สสส. ผนึกเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ขับเคลื่อนตำบลขับขี่ปลอดภัย “ลดเร็ว ลดเสี่ยง เลี่ยงตาย” ชุมชนท้องถิ่นจัดการได้

สำนักงานสนับสนุนสุภาวะชุมชน (สำนัก 3) และสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม (สำนัก 10) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการออกแบบและวางแผนขับเคลื่อน “ตำบลขับขี่ปลอดภัย” โดยชุมชนท้องถิ่น ระหว่างวันที่ 19-20 ธันวาคม 2564 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุม 18 แห่ง
.
โดยมีวัตถุประสงค์
1. เพื่อถอดบทเรียนและออกแบบกิจกรรมงาน “ตำบลขับขี่ปลอดภัย” ของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ อันจะนำไปสู่การขับเคลื่อนในระดับพื้นที่และหนุนเสริมการขับเคลื่อนเชิงนโยบายระดับอำเภอ จังหวัดและประเทศ
2. เพื่อจัดทำข้อเสนอโครงการในการดำเนินงานเป็นศูนย์ประสานงานเครือข่ายเฉพาะประเด็นจัดการความปลอดภัยทางถนนโดยชุมชนท้องถิ่น (ศปง.ขับขี่ปลอดภัย)
     ตลอดการประชุมเชิงปฏิบัติการทั้ง 2 วัน เครือข่ายตำบลขับขี่ปลอดภัย ต่างมุ่งมั่นตั้งใจถอดบทเรียนและออกแบบกิจกรรม “ตำบลขับขี่ปลอดภัย” ของพื้นที่ตนเองอย่างแข็งขัน ภายใต้ 4 ปฏิบัติการคือ ปฏิบัติการที่ 1 ทบทวนข้อมูลสถานะของชุมชน ทุนทางสังคม และศักยภาพการจัดการความปลอดภัยทางถนนโดยชุมชนท้องถิ่น ต่อด้วย ปฏิบัติการที่ 2 ทบทวนการดำเนินงานการจัดการความปลอดภัยทางถนนโดยชุมชนท้องถิ่น จากนั้นเริ่มต้นปฏิบัติการที่ 3 สรุปงานเด่น นวัตกรรม และออกแบบการจัดการความปลอดภัยทางถนนโดยชุมชนท้องถิ่น และสุดท้าย ปฏิบัติการที่ 4 การออกแบบแนวทางข้อเสนอโครงการศูนย์ประสานงานจัดการความปลอดภัยทางถนนโดยชุมชนท้องถิ่น
ทั้งนี้การขับเคลื่อนตำบลขับขี่ปลอดภัย จะดำเนินการภายใต้ 5 ชุดกิจกรรมการจัดการความปลอดภัยทางถนน ประกอบด้วย
1.การบริการและช่วยเหลือ เช่น จัดตั้งหน่วยบริการดูแล กำหนดให้มีแนวทางในการเฝ้าระวังอุบัติเหตุ
2.การรณรงค์ขับขี่ปลอดภัย เช่น การรณรงค์ป้องกันอุบัติ จัดทำธรรมนูญตำบลหรือมาตรการชุมชน การบังคับใช้กฎหมาย
3.การพัฒนาศักยภาพคน รถ ถนน เช่น การฝึกอบรมพัฒนาทักษะกฎหมาย กฎจราจร ปรับโครงสร้างถนน ไม่ว่าจะเป็นพื้นผิวถนน ไฟส่องสว่าง พร้อมทั้งมีศูนย์ตรวจเช็กสภาพรถในชุมชน
4.การจัดสภาพถนน และสิ่งแวดล้อม คือ ประกาศข้อกำหนดด้านจราจรในเขตชุมชน ทำป้ายแจ้งเตือนความเร็ว กำหนดให้พื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่ปลอดเหล้า
5.การพัฒนานโยบายและแผน โดยจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนน(ศปถ.) จัดทำข้อมูลความเสี่ยง พัฒนาระบบข้อมูลเฝ้าระวัง รวมไปถึงบรรจุโครงการในข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติ
“ตำบลขับขี่ปลอดภัย” จะดำเนินงาน 3 ระยะ คือ ระยะป้องกันและเฝ้าระวัง ระยะเกิดเหตุ และระยะหลังเกิดเหตุและฟื้นฟู โดยมีเป้าหมายดำเนินการกว่า 100 ตำบล ทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม ช่วง 7 วันอันตราย ในเทศกาลปีใหม่ 2565 พื้นที่เครือข่ายมีเป้าหมายลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุด้วยการพัฒนาศักยภาพ คน รถ ถนน เช่น รณรงค์ลดอุบัติเหตุจราจรทางถนน ตั้งด่านชุมชน แก้ปัญหาจุดเสี่ยง และเช็กสภาพรถ ภายใต้แคมเปญ “ลดเร็ว ลดเสี่ยง เลี่ยงตาย” ชุมชนท้องถิ่นจัดการได้