โรงเรียนตาดีกามัสยิดกูวา

DSC_0439

ถึงโรงเรียนตาดีกาหรือโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามจะมีอยู่ในมัสยิดเกือบทุกแห่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่สำหรับ ‘มัสยิดมูบารอ อตุลญีฮาด’ หรือที่ใครหลายคนเรียกติดปากว่า ‘มัสยิดกูวา’ มัสยิดประจำหมู่ที่ 5 ก็มีเรื่องราวให้ชวนติดตามค้นหา ด้วยที่นี่มีระบบการบริหารงานที่น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว

สลมี ตาเละ อิหม่ามประจำมัสยิดเล่าให้ฟังว่า โรงเรียนตาดีกาที่นี่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2516 จากแนวคิดของโต๊ะอิหม่ามคนที่ 3 หยียะโกะ สสมี เริ่มแรกใช้พื้นที่ภายในมัสยิดเป็นที่สอน จนกระทั่งปี 2519 จึงระดมทุนจากชาวบ้านมาสร้างอาคารเรียน ส่วนอุปกรณ์การเรียนก็ขอรับบริจาคจากพ่อแม่ของนักเรียน และใช้ครูจิตอาสา แต่เปิดได้ไม่นานต้องหยุดไป เพราะขาดคนสอน

พอปี 2521 จึงปรับระบบและวิธีการดำเนินงานใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้คนในพื้นที่มากที่สุด โดยเป้าหมายสำคัญ ก็เพื่อเป็นศูนย์ฝึกทักษะชีวิตแก่เด็กมุสลิมทุกคน ก่อนที่จะบรรลุนิติภาวะ ซึ่งตามธรรมเนียมของศาสนาอิสลาม เด็กผู้ชายจะบรรลุนิติภาวะเมื่ออายุครบ 15 ปี ส่วนเด็กผู้หญิงอายุครบ 9 ปี

“สิ่งที่เราสอนคือหลักการอ่าน การเขียน หลักการปฏิบัติทางศาสนา การละหมาด หลักศรัทธา แต่ปัจจุบันเราใช้หลักสูตรของ สช. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน) ตั้งแต่ปี 2542 ซึ่งการมีหลักสูตรกับไม่มีหลักสูตรนี้เป้าหมายแตกต่างกันมากเลย อย่างสมัยที่ไม่มีหลักสูตร เป็นการฝึกทักษะล้วนๆ ไม่มีการสอบ แต่ปัจจุบันเขาอยากต่อยอด เพื่อไม่ต้องไปเรียนซ้ำหลายรอบ เพราะแต่เดิมพอเด็กจบ ป.6 โรงเรียนทั่วไปแล้ว ส่วนหนึ่งจะเข้าโรงเรียนสอนศาสนา ก็ต้องมาเรียนเพิ่มเติมแต่ทุกวันนี้เรียนต่อ ม.1 ได้เลย เพราะมีใบประกาศนียบัตรรับรองให้” สลมีเล่า

พร้อมกันนี้ ทางโรงเรียนตาดีกายังพยายามทำงานเชื่อมโยงกับชาวบ้าน ด้วยการขอร้องให้กลุ่มแม่บ้านมาช่วยทำอาหารเลี้ยงเด็กตาดีกาทุกสัปดาห์ ทั้งมีจัดกิจกรรมเข้าค่ายฤดูร้อน โดย อบต. เข้ามาสนับสนุนในเรื่องของอาหารกลางวัน

ปัจจุบันโรงเรียนตาดีกาที่นี่ เปิดสอนทุกวันเสาร์-อาทิตย์ วันละ 8 ชั่วโมง โดยมีครู 7 คน นักเรียน 121 คน ส่วนใหญ่มาจากหมู่ที่ 5 บ้านกูวา และหมู่ที่ 6 บ้านบาลูกา มีปิดภาคช่วงเดือนรอมฎอน โดยครูที่นี่จะได้รับเงินเดือนจากสำนักงานคณะกรรมการศึกษาเอกชนโดยตรง ในฐานะที่เป็นผู้ดูแล พร้อมกันนั้น ครูแต่ละคนจะต้องเข้าอบรมหลักสูตรการเรียน ทั้งการวางระบบ การวางแผนการสอน ภายใต้ 8 กลุ่มสาระวิชา คือ ศาสนบัญญัติ ศาสนประวัติ อัลกุรอาน จริยธรรม ภาษาอาหรับ ภาษามลายูและรูมี วจนะอิสลาม และหลักศรัทธา

นอกจากนั้น ทางโต๊ะอิหม่ามยังพยายามสร้างมาตรฐาน ด้วยการทำระบบสวัสดิการแก่ครู นักเรียน รวมไปถึงชาวบ้านในพื้นที่ผ่านกองทุนที่เกิดขึ้นจากเงินเดือนของครู

“จุดเด่นของโรงเรียนเรา คือวิธีจ่ายเงินเดือนครู ปกติ สช. ให้มาเดือนละ 3,000 บาท แต่มติของเราคือจ่ายครูวันละ 300 บาท ส่วนที่เหลือมารวมไว้ที่กองกลาง ตั้งเป็นกองทุนสวัสดิการครูผู้สอนตาดีกาและนักเรียน สามารถยืมไปใช้เวลาจำเป็น หรือไม่ก็เป็นค่าใช้จ่ายเวลาประชุม หรืออบรมนอกเวลาทำงาน ซึ่งถ้าเป็นในพื้นที่จ่ายให้ 100 บาท นอกพื้นที่ 200 บาท นอกจากนี้ เรายังช่วยรับจำนองสวนยางของชาวบ้าน ซึ่งคณะกรรมการจะเป็นผู้พิจารณา ชาวบ้านจะใช้หนี้โดยการแบ่งยางที่กรีดได้ครึ่งหนึ่ง สัญญามีระยะเวลาประมาณ 2 ปี บางทีให้จำนองแล้วอาจมีกำไรบ้าง ขาดทุนบ้าง ไม่เป็นไร เพราะเราใช้ความเชื่อใจเป็นหลัก โดยปัจจุบันกองทุนฯ มีเงินอยู่ประมาณ 70,000 กว่าบาท” โต๊ะอิหม่ามสรุป…