อย่าได้แปลกใจที่วันนี้คนไทยกำลังสร้างพลังประวัติศาสตร์ให้นายทุนข้าวได้เห็น ด้วยการออกมาหนุนช่วย “ชาวนา” ทุกทางเท่าที่ทำได้ เพื่อให้ชาวนายังอยู่รอดสู้กลไกตลาดทุนที่บิดเบี้ยวมาหลายสิบปี ภายใต้แนวคิดช่วยชาวนา “สร้างแบรนด์ข้าวบรรจุถุง” ที่ดังกระฉ่อนเมือง
ข้าวคุณภาพดี ผลิตใหม่ๆจากแปลงนา ผลิตผลจากแรงใจของชาวนา กำลังถูกทยอยสั่งจองมีออร์เดอร์ล่วงหน้าผ่านระบบออนไลน์มากมาย และนี่คือกำลังแรงส่งครั้งใหญ่ในเชิงรุก ทั้งในเชิงธุรกิจชุมชน และเชิงสัญลักษณ์ว่าคนเมืองเข้าใจความเจ็บปวดของชาวนาไทยเป็นอย่างดี
ไม่ต่างกับกับที่ศูนย์ข้าวชุมชน บ้านม่วงตลาด หมู่ที่ 2 ตำบลคอรุม อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ หนึ่งในตำบลศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชน สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2545 เป็นเวลา 14 ปี ที่เกิดจากการรวมกลุ่มกันของเกษตรกรที่เห็นถึงปัญหาราคาข้าวและกลไกตลาดที่ยิ่งทำ ยิ่งขาดทุน เมื่อทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน คือต้องการออกจากวังวนปัญหาราคาข้าว และการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก จึงหันมาร่วมกันผลิตข้าวที่ได้คุณภาพ และปลอดสารเคมี พัฒนาระบบการผลิต และสร้างมูลค่าทางการตลาดเพิ่ม
เกิดเป็นศูนย์ข้าวชุมชนมีกิจกรรมหลักอยู่ 2 กิจกรรม อย่างแรกคือ การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว (พิษณุโลก 2) ซึ่งได้ทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับ ธ.ก.ส. และ สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) ผลิตข้าวที่ได้รับรองมาตรฐาน GAP (มาตรฐานอาหารปลอดภัย) และอยู่ระหว่างการพัฒนามาตรฐานเป็น ‘ออร์แกนิคไทย’ (มาตรฐานเกษตรอินทรีย์)
อย่างที่สองคือ การผลิตข้าวครบวงจร (แบรนด์เพชรคอรุม) ปลูกข้าวพันธุต่างๆ ได้แก่ “ข้าวหอมนิล ข้าวไรซ์เบอรรี่ ข้าวสินเหล็ก และข้าวหอมมะลิแดง” ซึ่งข้าวต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นข้าวอินทรีย์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เป็นที่ต้องการของตลาด ผลสำเร็จคือทำให้มีผู้สนใจซื้อจำนวนมาก
รวมถึงมีกลุ่มสมาชิกที่ต้องการเพิ่มปริมาณผลผลิตเพราะผลผลิตได้ราคาดี นอกจากนี้ศูนย์ข้าวชุมชนยังทำการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ โดยเป็นการผลิตเพื่อใช้ในกลุ่ม และเป็นการผลิตเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเครือข่าย ทั้งยังมีการทำการหมัก / หัวเชื้อ(สรสิงนาโน) ซึ่งเป็นวิวัฒนาการใหม่ในการผลิตข้าวครบวงจร เพราะช่วยให้ข้าวนุ่ม น่ารับประทาน เมล็ดข้าวสวยเงางาม และในส่วนของขั้นตอนสุดท้ายคือการแปรรูป ศูนย์ข้าวชุมชนยังได้จัดทำกระบวนการดูแล และแปรรูปผลิตภัณฑ์ ตลอดจนทำบรรจุภัณฑ์ ทั้งหมดนี้ นับเป็นการผลิตข้าวแบบครบวงจร มีการจดลิขสิทธิ์เรียบร้อยโดย อัษฎางค์ สีหาราช ผู้ใหญ่บ้านคอรุม หมู่ 2 เป็นผู้จดทะเบียนภายใต้โลโก้ “เพชรคอรุม” ซึ่งนี่ถือเป็นความไม่ธรรมดา สำหรับแบรนด์ข้าว “เพชรคอรุม” ที่สร้างแบรนด์ข้าวชุมชนมานานกว่า 14 ปีจนถึงวันนี้
ผู้ใหญ่ อัษฎางค์ เปิดใจว่าวันนี้ ปี 2559 ผลิตภัณฑ์ข้าวภายใต้แบรนด์เพชรคอรุมถือว่ามีผลสำเร็จเกินคาด สมาชิกกลุ่ม 24 คน พื้นที่ 270 ไร่ มีรายได้รวมกันขายได้ปีละ 150 ตัน (ตันละ 50,000 บาท) ข้าวแบรนด์เพชรคอรุม บรรจุด้วยแพกเกจสุญญากาศอย่างดี ขายส่งคือกิโลกรัมละ 50 บาท และราคาขายปลีกกิโลกรัมละ 70 บาท ลูกค้ามี 2 กลุ่มหลักๆ คือ กลุ่มที่รับไปขายต่อ และอีกกลุ่มคือลูกค้าออนไลน์ สั่งซื้อทางเฟซบุ๊กแฟนเพจชื่อ “ข้าวอินทรีย์เพชรคอรุม” ซึ่งนับวันจำนวนออร์เดอร์สั่งซื้อทางออนไลน์ยิ่งเพิ่มขึ้น
“ ชีวิตวันนี้ยึดหลักตามรอยพ่อหลวง พึ่งตนเอง ลดการใช้จ่าย และยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ศึกษาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง จากการที่ได้ไปเรียนรู้กับปราชญ์ชาวบ้านเมื่อปี 2540 หลายคน ตอนนั้นผมเองก็เจ็บหนักเพราะทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างมาก่อน ฟื้นชีวิตและมีวันนี้ด้วยก็ด้วยแนวคิดของพ่อหลวงจริงๆ อยากให้คนไทยศึกษาและยึดหลักที่พระองค์ท่านได้ทรงมอบให้คนไทยไว้” ผู้ใหญ่อัษฎางค์ เล่าด้วยความภาคภูมิใจ
เช่นเดียวกับที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านคลองกล้วย หมู่ 8 ก็ยังคิดครบจบในที่เดียวเหมือนกัน ทั้งโรงสีข้าวชุมชน ผลิตข้าวบรรจุข้าวให้แก่คนในและนอกพื้นที่ รวมถึงการบริการรถดำนาชุมชนให้เช่า ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดรายจ่ายแล้ว ยังสร้างความสามัคคีในชุมชนอีกด้วย รวมทั้งมีการกลุ่มเมล็ดพันธุ์ข้าว และ กลุ่มเกษตรอินทรีย์ชีวภาพที่ครบวงจร
ศูนย์ข้าวชุมชนที่อุตรดิตถ์ได้พิสูจน์วิถีแห่งการพึ่งพาตนเองของเกษตรกรได้อย่างกล้าหาญ เกษตรกรที่นี่มีรายได้จากการจำหน่ายข้าวในราคาที่ดีกว่าทั่วไป อีกทั้งเกิดการการเรียนรู้ภายในชุมชน มีการฝึกปฏิบัติกระบวนการผลิตขาวอินทรีย์ เช่น การคัดเมล็ดพันธุ์ การปลูก การดูแลเกษตรกรและผู้บริโภคในพื้นที่ยังมีสุขภาพที่ดีขึน จากการลด เลิก การใช้สารเคมี
“ความเข้มแข็งของชุมชน” และ “การคิดอย่างครบวงจร” คือหัวใจฐานรากความคิดที่เกษตรกรไทยกลุ่ม“เพชรคอรุม” ใช้ และแน่นอนว่าเป็นชุดความคิดสำคัญในชุมชนอีกหลายแห่งที่สามารถสร้างวิสาหกิจชุมชนให้แข็งแรงมีกำไรหล่อเลี้ยงตัวเองได้อย่างยั่งยืน
—————————–