แทบจะเรียกว่าเป็นเหตุการณ์ปกติไปเสียแล้ว สำหรับเรื่องน้ำท่วม พายุเข้า ในพื้นที่เขตตำบลแว้ง ทว่าถึงเหตุการณ์จะเกิดประเดี๋ยวประด๋าว แต่พอผ่านไปกลับทิ้งร่องรอยความเสียหายเอาไว้ ด้วยส่วนใหญ่ประชาชนหลายคนก็ไม่ได้ระมัดระวัง หรือเตรียมตัวเท่าที่ควร
สองหัวแรงหลักในการขับเคลื่อนเรื่องการจัดการภัยพิบัติ สะอารี ดีมูแล ปลัด อบต.แว้ง และ ส.ต.ท.วิรัช ช่วยเสน หัวหน้างานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อบต.แว้ง ร่วมกัน ฉายภาพกันแบบชัดๆ ว่าอะไรคือสิ่งที่คนแว้งต้องเผชิญกันบ้าง และที่ผ่านมามีวิธีการแก้ไขปัญหาได้อย่างไร
“ในอำเภอแว้งมีภัยพิบัติที่สำคัญ คืออุทกภัยและวาตภัย โดยเฉพาะอุทกภัยที่เกิดเฉลี่ยปีหนึ่ง 3 ครั้ง ที่หนักๆ เลยจะอยู่ในช่วงเดือนตุลาคมถึงมกราคม ที่ผ่านมาเราแก้ปัญหาด้วยการจำแนกพื้นที่ที่เกิดภัยพิบัติซ้ำซากออกมาให้เห็นชัดเจน คือจุดไหนบ้างที่เป็นจุดผ่านของคลอง ซึ่งก็คือจากหมู่ที่ 4 บางส่วน ถึงหมู่ที่ 3 จากนั้นก็มาที่หมู่ที่ 2 แล้วก็ไปออกที่หมู่ที่ 1 หมู่ที่ 7 และหมู่ที่ 6 บางส่วน ซึ่งในแต่ละปี อุทกภัยจะวนผ่านตรงนี้ เลยมีการวิเคราะห์กับทีมงานกลุ่มจิตอาสาในพื้นที่ กำนันผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งก็พบว่าปัญหาเริ่มต้นมาจากเทือกเขากรือซอ โดยน้ำจะลงมาเรื่อยๆ ผ่านที่บ้านกรือซอก่อน แล้วต่อไปที่บ้านเจ๊ะเหม จุดไคลแมกซ์ของน้ำคือที่บ้านเจ๊ะเหม หมู่ที่ 3 นี่แหละ เพราะน้ำจะขึ้นช่วงหัวรุ่ง ถ้าเราแก้ไขจุดนี้ได้ จุดอื่นก็จะแก้ไขได้ เราจึงต้องรวมกำลังทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ข้าวของอุปกรณ์ช่วยเหลือ ตลอดจนแผนการรับมือ” ปลัด อบต.แว้งกล่าว
กลุ่มบุคคลที่ถูกดึงมาเป็นมือไม้ในภารกิจนี้ ประกอบด้วยหน่วยงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สมาชิก อพปร. และเจ้าของพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมไปถึงกลุ่มจิตอาสา
สิ่งสำคัญที่กลุ่มทำได้อย่างแรกคือการเตือนภัย โดยที่นี่จะใช้มิสเตอร์เตือนภัย ซึ่งมีทั้งแบบที่ อบต.ตั้งขึ้นมา และแบบจิตอาสา ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ เพื่อทีมงานจะได้เตรียมรับมือสถานการณ์ได้ เช่น ถ้าฝนตกหนัก 2-3 วันแล้วยังไม่หยุด มีโอกาสมากที่จะเกิดน้ำหลาก ทางกลุ่มต้องใช้วิทยุสื่อสารประสานไปยังจุดต่างๆ เพื่อเตรียมสร้างแนวป้องกัน หรือเตรียมอพยพ โดยกลุ่มมีข้อมูลอย่างละเอียดว่าบ้านไหนมี กลุ่มเสี่ยง อย่างเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งจะได้รับการพาออกนอกจุดเกิดเหตุก่อน
“หลายครั้งชาวบ้านคิดว่าน้ำที่ไหลมาไม่แรง แต่ความจริงแล้วแรง การมีกลุ่มตรงนี้ เป็นการเตรียมพร้อม อย่างน้อยก็เพื่อลดความเสียหายให้ได้มากที่สุด” ปลัดฯ สะอารีกล่าวย้ำ
ด้วยความที่ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นในพื้นที่ตำบลแว้ง หากยังต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ไป จึงจำเป็นต้องสร้างเครือข่ายขึ้น ทั้งจากตำบลกายูคละ ตำบลเอราวัณ เพื่อแบ่งปันข้อมูล บุคลากร อุปกรณ์ต่างๆ ด้วย
“ในพื้นที่ อบต.กายูคละจะมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ทำให้กลายเป็นพื้นที่รับน้ำมากที่สุด เราก็ต้องเตรียมอุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือเขาด้วย” ส.ต.ท.วิรัช กล่าว
แม้จะมีการป้องกัน แต่ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะถึงจะมีแอ่งรับน้ำ และมีการขุดลอกคูคลองอยู่ตลอด หรือหาวิธีเปลี่ยนทางน้ำ ก็คงบรรเทาได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น ด้วยภัยพิบัติเหล่านี้เกิดขึ้นเร็ว และหลายครั้งก็ผิดเพี้ยนจากที่เตรียมการไว้
ส่วนปัญหาภัยพิบัติอื่นๆ อย่างวาตภัย หรืออัคคีภัยนั้น ส่วนใหญ่คาดเดาได้ค่อนข้างยากว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร แต่ก็มีเตรียมตัวอยู่เสมอ ทั้งการจัดทีมในลักษณะเดียวกับการป้องกันอุทกภัย พร้อมกันนั้นยังมีการฝึกร่วมระหว่าง 3 อบต. คือ อบต.แว้ง อบต.ยูกาคละ และ อบต.สากอ (อยู่ในเขตพื้นที่อำเภอสุไหงปาดี) โดยมีการฝึกป้องกันภัยทางน้ำ ฝึกการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ฝึกการช่วยเหลือดับเพลิง โดยมีการจำลองเหตุการณ์ไฟไหม้ขึ้น ซึ่งถือเป็นบทเรียนที่ทีมงานนำมาประยุกต์ใช้ได้ในพื้นที่