู้ เตรียมความพร้อม มีการจัดยาและดูแลตัวเองด้วย” นาตือเราะห์กล่าวทิ้งท้าย