‘ดารุลอิควาน’ เยาวชนสร้างสุขกำลัง 3

แม้จะเข้าสู่วัยผู้ใหญ่เต็มตัวแล้ว แต่ สุเทพ มูซอ และ ซอฟูวัน สะมะแอ ก็ยังคงรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของน้องๆ ในพื้นที่ตำบลแว้งเรื่อยมา ด้วยกิจกรรมที่ทำต่อเนื่องมานั้นคือความภาคภูมิใจของพวกเขา ในฐานะของมือเล็กๆ ที่ช่วยรังสรรค์สิ่งดีๆ ให้เกิดแก่บ้านเกิด

ย้อนกลับไปเมื่อราวๆ ปี 2547 ผู้นำเยาวชนแห่งหมู่ที่ 4 บ้านกรือซอ บาฮารูดิง ลอแม (ปัจจุบันเป็นอิหม่ามประจำมัสยิดบ้านกรือซอ) ได้รวบรวมเยาวชนคนรุ่นใหม่ ประมาณ 4-5 คน เข้ามาทำงานจิตอาสาในพื้นที่ ในชื่อกลุ่ม ‘ดารุลอิควาน’ โดยคำว่า ‘อิควาน’ นี้มีความหมายว่า ‘เพื่อน’

กิจกรรมแรกๆ ที่ทำกันคือการสอนตาดีกา สอนการอ่านพระคัมภีร์อัลกุรอาน บ้างก็รวมตัวกันเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่กำลังเดือดร้อน ก่อนจะพัฒนามาเป็นกำลังสำคัญของ อบต. ในการขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ เช่น การรณรงค์เรื่องยาเสพติด การจัดงานประเพณี ทำงานจนเป็นที่รู้จัก และได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งที่สุดกลุ่มหนึ่งในพื้นที่ตำบลแว้ง

ปัจจุบันกลุ่มเยาวชน ‘ดารุลอิควาน’ ใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘เยาวชนสร้างสุขกำลัง 3’ หลังจากที่ได้ร่วมงานกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตั้งแต่ปี 2555 โดยยึดหลัก ส. คือสนุก สร้างจิตอาสา และสร้างสรรค์สังคม โดยมีสมาชิกขับเคลื่อนร่วมร้อยชีวิต อายุคละเคล้ากันตั้งแต่วัย 11-25 ปี

พร้อมกันนั้น ยังมีการต่อยอดเป็นกลุ่มกิจกรรมต่างๆ อีกมากมาย เช่น กลุ่มกีรออาตีพี่สอนน้อง กลุ่มกุมปังอนาซีด และกลุ่มเยาวชนรักต้นน้ำ โดยกลุ่มหลังนี้เป็นกลุ่มที่เปิดโอกาสให้เยาวชนร่วมกันช่วยดูแลป่าต้นน้ำที่หมู่ที่ 4 ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญในการดำรงชีวิตของชาวบ้าน เพราะไหลผ่านทั้งหมู่ที่ 2, 3, 4 และ 6 โดยเยาวชนจะจัดเวร เพื่อช่วยกันเก็บสาหร่าย เดือนละ 1-2 ครั้ง เก็บขยะ และถางป่าบริเวณใกล้เคียง

นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมสอนอาชีพ เช่น สอนตัดผม ซึ่งได้งบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยช่วงแรกมีครูมาสอน พอสอนจนเป็น ก็จะใช้การถ่ายทอดแบบพี่สอนน้อง โดยสอนต่อจากชั่วโมงเรียนตาดีกา

“เรามีการประชุมร่วมกับ อบต.ทุกเดือน โดยกิจกรรมของเราไม่ได้เน้นในเรื่องวิชาการอย่างเดียว แต่เน้นการมีส่วนร่วม เช่น เรามีค่ายปีละ 2-3 ครั้ง มีการจัดซ้อมกิจกรรม เดินพาเหรด ขณะเดียวกันเราพยายามส่งเสริมเรื่องเพื่อนช่วยเพื่อน คือเพื่อนช่วยกันตักเตือน อย่างคนไหนสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ เราก็บอกให้เขาเกรงใจสถานที่ รวมถึงสอดส่องดูแล ช่วยให้ปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะยาเสพติดในพื้นที่เบาลง” สุเทพในฐานะเยาวชนอาวุโส กล่าว

ไม่เพียงเท่านั้น ความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายนอกพื้นที่ก็เป็นอีกสิ่งที่แกนนำเยาวชนให้ความสำคัญ เช่น ร่วมมือกับ สสส. สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม หรือสำนัก 6 สร้างสื่อที่น่าสนใจ ทั้งเอกสาร แผ่นพับ สปอตโฆษณา เพื่อรณรงค์ให้วัยรุ่น ลด ละ เลิก สูบบุหรี่ตามโรงเรียนในพื้นที่ สัปดาห์ละโรงเรียน โรงเรียนละหนึ่งวัน ทั้งยังทำโครงการกับ สปสช. จัดค่ายเยาวชนสร้างสรรค์สังคมพ้นภัยยาเสพติด โดยมีฐานเรียนรู้ต่างๆ ประมาณ 6-7 ฐาน แต่ละฐานจะมีวิทยากรมาให้ความรู้ และยังมีค่ายเยาวชนวัยใสใส่ใจสุขภาพที่เป็นกิจกรรมต่อเนื่องด้วย

นอกจากนี้ทางพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนราธิวาส ก็เข้ามาทำโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนจังหวัดชายแดนภายใต้ ด้วยการสอนเด็กอายุ 9-12 ปี ต่อเนื่อง 6 สัปดาห์ โดยสัปดาห์แรก สอนเรื่องความรับผิดชอบในบ้านก่อน เช่น การพับผ้า ล้างจาน ล้างห้องน้ำ สัปดาห์ที่ 2 สอนเรื่องคุณธรรมจริยธรรม สัปดาห์ที่ 3 สอนเรื่องการทำอาหาร สัปดาห์ที่ 4 สอนทักษะภาษาอังกฤษ และมีกิจกรรมเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุ สัปดาห์ที่ 5 จะเน้นกิจกรรมปั้นดินน้ำมัน ศิลปะ และสัปดาห์สุดท้าย เป็นความรู้เกี่ยวกับยาเสพติด โดยกลุ่มเยาวชนสร้างสุขกำลัง 3 จะคอยทำหน้าที่เป็นตัวกลาง เชื่อมประสานให้กิจกรรมราบรื่น

หากถามว่าอะไรคือจุดเด่นของเยาวชนกลุ่มนี้ ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะกิจกรรมทั้งหมดล้วนเป็นงานจิตอาสา ไม่มีเรื่องเงินเรื่องทองมาเกี่ยวข้อง เกิดขึ้นด้วยเจตนารมณ์ที่ดีทั้งสิ้น แต่สิ่งที่เหนือไปกว่านั้น คือการทำงานของเด็กยังไปกระตุ้นให้ผู้ใหญ่ลุกขึ้นมาร่วมส่งเสริมการทำงานของเด็กและเยาวชน เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ที่ดีต่อไป…