เปลี่ยนภาระเป็นพลัง สูงวัยสร้างเมือง

” ผู้สูงอายุสมัยนี้จะให้กินอะไรก็ได้ ให้อยู่ยังไงก็ได้ ไม่ใช่ทางออกของสังคมไทยอีกต่อไป เพราะถ้าคนสูงอายุป่วยขึ้นมา คนวัยทำงานจะลำบากไปด้วย ดังนั้นไม่ใช่อะไรก็ได้ ” 

ธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ ระบุว่าจากสภาพแวดล้อมสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปของสังคมไทยในปัจจุบัน มีส่วนผลักดันให้ผู้สูงอายุลดภาระพึ่งพิงจากลูกหลานอยู่แล้ว สังเกตว่าปัจจุบันผู้สูงวัยหลายรายมีการทำงานในวัยเกษียณและพยายามแสดงตัวให้ลูกหลานเห็นว่ามีศักยภาพในการพัฒนาตนเองซึ่งเมื่อคนสูงวัยเหล่านี้มีความตั้งใจจริงในการทำงานและทำตัวให้มีคุณค่า ก็แสดงว่าผู้สูงอายุมีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้นจะเรียกผู้สูงอายุว่าเป็นภาระสังคมก็ไม่ได้ เพราะพวกเขามีส่วนสร้างสังคมยกเว้นคนที่ป่วย นอนติดเตียงหรือมีภาวะพึ่งพิงจริงๆเท่านั้น  แต่ในส่วนของคนสูงวัยที่มีกำลังมีแรงและพึ่งพาตนเองได้ คนรุ่นใหม่ก็ควรจะไปสนับสนุนและส่งเสริม  แต่กรณีคนสูงวัยที่พึ่งพาตนเองไม่ได้ จำเป็นต้องอาศัยคนรอบข้างไปช่วยดูแลและคนรอบข้างที่กล่าวมาไม่ใช่ใครที่ไหนแต่เป็นคนในชุมชน เพราะชุมชนรู้จักสมาชิกชุมชนดีกว่ารัฐส่วนกลาง

จากรายงานการวิจัยและวิเคราะห์สถานการณ์ผู้สูงอายุของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทยระบุว่า ประเด็นประชากรเป็นประเด็นที่ชาติต่างๆ ในโลกพูดถึงกันมากในสหัสวรรษที่ 2000 เนื่องจากอัตราการเกิด ของประชากรทั่วโลกได้ลดต่ำลง ในขณะที่ผู้คนมีอายุยืนยาวขึ้น การสูงวัยของประชากรย่อมมีผลอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละประเทศ ในปี 2558 ประชากรโลกมี 7,349 ล้านคน ในจำนวนนี้มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปประมาณ 901 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 12 ของประชากรทั้งหมด ส่วนทวีปเอเชียซึ่งมีประชากรราว 1 ใน 3 ของประชากรโลก มีประชากรสูงอายุประมาณ 508 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 56 ของประชากรสูงอายุทั้งโลก

ขณะที่นางสาวดวงพร   เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3 ) สสส. ระบุถึงสถานการณ์ผู้สูงอายุในปัจจุบันของประเทศไทยว่า ในปี 2558 ประชากรไทยมีจำนวนราว 65.1 ล้าน มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป 11 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 16 ของประชากรทั้งหมด อีกทั้งการคาดประมาณประชากรของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุด้วยว่าประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2564 และจะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอดในปี 2574 ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นสังคมไทยต้องวางแผนรับมือให้ได้ แต่ต้องเตรียมรับมือตั้งแต่ตอนนี้

“หากแบ่งเป็นภาคที่ภาคเหนือถือว่ามีประชากรสูงวัยจำนวนมากที่สุดมีอยู่เกือบร้อยละ 22 ภาคอีสานหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีประมาณเกือบร้อยละ 17 ภาคกลางมีราวร้อยละ 20 และภาคใต้มีราวร้อยละ 16 ซึ่งที่ผ่านมารัฐจะต้องมีการจัดสวัสดิการและคอยดูแลคนกลุ่มนี้อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสุขภาพเนื่องจากใน 100 คนของผู้สูงอายุไทยพบว่าร้อยละ 20 มีปัญหาเรื่องความดันสูงและมีปัญหาสุขภาพด้านอื่นแทรกซ้อนด้วย ดังนั้นในการจัดการรับมือกับผู้สูงวัยเราจึงจำเป็นต้องมีการช่วยเหลือและร่วมมือกัน ทุกภาคส่วนแต่ส่วนของท้องถิ่นจะต้องรับมืออย่างใกล้ชิดที่สุดโดยจะต้องดำเนินการสร้างเสริมสุขภาพให้ประชาชนผู้สูงวัยมีศักยภาพในการดำรงชีวิตอยู่พึ่งพาตนเองได้” นางดวงพร กล่าว

ดังนั้นในการประชุมเชิงปฏิบัติการมุ่งสู่สูงวัยสร้างเมืองและลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมมือ (MOU ระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) 60 แห่ง ศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน(ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และศูนย์สนับสนุนวิชาการเพื่อการจัดการเครือข่าย(ศวภ.) ได้ร่วมกันพัฒนาศูนย์เรียนรู้การพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ตามแนวทางการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุโดยชุมชนท้องถิ่นประกอบด้วย  6 ประการ ได้แก่ 1. การพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุและผู้ที่เกี่ยวข้อง 2.การปรับสภาพแวดล้อม ให้เอื้อต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ 3.การพัฒนาระบบบริการในการดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุ 4.การจัดตั้งกองทุนและจัดให้มีสวัดิการในการดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุ 5.การพัฒนาระบบข้อมูลและการใช้ข้อมูลเพื่อดูแลผู้สูงอายุ 6.การพัฒนากติกา ระเบียบแนวปฏิบัติเพื่อหนุนเสริมการดำเนินกิจกรรมเสริมความเข้มแข็ง ชุมชนท้องถิ่น

ทั้งนี้ในการออกแบบและพัฒนาให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีและเอื้อต่อการดำรงชีวิตที่ยืนนาน จึงกำหนดเป็น 10 กลยุทธ์หลัก “5อ. และ 5ก.”เพื่อดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม 5อ.ประกอบด้วย  1.การส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ 2.อาหารสำหรับผู้สูงอายุ 3.การส่งเสริมการออกกำลังกายผู้สูงอายุ 4.การออมเพื่อผู้สูงอายุ และ5.ฝึกอบรมอาสาสมัครและอาสาสมัครเยี่ยมบ้านส่วน 5 ก.หมายถึง 5 กลไก ประกอบด้วย 1.การป้องกันและลดอุบัติเหตุในผู้สูงอายุ  2 การตั้งและพัฒนาโรงเรียนผู้สูงอายุ 3.การพัฒนาชมรมผู้สูงอายุ 4.การดูแลต่อเนื่องที่บ้าน 5. การบริการกายอุปกรณ์ หรือการมีศูนย์อุปกรณ์ช่วยเหลือและฟื้นฟูสุขภาพของผู้สูงอายุ ซึ่งจะเป็นกลไกให้หน่วยงานในพื้นที่เป็นกลไกและมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนที่สำคัญ

ตัวอย่างการดำเนินงานของชุมชนท้องถิ่น เปลี่ยนภาระเป็นพลัง สูงวัยสร้างเมือง

“อาสาอยู่เคียง แม่สะเรียงอยู่สุข” สโลแกนเด่นประจำเทศบาลตำบลแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยนายธนาพล ศิริกุลปิยรัตน์ รองปลัดเทศบาลตำบลแม่สะเรียง บอกเล่าว่า ทางเทศบาลได้ยึดถือและนำเอาสโลแกนนี้มาคอยเป็นแรงผลักดันการพัฒนาชุมชนสร้างสุขสูงวัยสร้างเมือง เพื่อให้คนในชุมชนและผู้สูงอายุอยู่ร่วมกันอย่างอาสาขันแข็ง พร้อมพบความสุขทุกครัวเรือนในเทศบาลตำบลแม่สะเรียง

ซึ่งหลังจากที่หลายพื้นที่ชุมชนต่างก็เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับยุคสังคมผู้สูงอายุ ในพื้นที่ตำบลแม่สะเรียงก็เป็นอีกหนึ่งตำบลที่มีจำนวนประชากรทั้งหมดเป็นผู้สูงอายุมากถึง 1 ใน 4 ดังนั้นทางเทศบาลจึงได้มีการจัดทำวิจัยชุมชนเพื่อรวบรวมข้อมูลและจัดทำเป็นแผนพัฒนาชุมชนเพื่อผู้สูงอายุในด้านต่าง ๆ จนได้เข้ามาเป็นหนึ่งในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่และนำเอาหลัก 5 อ. มาพัฒนาให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชน

“เราได้นำเอาหลัก 5 อ. มาพัฒนาแต่สิ่งหนึ่งที่เรามีความโดดเด่นมากเลยนั่นคือในเรื่องของการอาสา ซึ่งเรามุ่งเน้นการอาสาแบบ 4 มิติ คือ กาย จิต สังคมและปัญญา โดยเรามีการร่วมมือระหว่างเทศบาล ชุมชน อสม. และ ผู้ดูแลผู้สูงอายุ ที่เข้ามาเป็นจิตอาสาเพื่อไปดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ซึ่งเข้าไปดูแลในเรื่องของการอาสาเยี่ยมบ้านเพื่อให้ความรู้ การอาสาบริการรับส่งผู้สูงอายุในสภาวะฉุกเฉินและในสภาวะปกติ เช่น การอำนวยความสะดวกเพื่อนำพาผู้สูงอายุมาเข้าร่วมกิจกรรม และสุดท้ายคือการอาสาปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้ผู้สูงอายุ อาทิ การจัดสรรพื้นที่สาธารณะให้เกิดประโยชน์โดยนำเครื่องออกกำลังกายมาบริการแก่ผู้สูงอายุ ซึ่งก็ได้จัดทีม อสม. เข้ามาให้ความรู้ในเรื่องของการออกกำลังกายอย่างไรให้ถูกวิธีเหมาะสมกับช่วงวัยของผู้สูงอายุ”

ทั้งนี้หลังจากเทศบาลตำบลแม่สะเรียงได้ดำเนินงานตามหลัก 5 อ. ก็ทำให้ได้เห็นการทำงานตามนโยบายในภาพรวม ซึ่งสามารถวิเคราะห์จุดเด่นและจุดด้อยของการพัฒนาระบบผู้สูงอายุในด้านต่าง ๆ ของเทศบาลพร้อมหยิบนำเอาจุดเด่นมาพัฒนาก่อให้เกิดการรู้จักตนเองและนำไปสู่การพัฒนาที่ถูกจุดและต่อเนื่อง

ด้านนายประกิจ เสาร์แก้ว นายก อบต.ตำบลป่าไผ่ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า  การดูแลคนสูงวัยของตำบลป่าไผ่เน้นที่นโยบายคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะเด็กและคนชราต้องได้รับการดูแลก่อน แล้วผู้สูงอายุทางเราก็ให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ เราถือว่าผู้สูงอายุเป็นปูชนียบุคคล  คือ มีไว้เพื่อเคารพ การเคารพของเราคือเคารพแบบส่งเสริมให้เขาดูแลสุขภาพตนเอง กินอาหารดี ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ และออมทรัพย์เพื่อตนเอง ทำตามหลัก 5 อ.ของ สสส.เลย คือ อาหาร อาชีพ ออกกำลังกาย ออมทรัพย์ และอาสาสมัคร

“ต้องบอกเขาว่าให้ช่วยตัวเองให้ได้ ถ้าช่วยตัวเองได้จะช่วยผ่อนแรงลูกหลาน   เทศบาลเรามีแบบกึ่งเมือง กึ่งชนบท เราก็ต้องพัฒนาความเข้าใจแล้ว เราต้องให้พวกเขารู้จักความแก่อย่างมีคุณค่า ชราอย่างมีศักดิ์ศรี เราจึงใช้โรงเรียน สูงอายุ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ แแล้วให้มีอาชีพที่ดี มั่นคง แต่ต้องไม่หนักเพราะบางทีเราต้องเข้าใจว่าคนแก่เขาคุ้นชินกับงานเดิมของเขา เช่น คนทำเกษตรกรรมก็ทำมานานแล้ว ก็สานต่อเลยเราตั้งตำบลเป็นสัมมาชีพซึ่งทำทั้งจังหวัด ที่เชียงใหม่มี 25 อำเภอต้องทำเช่นเดียวกัน ”

เทศบาลตำบลป่าไผ่เน้นที่การทำเศรษฐกิจพอเพียง ตามรอยพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9   พอเราส่งเสริมอาชีพ ส่งเสริมความพอเพียง คือ คนสูงวัยเขาปลูกผักขายเอง มีตลาดในชุมชน และผักที่ปลูกก็ปลอดสารเมื่อนำไปบริโภคคนก็จะปลอดภัย และมีสุขภาพดีแถมยังส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนด้วย เรียกว่าส่งเสริมสุขภาพด้วย ส่งเสริมความสุขด้วย เรียกกันว่าทำโรงเรียนสูงอายุทีได้สองแสน แสนที่หนึ่งแสนสุข คือ สุขกับสิ่งที่ทำ  สนุกกับงาน แสนที่สอง แสนจะปลอดภัย ผักสะอาดนำมาปรุงอาหารคนกินก็อุ่นใจ ปลอดภัย ปลอดโรค เพราะยากำจัดแมลงและปุ๋ยชาวบ้านที่เป็นผู้สูงอายุก็ทำกันเองจึงเชื่อมั่นได้ว่าสินค้าทางการเกษตรที่ซื้อไปจากกลุ่มอาชีพผู้สูงอายุมีความปลอดภัยสูงและเป็นสิ่งที่เทศบาล ตำบล ชุมชน ควรให้การสนับสนุน

“แรกๆที่เปิดโรงเรียน เราพยายามประชาสัมพันธ์ซึ่งบางคนก็บ่นว่าตอนเรียนในวัยเด็กยังไม่อยากจะเรียนเลยทำไมต้องมาเรียนตอนแก่เล็กแรกก็ท้อแต่ก็ไม่ได้หยุดทำพยายามจัดตั้งต่อไปโดยพยายามใช้ระบบแกนนำหรือตัวอย่างของผู้สูงอายุเข้ามาลองศึกษาดู คนอื่นก็ตามมาทีหลัง มันเกิดการบอกต่อระหว่างกันแล้วสุดท้ายโรงเรียนผู้สูงอายุก็มีความโดดเด่นด้านอาชีพ” นายประกิจกล่าว