เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2568 ที่ห้องประชุม 3 อาคาร HS05 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดประชุม “สานพลังภาคีอาสา สร้างจังหวัดเข้มแข็ง” จังหวัดขอนแก่น ภายใต้การทำงาน “ภาคีอาสา” (Area Strengthening Alliance – ASA) ภาคีสานพลังพื้นที่เข้มแข็ง หรือ ภสพ.

ประกอบด้วยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วยภาคีภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสื่อมวลชน เข้าร่วมประมาณ 200 คน
การประชุมครั้งนี้มุ่งเน้นเป้าหมายที่การเชื่อมโยงนโยบายระดับสูง 7 หน่วยงานหลักสู่การปฏิบัติระดับพื้นที่ ก่อนนำไปสู่การสร้างจังหวัดเข้มแข็งที่จัดการตัวเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมกันนั้นยังเป็นการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิด “ภาคีอาสา” เพื่อกำหนดแนวทางการทำงานร่วมกันและลงไปเรียนรู้ต้นแบบการพัฒนาในพื้นที่ที่มีศักยภาพจนสามารถขยายผลได้

ภาคีอาสาสร้างจังหวัดเข้มแข็ง ดำเนินงานภายใต้แผนงาน “การสร้างจังหวัดเข้มแข็งโดยใช้พื้นที่เป็นฐานและบูรณาการทุกภาคส่วน” ซึ่งมีแนวคิดหลักสำคัญคือ การใช้พื้นที่เป็นฐานโดยใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่และบริบทเฉพาะของแต่ละจังหวัดในการออกแบบงาน ให้มี การบูรณาการทุกภาคส่วน ระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนที่สอดคล้องกัน พร้อมกันนั้นต้อง สร้างการมีส่วนร่วม ของประชาชนและทุกภาคส่วนในการดำเนินงานและตัดสินใจ ที่สำคัญต้องมี การวัดผลลัพธ์ที่ชัดเจน โดยใช้ตัวชี้วัดที่วัดผลได้
แผนงานดังกล่าว ดำเนินการอย่างเป็นระบบด้วยความร่วมมือจาก 7 หน่วยงานหลัก ประกอบด้วย สสส. สช. นิด้า สวรส. บพท. พอช. และ สปสช. เพื่อบูรณาการการทำงาน ทรัพยากร และองค์ความรู้สู่การพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน โดยในปี 2568 เริ่มต้นนำร่อง 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย นครสวรรค์ ขอนแก่น ตราด และพัทลุง คาดหวังให้เกิดการสานและถักทอเครือข่ายที่หลากหลายในพื้นที่ จนกระทั่งมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันขับเคลื่อนในพื้นที่ของตนเอง
สำหรับแนวทางการบูรณาการของจังหวัดขอนแก่น มีเป้าหมาย “คนขอนแก่น อยู่ดีมีแฮง เข้มแข็งยั่งยืน” ยึดหลักการบริหารความหลากหลายของหน่วยงานต่างๆ “เชื่อมคน-เชื่อมงาน-สร้างนโยบาย” ภายใต้การบูรณาการที่ให้เห็นภาพรวมของทั้งจังหวัดซึ่งมาจากข้อมูลที่เป็นจริง ก่อนจะสื่อสารเพื่อผลักดันนโยบายสร้างการรับรู้ร่วมกันทั้งจังหวัด ที่สำคัญต้องมีวิสัยทัศน์ พันธกิจ และกลไกการทำงานร่วมกัน

โอกาสนี้คณะทำงานภาคีอาสายังได้ลงพื้นที่เรียนรู้รูปธรรมที่เทศบาลตำบลสาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น เพื่อให้เห็นรูปธรรมการสานพลังพัฒนาโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน ซึ่งเทศบาลตำบลสาวะถีแห่งนี้ เคยเป็น “ตำบลสุขภาวะ” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) มาตั้งแต่ปี 2557 ปัจจุบันเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญที่หลายๆ หน่วยงานให้การสนับสนุน
#สสส#ภาคีสานพลังพื้นที่เข้มแข็ง#ภสพ#ASA#เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่#สำนักส่งเสริมสุขภาวะชุมชน

