สุขศาลาคำกั้ง

บ้านหมู่ที่ 4 และ 10 บ้านคำกั้ง ตั้งอยู่ห่างจากศูนย์กลางตำบลเหล่าใหญ่ ที่นี่อยู่ในเขตความรับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านกุดฝั่งแดง แต่ความที่เป็นหมู่บ้านใหญ่ จึงทำให้ที่นี่มีศูนย์บริการด้านสาธารณสุขอยู่ด้วย ภายใต้ชื่อ ‘สุขศาลาคำกั้ง’ ซึ่งตั้งอยู่ข้างๆ วัดหอคำ

ประมวล มุริกา อสม. หมู่ที่ 10 บ้านคำกั้งเล่าให้ฟังว่า ที่นี่เป็นศูนย์กลางของอาสาสมัครสาธารณสุขในหมู่ที่ 4 และ 10 เป็นหน่วยบริการสาธารณสุขมูลฐานซึ่งมีชาวบ้านจำนวนมากแวะเวียนมาหาตลอดทั้งวัน

แต่เดิมในปี 2535 ทั้ง 2 หมู่บ้านไม่ได้รวมตัวกันแบบนี้ ทำงานต่างคนต่างทำ ทว่าด้วยความที่ อสม. ที่นี่ไม่มีที่ทำงานที่เป็นเอกเทศ ต้องอาศัยบ้านผู้ใหญ่บ้านบ้าง บ้านสมาชิกบ้าง ในที่สุดจึงตัดสินใจมารวมตัวกัน โดยสุขาภิบาลมีงบให้หมู่บ้านละ 20,000 บาท รวม 40,000 บาท เพื่อจัดสร้างอาคาร โดยได้รับความอนุเคราะห์จากเจ้าอาวาสวัดหอคำให้พื้นที่มุมหนึ่งของวัดมาก่อสร้าง ใช้เวลาสร้างอยู่ 4 ปี แล้วเสร็จในปี 2539 แต่มาเปิดทำการจริงในปี 2541

จากนั้นต่อเติมอาคารเรื่อยมา โดยอาศัยเงินบริจาคของภาคประชาชนผ่านการทำผ้าป่าสามัคคี ปัจจุบันสุขศาลาคำกั้งมีอาคารอยู่ 4 หลัง ใช้เป็นที่อยู่ร่วมกันระหว่างสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์ เทศบาลตำบลเหล่าใหญ่ และประชาชนในพื้นที่

ขณะที่ นาง แสนพวง อสม.หมู่ที่ 10 อีกคน เสริมว่า ทุกวันนี้มี อสม.ประจำการอยู่ 29 คน มีการจัดเวรการทำงานที่ชัดเจน โดยช่วงกลางวันจะเป็นเวรของ อสม. ผู้หญิง ครั้งละ 2-3 คน ส่วนผู้ชายจะอยู่เวรกลางคืนผลัดละ 1-2 คน โดยมีกิจกรรมหลักประมาณ 14-15 กิจกรรม แต่แบ่งใหญ่ๆ ได้เป็นงานปฏิบัติเชิงรุกและรับ

“เชิงรุกในที่นี้หมายถึงการออกเยี่ยมประชาชน ผู้ด้อยโอกาส ผู้ป่วยติดเตียง ส่วนเชิงรับคือการประจำการอยู่ที่นี่ เพื่อให้บริการปฐมพยาบาล ให้ความรู้แก่สตรีวัยเจริญพันธุ์และตั้งครรภ์ การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง รวมไปถึงบริการนวดแผนไทย โดยที่นี่จะมีทั้งการอบ ประคบ นวดสมุนไพร โดยวันหนึ่งจะมีคนเข้ามาใช้บริการประมาณ 10-15 คน” นางว่า

นอกจากนี้สุขศาลาคำกั้งยังส่งเสริมให้ชุมชนปลูกพืชสมุนไพร เอาผลผลิตมาจำหน่าย และยังทำลูกประคบส่งไปที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์ โดยสิ้นปีจะมี

การแบ่งกำไรกัน ร้อยละ 80 มอบให้ อสม.ตามระยะเวลาการเข้างาน และอีกร้อยละ 20 เป็นกองกลางสำหรับกิจกรรมอย่างอื่นไม่เพียงเท่านั้น ที่นี่ยังมีระบบเสียงตามสาย โดยจะมีการเปิดเพลง ด้วยแต่เดิมที่สุขศาลาคำกั้งมีชาวบ้านมารวมตัวกันออกกำลังกาย แต่พอถึงหน้านาก็เงียบๆ ไป เพราะคนไม่มีเวลา ภายหลังไม่สานต่อ ก็เลยเงียบหายไป อสม.จึงวางกุศโลบายด้วยการเปิดเพลงเพื่อชักชวนให้ชาวบ้านออกกำลังกายกันที่บ้าน หรือที่ท้องนา

ที่สำคัญในช่วงเช้าเวลา 07.30 – 09.00 น. ของทุกวันทำการ อุดม ยลถวิล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกุดฝั่งแดงก็จะมาประจำการเพื่อตรวจชาวบ้านด้วย เพราะที่นี่อยู่ภายใต้การดูแลของ รพ.สต.กุดฝั่งแดง นอกจากนี้ยังมีทีมไม้เลื้อย ซึ่งเป็นสหวิชาชีพจากโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์ และองค์การแพทย์ไร้พรมแดน ซึ่งทำงานด้านโรคเอดส์มาตรวจร่างกายและให้ความรู้เป็นประจำทุกเดือนด้วย

กระนั้น ผลงานที่ถือว่าสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ทีม อสม.ที่นี่ คือการเป็นแกนกลางในการขจัดโรคไข้เลือดออกให้หมดไปจากพื้นที่ โดยประมวลเล่าว่า ก่อนหน้านี้บ้านคำกั้งจะมีโรคไข้เลือดออกระบาดทุกปี ซึ่งการแก้ปัญหาคือใช้เครื่องพ่นหมอกควัน และทรายอะเบทโรยลงในน้ำ แต่ก็ไม่สามารถตัดวงจรอุบาทว์นี้ลงได้ สุดท้ายในปี 2546 ทีม อสม.จึงปรึกษากับ ผอ.รพ.สต.กุดฝั่งแดง พร้อมตั้งกฎชุมชนขึ้นมา 6 ข้อ ประกอบด้วย

  1. เจ้าของหลังคาเรือนต้องกำจัดลูกน้ำยุงลายด้วยตนเอง
  2. เจ้าของหลังคาเรือนต้องเปลี่ยนน้ำทุก 7 วัน
  3. เจ้าของหลังคาเรือนต้องอำนวยความสะดวกให้แก่ อสม. ที่จะมาตรวจทุกวันศุกร์ และคณะผู้ตรวจการ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้นำชุมชน ประธาน อสม. เจ้าหน้าที่สาธารณสุข สุ่มตรวจเป็นประจำทุกเดือน
  4. ถ้าหลังไหนตรวจพบลูกน้ำยุงลายต้องเสียค่าปรับ 20 บาท แต่ถ้าเป็นบ้านของผู้นำ เช่น ข้าราชการ ผู้ใหญ่บ้าน หรือ อสม. ปรับหนัก 50 บาท
  5. ถ้าหลังไหนตรวจพบลูกน้ำยุงลาย จะมีการประกาศผ่านเสียงตามสาย เพื่อเป็นการบอกกล่าวประชาชนว่าพื้นที่นี้ยังไม่ปลอดภัย
  6. ถ้าเจ้าของหลังคาเรือนใดทำปฏิกิริยาไม่ดี เช่น ส่อเสียด ดูถูกผู้ที่มาตรวจสอบ อสม.มีสิทธิ์เสนอชื่อเจ้าของหลังคาเรือนให้นายอำเภอรับทราบ

หลังจากร่างกฎนี้แล้ว ก็นำไปถามในที่ประชุมประชาคมว่าเห็นด้วยไหม ปรากฏว่าทุกคนเห็นด้วยและดำเนินการตามอย่างเคร่งครัด ปรากฏว่าไข้เลือดออกหยุดระบาดทันที และเป็นอย่างนี้ต่อเนื่องมาอีก 9 ปี จนปี 2556 ที่ทีม อสม.อาจจะเผอเรอไปบ้าง ไข้เลือดออกจึงกลับมา ต้องกลับไปใช้วิธีพ่นหมอกควัน ทรายอะเบท หมดเงินไปเกือบแสนบาท ทางกลุ่มจึงทำประชาคมกันใหม่ว่าจะนำกฎชุมชนนี้มาบังคับใช้จริงจังอีกครั้ง ซึ่งประชาชนในพื้นที่ต่างยกมือสนับสนุนด้วยคะแนนเอกฉันท์ เพื่อทำให้บ้านคำกั้งกลับมาเป็นหมู่บ้านที่ปราศจากโรคไข้เลือดออกอีกครั้งหนึ่ง…

04-01resized