ชุมชนนี้ไม่มีคนตาย! 7 วันอันตราย ท้องถิ่นจัดการได้

ชุมชนนี้ไม่มีคนตาย! 7 วันอันตราย-ท้องถิ่นจัดการได้
หลังจากสำนักงานสนับสนุนสุภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ได้ร่วมกันออกแบบกิจกรรม “ตำบลขับขี่ปลอดภัย” ก่อนนำไปสู่การขับเคลื่อนระดับพื้นที่ภายใต้แคมเปญ “ลดเร็ว ลดเสี่ยง เลี่ยงตาย : ชุมชนท้องถิ่นจัดการได้” ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2565 หรือช่วง 7 วันอันตรายที่ผ่านมา
จากการสำรวจพื้นที่ 15 ตำบลของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ ประกอบด้วย 1.อบต.ปากโทก อ.เมือง จ.พิษณุโลก 2.อบต.ทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย 3.ทต.สันทราย อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ 4.อบต.เมืองจัง อ.ภูเพียง จ.น่าน 5.ทต.ปัว อ.ปัว จ.น่าน 6.อบต.หนองพิกุล อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ 7,อบต.ผาสามยอด อ.เอราวัณ จ.เลย 8. ทต.โพนสูง อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด 9.ทต.กุดจิก อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา 10.อบต.ตะเคียน อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ 11,อบต.ดงละคร อ.เมือง จ.นครนายก 12.อบต.บ้านในดง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี 13.ทต.วังไผ่ อ.เมือง จ.ชุมพร 14.อบต.นาทอน อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล และ 15.อบต.สะพานไม้แก่น อ.จะนะ จ.สงขลา
พบว่า ในช่วง 7 วันอันตรายระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2563 – 4 มกราคม 2564 ทั้ง 15 ตำบลเกิดอุบัติเหตุรวมกันทั้งหมด 86 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 29 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต ขณะที่ภาพรวมของทั้งประเทศพบว่า เกิดอุบัติเหตุรวม 3,333 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 392 ราย และบาดเจ็บ 3,326 คน
ในจำนวน 15 ตำบลนี้ มีถึง 6 อปท.ที่บริหารจัดการได้ดีและไม่เกิดอุบัติเหตุในช่วง 7 วันอันตรายเลย ได้แก่อบต.เมืองจัง, อบต.หนองพิกุล, อบต.ผาสามยอด, ทต.กุดจิก, อบต.บ้านในดง และ อบต.นาทอน โดยทั้ง 6 พื้นที่ต่างใช้มาตรการเฝ้าระวังความปลอดภัยทางถนนอย่างเข้มงวด มีการประสานการทำงานร่วมระหว่าง 4 องค์กรหลักในพื้นที่อย่างได้ผล มีการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในการตระหนักถึงการรักษาระเบียบวินัยในการใช้รถใช้ถนนอย่างต่อเนื่อง

หลังจากนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ประมาณ 150 ตำบลที่เข้าร่วมโครงการ “ตำบลขับขี่ปลอดภัย” จะลงไปทำงานในพื้นที่อย่างเข้มข้นและต่อเนื่องภายใต้ 5 ชุดกิจกรรมการจัดการความปลอดภัยทางถนน ประกอบด้วย 1) การบริการและช่วยเหลือ เช่น จัดตั้งหน่วยบริการดูแล กำหนดให้มีแนวทางในการเฝ้าระวังอุบัติเหตุ 2) การรณรงค์ขับขี่ปลอดภัย เช่น การรณรงค์ป้องกันอุบัติ จัดทำธรรมนูญตำบลหรือมาตรการชุมชน การบังคับใช้กฎหมาย 3) การพัฒนาศักยภาพคน รถ ถนน เช่น การฝึกอบรมพัฒนาทักษะกฎหมาย กฎจราจร ปรับโครงสร้างถนน ไม่ว่าจะเป็นพื้นผิวถนน ไฟส่องสว่าง พร้อมทั้งมีศูนย์ตรวจเช็คสภาพรถในชุมชน 4) การจัดสภาพถนน และสิ่งแวดล้อม คือประกาศข้อกำหนดด้านจราจรในเขตชุมชน ทำป้ายแจ้งเตือนความเร็ว กำหนดให้พื้นที่สาธารณเป็นพื้นที่ปลอดเหล้า และ 5) การพัฒนานโยบายและแผน โดยจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) จัดทำข้อมูลความเสี่ยง พัฒนาระบบข้อมูลเฝ้าระวัง รวมไปถึงบรรจุโครงการในข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติ ทั้งนี้จะดำเนินงาน 3 ระยะ คือ ระยะป้องกันและเฝ้าระวัง ระยะเกิดเหตุ และระยะหลังเกิดเหตุและฟื้นฟู
เชื่อว่าอุบัติเหตุในพื้นที่ในปีต่อๆ ไปจะลดลงอีกอย่างแน่นอน และอาจเป็นศูนย์ได้ถ้าพวกเราร่วมมือกัน
#เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่
#สสส.
#ลดเร็ว ลดเสี่ยง เลี่ยงตาย ชุมชนท้องถิ่นจัดการได้