นวัตกรรมภูมิปัญญาแก้ปัญหาชาวนาแล้งน้ำ

บุญมาตลอดเวลาที่ผ่านมา ในสังคมกสิกรรมของไทย เกษตรกรเป็นเหมือนดั่งกระดูกสันหลังของชาติที่ช่วยขับเคลื่อนในการพัฒนาให้เกิดขึ้น โดยมีการจัดงานวันเกษตรกรแห่งชาติขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปี โดยเริ่มมาตั้งแต่ช่วง พ.ศ.2453 ถึง พ.ศ.2454 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนับสนุน และเป็นผู้ริเริ่มการจัดงานการแสดงกสิกรรมและพาณิชการ ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น งานเกษตรแห่งชาติ อย่างที่เรียกกันในปัจจุบัน

ความท้าทายของเกษตรกรไทยของวันนี้ ยิ่งมีมากขึ้นตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ การสืบทอดของคนรุ่นใหม่ หรือแม้แต่เรื่องของภูมิอากาศซึ่งถือเป็นตัวแปรสำคัญในการดำรงชีวิตเกษตรกรไทยในวันนี้อย่างยิ่ง โดยเฉพาะในวันที่ภาวะโลกร้อนได้ส่งผลกระทบชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับประเทศไทยที่เผชิญภัยแล้งต่อเนื่องมาราว 3 ปีติดต่อกัน ในปี 2559 นั้นนับเป็นวิกฤติภัยแล้งครั้งรุนแรงและหนักที่สุดในรอบ 20 ปี จะเห็นได้ว่า ปริมาณน้ำต้นทุนที่ใช้การได้ใน 4 เขื่อนหลักของไทยในช่วงฤดูแล้งในปี 2559 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558 ถึงเมษายน 2559 อยู่ที่ 4,247 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นระดับน้ำที่ไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร ส่งผลต่อพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังที่ต้องปรับลดลงกว่า 2.4 ล้านไร่

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ผลจากภัยแล้งทำให้มูลค่าความเสียหายต่อภาคเกษตรโดยเป็นความเสียหายต่อพืชเศรษฐกิจหลัก 3 รายการคือ ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง และอ้อย ทำให้รายได้เกษตรกรในปี 2559 หายไปราว 64,161 ล้านบาท

แปลงผักโดยชาวนาถือเป็นเกษตรกรที่ประสบปัญหาหนักที่สุดไม่เว้นแม้แต่ในพื้นที่เขตชลประทาน ในลุ่มแม่นํ้าเจ้าพระยากว่า 20 จังหวัด ซึ่งเป็นอู่ข้าวอู่นํ้าของประเทศ

การจัดการน้ำในพื้นที่ทำการเกษตรจึงถือเป็นโจทย์สำคัญสำหรับเกษตรกรอย่างยิ่ง

ต.ศรีณรงค์ อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ ศูนย์จัดการเครือข่าย ตำบลสุขภาวะ สนับสนุนโดยสำนักสุขภาวะชุมชน สสส.  เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่เป็นตัวอย่างการจัดการน้ำ โดยการนำแนวความคิดนวัตกรรมผันน้ำเข้านาด้วยภูมิปัญญาบรรพบุรุษไปใช้ในชุมชนอย่างแพร่หลายเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ รวมทั้งเจ้าของนายังสามารถบริหารจัดการน้ำในแปลงนาตัวเองได้อีกด้วย

อย่างครอบครัวของ บุญมา จันทรบุตร รองนายก อบต.ศรีณรงค์ หมู่ 7 บ้านยางชุมใต้ ที่ยึดอาชีพทำนามาตั้งแต่บรรพบุรุษ เขามีที่นา และที่สวนรวมกันทั้งสิ้น 14 ไร่ แบ่งเป็น 3 แปลง ซึ่งแต่ละแปลงนั้นตั้งอยู่ห่างกัน ทำให้เขาสามารถทำนาได้เพียงปีละครั้งเท่านั้น

“เมื่อก่อนผมจะใช้คันดินทำเป็นคลองลำเลียงน้ำที่ยังที่นา แต่ก็ต้องคอยหมั่นตรวจสภาพคลองดินอยู่ตลอดเพราะมักจะโดนน้ำเซาะพังอยู่เสมอ”

ด้วยความไม่แข็งแรงของคลองส่งน้ำ รวมทั้งความสิ้นเปลืองของปริมาณน้ำที่ใช้ในการทำนาแต่ละครั้ง เขาจึงเริ่มคิดถึงการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพที่สุด โดยทำเป็นท่อส่งน้ำจากสระน้ำเพื่อเดินไปยังแปลงนาโดยตั้งระดับน้ำที่ต้องการเอาไว้เพื่อเป็นการผันน้ำที่เกินใช้ลงไปสู่หนองน้ำสาธารณะต่อไป

“หลังจากทดลองก็พบว่า เราสามารถใช้น้ำ 1 แปลงทำนาได้ทั้ง 3 แปลง แล้วก็ไม่ต้องกังวลว่าน้ำจะท่วมนาเวลามีน้ำล้นจากสระช่วงหน้าฝนด้วย” เขาเล่าถึงผลที่ได้รับ

รวงข้าว ผลลัพธ์จากนวัตกรรมภูมิปัญญาบรรพบุรุษทำให้ครอบครัวของเขามีรายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากไม่มีปัญหาเรื่องน้ำในการทำการเกษตร ยิ่งไปกว่านั้นเขายังนำเอาแนวคิดเรื่องเกษตรอินทรีย์เข้ามาใช้ด้วยการลดการใช้ปุ๋ยเคมีลง ทำให้ผลตอบแทนจากนาข้าวมีเพิ่มขึ้น และสามารถทำเมล็ดพันธุ์ข้าวขายสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนั้นจากที่เคยทำนาได้เพียงปีละครั้ง เขาสามารถทำนาได้เพิ่มขึ้นเป็น 2 ครั้งต่อปี โดยไม่ต้องรอน้ำฝนจากธรรมชาติ

“เราอยู่กับนามาตั้งแต่เด็กๆ ก็อาศัยการสังเกต มาผสมผสานความรู้ในการทำนา แล้วก็คิดถึงผลที่เราอยากจะได้ก็คือน้ำ ก็เลยกลายเป็นวิธีทดลองจนเกิดเป็นนวัตกรรมตัวนี้ขึ้นมา”

วันนี้ การสังเกต และเรียนรู้เพื่อนำไปปรับใช้ในสภาพพื้นที่จริง ดูจะเป็นตัวช่วย และทางเลือกสำหรับเกษตรกรในวันที่ความท้าทายมารายล้อมอยู่รอบตัวได้อย่างดีที่สุดนั่นเอง.-