“อสม. 3 ล้อ เชิงรุก” ดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ชมรม อสม. วังผาง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน

ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (Aged Society) มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 จนถึงปี พ.ศ.2564 ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ไทยมีสัดส่วนประชากรกลุ่มผู้สูงอายุหรือมีอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 12 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 6 ของประชากรไทย ถือเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มอาเซียน รองจากประเทศสิงคโปร์ และกำลังจะขยับขึ้นเป็นสังคมสูงอายุแบบสุดยอด (Hyper Aged Society) ซึ่งมีสัดส่วนประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปีถึงร้อยละ 20 หรือมีประชากรอายุมากกว่า 60 ปีกว่าร้อยละ 30 ภายในปี พ.ศ.2584 โดยคาดว่าการขยับนี้ใช้เวลาเร็วกว่าประเทศญี่ปุ่นเสียอีก

จากข้อมูลของเทศบาลตำบลวังผางเองพบว่า ปี 2565 มีสัดส่วนผู้สูงอายุคิดเป็นร้อยละ 32.86 ของประชากรทั้งหมดในพื้นที่ ซึ่งไม่ใช่แค่เฉพาะตำบลวังผาง เพราะทั่วทั้งประเทศก็กำลังดำเนินรอยตามสถานการณ์ผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขี้นนี้ เหตุนี้เองจึงเกิดการสร้างระบบคุ้มครองทางสังคมขึ้น มีการดำเนินงานที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วนในหลายระดับ หนึ่งในนั้นคือ ลุง ๆ ป้า ๆ จากชมรม อสม. วังผาง ที่คอยดูแลและเป็นแนวหน้าในการวางแผนดูแลสุขภาพ เพื่อให้ทุกคนมีสุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์และสังคม จนเกิด “นวัตกรรมสามล้อพ่วง ห่วยใยสุขภาพ” ขึ้น

         คุณพ่อสุพจน์ วังเวียง ประธาน อสม. ตำบลวังผาง เล่าถึงไอเดียการทำ ‘รถสามล้อพ่วง’ ว่า จุดเริ่มต้นเกิดจากในชุมชนมีผู้สูงอายุเยอะ ถึงแม้บางบ้านจะอยู่กับลูกหลาน แต่ในช่วงกลางวันลูกหลานก็ต้องไปทำงาน ยิ่งบางครั้งเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉิน หกล้ม ลื่นในห้องน้ำ หรือมีดบาด อุบัติเหตุเล็กน้อยเหล่านี้อาจก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา เพราะผู้สูงอายุส่วนใหญ่เป็นความดัน เบาหวาน แค่มีดบาดนิดเดียวทิ้งไว้ไม่รักษาก็ทำให้เกิดการเผาเปื่อย ตามมาด้วยปัญหาอื่น ๆ ได้

         “อสม. 1 คนจะรับผิดชอบในการดูแลลูกบ้าน 10 หลังคาเรือน ทำให้การดูแลผู้สูงอายุเอย หรือแม้กระทั้งการเฝ้าระวังกลุ่มเปราะบางในพื้นที่นั้นทั่วถึง อสม.จะเป็นคนประสานมายั่งกลุ่ม อสม.ของชุมชน มีตารางการใช้รถสามล้อเลยว่า วันนี้จะต้องไปรับส่งใครบ้าง ใครมีคิวไปหาหมอ ล้างแผล ทุกชุมชนจะมีรถสามล้อพ่วงอยู่ 1-2 คัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรถสามล้อพ่วงข้างธรรมดา ไม่มีหลังคา ให้รับส่งผู้ป่วยทั่วไป แต่ถ้าเคสไหนที่เป็นคุณยายที่เดินไม่ได้ นั่งอยู่ในรถเข็นตลอดเวลา ต้องอาศัยรถพ่วงข้างที่เราต่อเติมขึ้นใหม่ ก็ต้องวางแผนเวลาและตารางใช้รถให้ดี เพราะตอนนี้ในชุมชนเรามีรถสามล้อพ่วงข้างที่สมบูรณ์แบบนี้เพียง 1 คัน เพราะการประกอบวัสดุเหล่านี้มีต้นทุน ซึ่งตกอยู่ประมาณ 65,000-70,000 บาท”   

         รถสามล้อพ่วงถูกพัฒนาต่อยอดมาจากรถพ่วงข้างที่ใช้ในชุมชน ผ่านเหล่า อสม. ที่ใช้งานจริงร่วมกับช่างฝีมือในพื้นที่ อำนวยความสะดวกให้คนในชุมชนโดยไม่คิดค่าบริการ ซึ่งชมรม อสม. มีงบประมาณจากกองทุนขยะทองคำ ที่รับบริจาคขยะรีไซเคิลจากชุมชน เพื่อนำไปขายและนำเงินเข้ากองทุนต่อยอดทำงานของกลุ่ม อสม. ที่กระจายอยู่ในชุมชนต่าง ๆ เงินส่วนนี้ใช้เป็นต้นทุนในการพัฒนารถสามล้อ ซึ่งเมื่อเทียบกับความต้องการจริงในพื้นที่แล้วยังนับว่าไม่เพียงพอ

         “รถสามล้อพ่วงมีการใช้บริการทุกวัน เราจึงมีแผนจะทำรถสามล้อพ่วง ที่สมบูรณ์นี้ให้เกิดขึ้นในชุมชนอื่น ๆ เพราะเดิมเราจะนัดรับส่งผู้สูงอายุในช่วงบ่าย ที่แดดร่มลมตก วันไหนที่คิวซ้อน รับส่งหลายคนก็จะต้องทนนั่งตากแดดร้อนในรถสามล้อเดิมไป พอรถมีหลังคา มีสายรัดเพื่อความปลอดภัยที่แข็งแรง ก็สะดวกขึ้นทั้งผู้สูงอายุเอง และคนไปรับไปส่งด้วย”

นวัตกรรมสามล้อพ่วง ห่วยใยสุขภาพ ช่วยลดปัญหาในการเข้าถึงบริการของผู้สูงอายุ แถมยังป้องกันไม่ให้เกิดการตกหล่นในการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการ ตลอดจนกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ สามล้อพ่วงข้างก็ยังทำหน้าที่ในการให้บริการรับ-ส่ง กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน